บล.หยวนต้า เปิด 4 เหตุผลที่ราคาทองคำในอีก 1 เดือนจะหมดแรง สู่ 1,850-1,800 เหรียญ แนะ Short Hedge แล้วรอซื้อกลับ ลุ้นราคาดีดอีกรอบ ก่อนเข้าสู่ขาลงอย่างเป็นทางการหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองโลก รวมไปถึงราคาทองในประเทศไทยดีดตัวขึ้นสูงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 29-30 ก.ค. ราคาทองคำแท่ง และรูปพรรณ เพิ่มขึ้นไปใกล้แตะระดับ 30,000 บาท ก่อนที่ราคาจะปรับลงจากการขายทำกำไรระยะสั้น อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของราคาทองคำในช่วงนี้ คาดการณ์กันว่าจะมีการเทขายออกมาเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ถือว่าราคาทองคำในประเทศเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาทองปรับเพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติมท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และสถานการณ์ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการระบาดโควิด-19 และกรณีการเมืองระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ราคาทองคำโลก Gold Spot ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,952.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกว่า 9 ปีก่อน หรือช่วงปี 2011 ที่ราคาทองคำโลกอยู่ที่ 1,927 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ครั้งนั้นราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ QE (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ
หยวนต้า มองราคาทองคำ 1 เดือนจะหมดแรง อยู่ที่ 1,850-1,800 เหรียญ
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ YAUNTA เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์รายวันว่า แนวโน้มราคาทองคำช่วง 1 เดือนข้างหน้า ราคาทองคำจะพักตัวหา 1,850-1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ จาก 4 เหตุผลดังนี้
(1) อุปทานจากเศษทองเก่าจะเร่งตัวขึ้น จากการนำทองคำที่เก็บไว้ออกมาขายทำกำไร ทำให้โครงสร้างตลาด Q3/63 ยังมีโอกาสเป็นอุปทานส่วนเกินต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 หลังจาก World Gold Council รายงานโครงสร้างตลาดทองคำ Q2/63 เป็นอุปทานส่วนเกินต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ถึง 72 ตัน
(2) Dollar Index และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการเร่งออกพันธบัตรของคองเกรสเพื่อระดมเงินมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลลบต่อราคาทองคำตามหลักความเสมอภาคของค่าเงิน
(3) ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่ได้เร่งขึ้นเหมือนช่วงก่อนหน้า สังเกตจากขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เริ่มลดลง ส่งผลให้กระแสเงินส่วนเกิน (Excess Fund Flow) ที่เป็นตัวเปิด Upside ให้แก่ราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสชะลอตัวชั่วคราว
(4) ผลตอบแทน YTD สูงถึง 30% ใกล้เคียงผลตอบแทนสูงสุดรายปีในอดีตที่ 31% แต่ถ้านับที่จุดสูงสุดของแต่ละปี ราคาทองคำสามารถขึ้นแรงได้ถึง 41% YTD นั่นหมายถึง ราคาทองคำยังมีโอกาสกระชากทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง ถ้าจังหวะการพักฐานยังไม่หลุดจุดเปลี่ยนแนวโน้มแถว 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์
แนะนำลงทุน Short Hedge แล้วรอซื้อกลับ
ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ Short Hedge แล้วรอซื้อกลับที่ 1,800-1,850 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยเรายังคาดหวังราคาทองคำจะกลับทำจุดสูงสุดใหม่แถว 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากพักฐานรอบนี้แล้ว ก่อนจะไปจบรอบขาขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสหรัฐฯ เลือกตั้งในช่วง พ.ย.-ธ.ค.63
ล่าสุด World Gold Council รายงานโครงสร้างตลาดทองคำ Q2/63 เป็นอุปทานส่วนเกินต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 อีก 72 ตัน โดยอุปสงค์รวมอยู่ที่ 1,034 ตัน -15% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่ลดลงมากคือความต้องการเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ -58% YoY เหลือ 264 ตัน และแรงซื้อจากธนาคารกลาง -50% YoY เหลือ 115 ตัน
ขณะที่ความต้องการเพื่อการลงทุนผ่าน ETF +471% YoY เป็น 434 ตัน เพราะฐานปีก่อนต่ำผิดปกติ และได้แรงหนุนจากดอลลาร์อ่อนค่า ผนวกกับการใช้ทองคำเป็น Safe Haven เพื่อป้องกันความเสี่ยงช่วงวิกฤตโควิด-19
หากพิจารณาเป็นรายประเทศ ความต้องการทองคำจากอินเดีย -70% YoY เหลือ 64 ตัน และจีน -29% YoY เหลือ 132 ตัน ประเทศที่ซื้อเพิ่มคือ สหรัฐฯ +3% YoY อยู่ที่ 33 ตัน และเยอรมนี +140% YoY อยู่ที่ 45 ตัน ส่วนอุปทานรวมอยู่ที่ 1,034 ตัน -15% YoY เพราะปริมาณทองคำออกมาจากเหมืองลดลง -10% YoY เหลือ 777 ตัน เนื่องจากมีการ Lockdown ปิดเหมืองในหลายประเทศ
โกลเบล็ก เตือนราคาอาจปรับแรงมาที่ 1,500-1,600 ดอลล์/ออนซ์
ทั้งนี้ บล.โกลเบล็ก คาดว่าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปและความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ สิ้นสุดลง จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วเหมือนครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าการปรับฐานแรงและเร็วนี้อาจทำให้ราคาทองคำลดลงมาอยู่ที่ 1,750-1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ถ้าการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับฐานแรงลงมาที่ 1,500-1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาทองยังผันผวนเพราะมีโอกาสทั้งการเพิ่มขึ้นและลดลง โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อความต้องการซื้อขายทองคำ