xs
xsm
sm
md
lg

“ทองคำ” 3 หมื่นอาจแค่ทางผ่าน ตลาดเริ่มฝันไกลถึง 3 พันเหรียญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทองคำ” พุ่งไม่หยุดจ่อแตะบาทละ 3 หมื่นบาทและขยับตัวไปต่อ จากผลกระทบโควิด-19 กดดันความเชื่อมั่นนักลงทุนหันมาให้น้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่องจากการใช้เม็ดเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่มีท่าทีฟื้นตัว ทำให้หลายฝ่ายคาดอาจเห็นราคาทองคำแตะ 3,000 เหรียญ/ออนซ์ในอีก 2 ปี หรือต้องใช้เงินถึง 44,000 บาทเพื่อซื้อทองคำน้ำหนัก 1 บาทเมื่อทุกประเทศต้องอัดฉีดเม็ดเงิน 

โอกาสที่จะได้เห็นราคาทองคำในประเทศแตะระดับ 30,000 บาทต่อทองคำ 96.50% ที่น้ำหนัก 1 บาท น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หากพิจารณาจากราคาซื้อขายปัจจุบันที่ระดับ 29,100 บาท (30 ก.ค. 63) และยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศเพื่อพลิกฟื้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ทำให้กูรูด้านการลงทุนต่างเชื่อมั่นว่าราคาทองคำยังไม่มีท่าทีหยุดนิ่ง

จากข้อมูลพบว่า ราคาทองคำในประเทศ เฉพาะเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 3,200 บาท โดยมีราคาต่ำสุดของเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 26,000 บาท และสูงสุดที่ระดับ 29,300 บาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2563 ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 7,550 บาท โดยมีราคาต่ำสุดที่ระดับ 21,450 บาท และสูงสุด 29,300 บาท ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม

ต้องยอมรับ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนจะเข้าสู่เดือนที่ 8 ของปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศหรือเศรษฐกิจโลกทั้งโลกต้องดำดิ่งแบบไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้เมื่อใด นั่นทำให้ความเสี่ยงต่อการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกดดันให้นักลงทุนเลือกเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ”

นั่นเพราะ “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ Safe Haven คลาสสิกที่สุด เพราะรู้กันดีว่าถ้าเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือเกิดสงคราม ทองคำจะได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปกป้องพอร์ตลงทุนในช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงสูงปรับลดลงได้เป็นอย่างดี โดยแรงส่งที่หนุนให้ราคาทองคำโดดเด่นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความน่าเชื่อถือต่อค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่เสื่อมลง แม้จะเป็นสกุลเงินสากลที่ทั่วโลกใช้จ่าย แต่ต้องไม่ลืมว่าเงินสกุลดอลลาร์ของอเมริกาไม่มีการใช้ทองคำสำรองเป็นหลักประกันเหมือนสกุลเงินสากลในหลายประเทศรวมถึงสกุลเงินบาทของประเทศไทย

ดังนั้น เมื่อความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐลดลง ความสำคัญของทองคำก็เพิ่มขึ้นอย่างสวนทาง จนเริ่มมีหลายฝ่ายเชื่อว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนกลับไปใช้ทองคำเป็นมาตรฐานแทนมูลค่าราคาของสินทรัพย์ต่างๆ และอาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของเงินดอลลาร์ เพราะมีรายงานว่าสถาบันการเงินอย่าง JP Morgan และ Goldman Sachs ยังต้องออกมาแนะนำลูกค้าให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนในทองคำมากขึ้น ก่อนที่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ ขณะเดียวกันมีรายงานว่าดัชนีค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบันปรับตัวลดลงมาต่ำสุดรอบ 4 เดือน พร้อมกับแรงคาดหวังของนักลงทุนที่ต้องการเห็นการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 

หลังจากมีการบรรลุข้อตกลงกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรแตะระดับสูงสุดในรอบหนึ่งปีครึ่ง ขานรับข่าวผู้นำสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจในระหว่างปี 2564-2570 ด้วยงบสูงถึง 1.82 ล้านล้านยูโร หรือกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.75% และส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำเพิ่มขึ้นอีก

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ต่างประเทศเริ่มออกมาคาดการณ์ถึงความร้อนแรงของราคาทองคำหลังพุ่งเกินระดับสูงสุดรอบก่อนที่ 1,923 เหรียญ/ออนซ์ ว่า  สถานการณ์ขณะนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดกำลังแข็งแกร่งมากๆ จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาทองคำอาจขยับตัวขึ้นแตะ 3,000 เหรียญ/ออนซ์ภายใน 2 ปี หรือประมาณ 44,000 บาทต่อ 1 บาททองคำ 96.50% โดยอาจทรงตัวที่ระดับ 2,000 เหรียญ/ออนซ์อีกสักระยะก่อนที่ราคาทองคำจะไต่ระดับเพิ่มขึ้นไปต่อ เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถหาปัจจัยมาหยุดยั้งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำได้ มีแต่ปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนให้ราคาพร้อมสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องมากกว่า โดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากมาตรการการเงินและการคลัง เพราะการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่องในตลาดยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง

ข้อมูลจากสภาทองคำโลกระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมากองทุนอีทีเอฟ (ETFs) ทั่วโลกมีเงินไหลเข้าไปซื้อทองคำเพิ่มขึ้นถึง 39,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กองทุนเพิ่มการถือครองทองคำอีก 27% หรือ 734 ตัน และส่งผลให้กองทุนอีทีเอฟถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3,621 ตัน

ขณะที่ "เอสพีดีอาร์ โกลด์ ทรัสต์" (SPDR Gold Trust) กองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มีการเพิ่มการถือครองทองคำสุทธิ 0.3% เป็น 1,203.97 ตัน และได้มีการซื้อสุทธิต่อเนื่องตลอด 18 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพสะท้อนความคึกคักของนักลงทุนในตลาดทองคำ

ไม่เพียงเท่านี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงอย่างมาก จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์ในประเทศพบว่า “นาวิน อินทรสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด แสดงความเห็นว่า การที่ราคาขายปลีกทองคำภายในประเทศใกล้จะแตะ 30,000 บาท มีแรงสนับสนุนหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผลตอบแทนของดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้ออยู่ในระดับติดลบจากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อมีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลางในหลายประเทศจะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรอบที่ได้ตั้งไว้เดิมในระยะถัดไป

นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยในระยะสั้นคาดว่าราคาจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความต้องการซื้อทองคำเพื่อการบริโภคและการเข้าซื้อของธนาคารกลางจะเริ่มลดลงเมื่อราคาปรับตัวขึ้นมาก ดังนั้นลูกค้าที่ถืออยู่ สามารถถือต่อไปได้ หรือขายทำกำไรหากมีกำไร โดยแนะนำถือทองคำ 5-10% ของพอร์ตเพื่อช่วยในการกระจายความเสี่ยง มากกว่าการเข้าลงทุนในทองคำเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตหรือการเก็งกำไรในระยะสั้น

ด้าน “จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ แสดงความเห็นว่า ราคาทองคำตอนนี้ผันผวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากราคาทองคำในตลาดโลกทำราคาสูงสุด (นิวไฮ) เป็นประวัติการณ์ที่ 1,980 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองแท่งในประเทศทำนิวไฮด้วยเช่นกันที่ 27,100 บาท ดังนั้นเชื่อว่า ราคาทองคำจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ราคาทองคำอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจลงทุน และการลงทุนควรเน้นลงทุนในระยะสั้น ด้วยเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลหรือขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 จึงเทขายการลงทุนจากตลาดหุ้นมาถือครองทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแทน

ทำให้เชื่อว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะยังปรับขึ้นถึงบาทละ 30,000 บาทอย่างแน่นอนเพราะกองทุนจะเทขายเพื่อทำกำไร ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยหากสามารถทำกำไรจากการลงทุนทองคำได้ประมาณร้อยละ 60 ถือว่าเหมาะสมแล้ว

ขณะที่ “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG)  ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาตลาดทองคำกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยผ่านมาครึ่งปีผลตอบแทนจากทองคำปรับตัวขึ้นไปกว่า 16% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนปีที่แล้วทั้งปีอยู่ที่ 10% และถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ จึงเป็นแรงจูงใจของนักลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ผลตอบแทนในรูปของเงินบาทยังให้ผลตอบแทนถึง 20% ซึ่งถือว่าสูงกว่าทองคำในตลาดโลก ดังนั้นนักลงทุนจึงควรหันมาถือทองคำอย่างน้อย 5-10% ไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง โดยในปี 2554 ทองคำขึ้นไประดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ขณะที่ปีนี้ก็มีลุ้นที่ราคาจะไปถึงระดับดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีความพิเศษเพราะเปิดต้นปีมาก็มีปัญหาเรื่องอิหร่าน-สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองเริ่มปรับตัวขึ้นมา แม้ระหว่างทางนักลงทุนจะมีการขายทำกำไรสลับออกมาโดยตลอด ขณะที่บางส่วนมีการขายทองคำออกมาเพื่อนำเงินไปรักษาสภาพคล่องในการลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ แต่หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นมาจนไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ครั้งใหม่ที่ 1,789 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี 8 เดือน

ทำให้ยังคง แนะจับตา 5 ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำ ดังนี้ 1. ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ที่จะกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง 2. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐฯ (เฟด) ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 4. ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐฯ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ และ 5. กองทุนทองคำขนาดใหญ่ SPDR ธนาคารกลางต่างๆ ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น โดยทั้ง 5 ปัจจัยนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ในส่วนของปัจจัยเรื่องโควิด-19 หากสามารถควบคุมการระบาดได้อาจจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ตราบใดที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส ก็จะยังคงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ต่อไป

ด้าน  “ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด มองว่า ภาพรวมตลาดทองคำในช่วงครึ่งหลังปี 2563 แนวโน้มยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของกองทุนซื้อขายทองคำขนาดใหญ่ของโลก (SPDR) รวมทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังอยู่ในอัตราสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกต่างทยอยออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินมาอย่างต่อเนื่อง และยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 ส่งผลให้เกิดความกังวลในการเกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือเงินมีราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง ดังนั้น จึงเชื่อว่าตราบใดที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส และยังไม่มีการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสที่สามารถใช้งานได้จริง ทองคำก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนมีความต้องการสะสมอย่างต่อเนื่องต่อไป

ขณะที่ “พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2563 แตะ 62.51 จุด เพิ่มขึ้น 2.32 จุด หรือ 3.86% เทียบเดือนมิถุนายน ปัจจัยทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือน เดือนกรกฎาคม-กันยายน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2563 จากระดับ 62.11 จุด อยู่ที่ 62.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.72 จุด หรือคิดเป็น 1.16% ซึ่งมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และทิศทางราคาน้ำมัน

และจากข้อมูลข้างต้นสะท้อนได้ว่า สินทรัพย์เสี่ยงมีความเสี่ยงสูงสมชื่อ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยก็ราคาสูงขึ้นมากในปัจจุบัน การลงทุนจากนี้คงต้องอาศัยรูปแบบนิวนอร์มัล นั่นคือ เปลี่ยนรูปแบบในการลงทุน เน้นความปลอดภัยและลงทุนด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย หากเข้าลงทุนผิดจังหวะ ไม่แค่หมดโอกาสทำกำไร อาจขาดทุน ดังคำเตือนทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษารูปแบบการลงทุนให้เข้าใจอย่างชัดเจน 

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG)

จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี  นายกสมาคมค้าทองคำ




กำลังโหลดความคิดเห็น