xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นรอบ 5 เดือน มองเงินบาทแข็งจากส่งออกทองคำ และการนำเงินกลับเข้าประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้า ชี้ดัชนี ฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวในรอบ 5 เดือน หลังทรุดหนักต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 21 ปี 7 เดือน จากสาเหตุหลักที่มาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า จากการส่งออกทองคำและและการนำเงินกลับเข้าประเทศ


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,248 ราย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน อยู่ที่ระดับ 48.2 จากเดิม 47.2 ในเดือนเมษายน และปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เฟส 1-2 ทำให้มีการกลับมาเริ่มต้นเปิดธุรกิจอีกครั้ง ประชาชนมีความผ่อนคลายในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น และ และสามารถเดินทางเข้าไปยังที่ต่างๆ ได้คล่องตัวมากขึ้น


อย่างไรก็ดีเชื่อมั่นว่าหากรัฐยังคงใช้มาตรการบังคับใช้อย่างเข้มข้นอยู่เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ สถานการณ์จะไม่กลับมาเลวร้ายลงไปกว่านี้ เพราะจากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่อย่างไรก็ตาม หากมองด้านสถิติตัวเลขถือว่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือต่ำสุดในรอบ 21 ปี 7 เดือน เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ธุรกิจเกือบทั้งหมด และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลยภายในเดือนมีนาคม–เมษายน ที่ผ่านมา


"การปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นฯ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการหยุดการทรุดตัวลง และสะท้อนออกมาในด้านมีความเชื่อมั่นในทิศทางบวกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์เป็นบวกต่อไป แต่ต้องไม่ ประมาท เพราะดัชนีพร้อมจะปรับตัวลดลงอีกครั้งหากสถานการณ์กลายเป็นลบเพิ่มเติม ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1 เดือน ยังไม่สามารถชี้ได้ว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาดีขึ้นได้มากหรือน้อยเท่าใด เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจัยทางเศรษฐกิจในอนาคต"


สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 31.5 มาอยู่ที่ระดับ 32.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 54.6 มาอยู่ที่ระดับ 55.7


"การที่ดัชนี ฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 260 เดือน และได้มีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นกลับคืนมาในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญมากนัก ทำให้ประเมินว่าคนยังขาดความเชื่อมั่นอยู่มาก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยยังไม่มีการฟื้นกลับมา การค้าขายไม่คล่องตัว โดยเฉพาะสินค้าคงทน หรือสินค้าที่ไม่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ส่วนสินค้าที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตยังใช้ขายได้อยู่แม้ยอดขายจะยังไม่กลับมา 100% เพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการคัดกรองเข้มข้น ทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ และประชาชนส่วนหนึ่งอาจยังไม่มีความมั่นใจที่อยากออกจากบ้านมากนัก"


อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวขึ้นมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการทรุดตัวของเศรษฐกิจยังไม่มีต่อเนื่อง หากไม่มีการกลับมาแพร่ระบาดระลอก 2 ของไวรัสโควิด-19 หากไม่มีเหตุการณ์เสี่ยงทางการเมืองจนทำให้เกิดความกังวลมากขึ้น และไม่มีความตึงเครียดของปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้วในเดือนพฤษภาคม หรือควรเป็นจุดต่ำสุดในในไตรมาส 2 นี้ แต่ยังถือเป็นการประเมินที่ยาก


“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสติดลบ -3.5% ถึง -5% โดยหอการค้ายังไม่ได้เปลี่ยนมุมมอง เพราะมองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยจะทยอยกลับมาเป็นปกติในเดือนพฤษภาคมหรือไม่ ซึ่งมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟส 1-2 ออกมา รวมถึงเริ่มเปิดเฟส 3 ต่อเนื่อง โดยมีสมมุติฐานในเชิงบวก มองว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบเพียง -3.5% จากการท่องเที่ยวเปิดในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะที่รัฐบาลอัดมาตรการกระตุ้น ทั้งมาตรการทางการคลัง การอัดฉีดเม็ดเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้กลับมาฟื้นตัวมากขึ้น และเปิดดำเนินการในธุรกิจการบิน ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้อย่างน้อย 12 ล้านคน รวมถึงกระตุ้นให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่เตรียมเงินไว้ 5 แสนล้านบาท อัดฉีดเข้าระบบได้เต็มที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบ -3.5% มีความเป็นไปได้ แต่หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะติดลบเพิ่มขึ้นมีความเป็นไปได้ ทำให้ในช่วงไตรมาส 3 รัฐบาลควรอีดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะต้องกระตุ้นอย่างมากในอุตสาหกรรมต่างโดยเฉพาะการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่เป็นหลัก การท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระจายเม็ดเงินให้ทั่วถึงไปยังภูมิภาคต่างๆ”


ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟส 1-3 จะทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงปกติประมาณ 90% จากสถานประกอบการทั่วประเทศ แต่เนื่องจากการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จะทำให้ยอดขายกลับมาเพียง 50% โดยจะทำให้มีเงินสะพัดเข้ามาประมาณ 6-8 พันล้านบาท หรือเดือนละ 2 แสนล้านบาท โดยการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้มีเงินสะพัดก่อน 1 แสนล้านบาทต่อเดือน และเมื่อปลดล็อกมาตรการเฟส 3 ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ประชาชนมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น คาดว่าจะมียอดเงินหมุนเวียน 8-9 พันล้านบาท ทั้ง 3 ระยะ หรือเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากการควบคุมระยะห่างระหว่างกัน โอกาสที่เม็ดเงินจะสะพัดในระบบเศรษฐกิจ จะอยู่ที่เดือนละ 1.5 – 1.8 แสนล้านบาท โดยเศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดขึ้นในปลายไตรมาส 3 และขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยได้ในช่วงไตรมาส 4 จึงมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะติดลบ -5% ยังเป็นไปได้สูง แต่โอกาสติดลบ -3.5% ค่อนข้างเกิดขึ้นยากแล้ว


ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นความกังวลคือ ในเชิงตลาดแรงงาน ดัชนีปรับขึ้นมาน้อยมาก สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำในปัจจุบัน และความหวังการหางานในอนาคต ตลาดแรงงานยังไม่เปิด ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงในการปลดคนงานและอัตราการว่างงานมีอยู่สูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป โดยมีความเป็นห่วงในส่วนของอัตราการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่ความกังวลมีสูงขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง อาจทำให้ธุรกิจเริ่มปลดคนงาน ไม่รับคนงานใหม่ ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้ไตรมาส 3 ต้องฟื้นเศรษฐกิจแบบเข้มข้นที่สุด ได้แก่ 1.รัฐความต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ชุมชน ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ และการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 2.กระตุ้นให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) มากขึ้น 3.หากรัฐบาลสามารถผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้มากขึ้น ภายใต้การควบคุมไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 ได้ ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มเขึ้นขนถึงกลางเดือนนี้ และมีการปลดล็กต่างๆ เพิ่มเติม จะเป็นบรรยากาศที่ดีมากขึ้น และ 4.ผ่อนคลายการค้าชายแดน ที่ขณะนี้ยังมีการเปิดไม่เต็มที่ หากสามารถผ่อนคลายให้เกิดการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นได้ จะทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดฟื้นตัวขึ้นได้ เพราะหลาย ๆ ประเทศเริ่มเปิดเศรษฐกิจระหว่างกันกลับมามากขึ้น อาทิ การจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างกัน อนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ แต่งดการเดินทางสาธารณะ ให้ใช้การขนส่งระดับบุคคลแทน ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยผ่อนคลาย และทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจในระยะถัดไปดูดีขึ้น


ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทว่า ตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นช่วงระยะเวลาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ซึ่งในจังหวะเวลาดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติก็มีสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ดี ภาพในอีกด้านหนึ่ง เงินบาทกลับทยอยแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 เป็นต้นมา จากผลของเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงตามสัญญาณพร้อมผ่อนคลายด้วยทุกเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกอบกับมีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ที่ส่งผลทำให้เงินบาทมีแรงหนุนในด้านแข็งค่ามากขึ้นตามรายละเอียดดังต่อไปนี้


อย่างไรก็ตามจากยอดการเกินดุลการค้าของไทยที่ระดับ 2,462 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน เม.ย. นั้น เป็นผลมาจากยอดสุทธิของการส่งออกทองคำ (ส่งออกทองคำ หักนำเข้าทองคำ) ถึง 2,427 ล้านดอลลาร์ฯ โดยในช่วงดังกล่าว “ปริมาณ” การส่งออกทองคำของไทยเร่งตัวขึ้นกว่า 90% เป็น 46,732 กิโลกรัม หรือ 1.8 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกเฉลี่ยที่ 25,500 กิโลกรัมต่อเดือนในช่วงไตรมาสแรก


ขณะที่ “ราคา” ทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีที่ 1,747.74 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ ในเดือน เม.ย. ขณะที่ คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าว จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในเดือน พ.ค. เพราะราคาทองคำทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ครั้งใหม่ที่ 1,765.30 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ในช่วงกลางเดือนพ.ค. และยังทรงตัวในกรอบสูงหลังจากนั้น


นอกจากนี้ไม่บ่อยนักที่จะเห็นดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายพลิกกลับมาเกินดุล ซึ่งสาเหตุของการเกินดุลถึงประมาณ 6,900 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย. นี้ น่าจะมาจากการปรับสถานะของหลายรายการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการปรับสถานะเงินฝากและเงินลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวม FIF และนักลงทุนไทย (รวมๆ แล้วประมาณ 71% ของยอดเกินดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย) ประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีการส่งสภาพคล่องกลับของบริษัทในเครือจากต่างประเทศ และการชำระคืนสินเชื่อทางการค้าจากคู่ค้าต่างประเทศในจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง และไม่เห็นบ่อยนักในรอบหลายปีที่ผ่านมา


ทั้งนี้ “เงินทุนฝั่งไหลเข้า” จากปัจจัยดังกล่าว มีจำนวนที่มากกว่า “เงินทุนฝั่งไหลออก” จากตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งภาพดังกล่าวหนุนเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะพลิกกลับมาขาดดุลจากผลกระทบของรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่อ่อนแอลงในช่วงการล็อกดาวน์ประเทศ


อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินบาทในระยะข้างหน้ายังมีโอกาสแข็งค่าอยู่ จากการที่เศรษฐกิจไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ราว 4.9% ของ GDP ตามประมาณการของ สศช. แม้ว่าการส่งออกและท่องเที่ยวจะหดตัวลงไปมาก


นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์ของเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ยังไม่นิ่ง ขณะที่เหตุจลาจลอาจทำให้ความเสี่ยงในการระบาดระลอกสองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งย่อมเป็นผลเสียต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และในอีกด้านหนึ่ง เฟดก็คงต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก ซึ่งทำให้ยังต้องรอประเมินโอกาสที่เฟดจะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบอย่างใกล้ชิดต่อไป


ทั้งนี้ปริมาณเงินดอลลาร์ฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยลบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเทศอื่นๆ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าในสหรัฐฯ ดังนั้นคาดว่า เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าไปอยู่ในกรอบ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในช่วงที่เหลือของปี 2563


ขณะที่ ธปท. ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเน้นการดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผิดไปจากปัจจัยพื้นฐาน เพื่อเลี่ยงผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และจากสัญญาณล่าสุด สะท้อนว่า ธปท. น่าจะอยู่ระหว่างการติดตามธุรกรรมทางการเงินที่อาจจะมีผลต่อความผันผวนของเงินบาทใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.ธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยเฉพาะในช่วงที่ปริมาณการส่งออกทองคำยังอยู่ในระดับสูง และ 2. การทยอยกลับเข้าซื้อพันธบัตรระยะต่ำกว่า 1 ปีซึ่งสะท้อนการกลับเข้ามาพักเงินระยะสั้นอีกครั้งของนักลงทุนต่างชาติ และอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น