บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ในฐานะหุ้นน้องใหม่ตัวแรกที่ร้อนแรงที่สุด เพราะ นับจากเข้าซื้อขาย ราคาหุ้นวิ่งชนเพดานสูงสุด 5 วันติด แม้ว่าวันที่ 5 จะเกิดความพลิกผัน ราคาหุ้นจะถูกลากขึ้นชนเพดานสูงสุดช่วงเปิดตลาด แต่ร่วงลงต่ำสุดติดพื้นเมื่อปิดตลาดก็ตาม
จากราคาจอง 1.38 บาท หุ้น SICT พุ่งทะยานขึ้นสูงสุด 7.15 บาท สูงกว่าจอง 5.77 บาท หรือสูงกว่าจองเกิน 400% เพียงช่วง 5 วันทำการ
เพราะมีการกระชากราคาขึ้นสูงสุดชนเพดานตั้งแต่วินาทีแรกที่เปิดการซื้อขาย และ 4 วันต่อมา การซื้อขายก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับวันแรก โดยเปิดปุ๊บจะมีแรงซื้อลากราคาขึ้นไปสูงสุดชนเพดานทันที
การซื้อขายหุ้น SICT ใน 4 วันแรก ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคมถึง 4 สิงหาคม มูลค่าน้อยมาก โดยรวมเคาะซื้อขายทั้งสิ้นประมาณ 52 ล้านหุ้น หรือประมาณ 52% ของหุ้นที่นำเสนอขายนักลงทุนทั่วไป
แต่การซื้อขายในวันที่ 5 หรือวันพุธที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้นพลิกผัน จากลากขึ้นไปชนเพดานสูงสุดที่ 7.15 บาท/หุ้น ถูกทุบขายลงมาจากราคาดิ่งลงติดฟลอร์ที่ 5.35 บาท ลดลง 0.90 บาท หรือลดลง 14.40% มูลค่าการซื้อขายกลับพุ่งขึ้นเป็น 153.85 ล้านหุ้น หรือ 811.39 ล้านบาท มากกว่าการซื้อขาย 4 วันรวมกัน
ในมุมมองของนักลงทุนทั่วไป ความร้อนแรงของหุ้น SICT อาจเข้าข่ายรายการลากขึ้นไปเชือด โดยอาจมีเจ้ามือหรือนักลงทุนขาใหญ่ ไล่ราคาหุ้นตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขาย เมื่อนักลงทุนรายย่อยตามแห่เข้าไปเก็งกำไร เจ้ามือหรือขาใหญ่จึงได้เวลา “ปล่อยของ” โดยเทขายหุ้นทำกำไรออกมา
และสามารถขายทำกำไรได้ทุกราคา เนื่องจากมีหุ้นต้นทุนต่ำอยู่ในมือ แต่ แมลงเม่าที่บินเข้าไปลุย SICT โดยเข้าไปซื้อในวันที่ 4 และ 5 สิงหาคม ต้องเจ็บกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะนักลงทุนที่หลงกลไปซื้อในราคาสูงสุดชนเพดานในวันที่ 5 สิงหาคม
ความร้อนแรงของหุ้นน้องใหม่ตัวนี้คงปิดฉากลงแล้ว โดยราคา 7.15 บาท น่าจะเป็นราคาสูงสุดของรอบ และราคานี้อาจไม่ได้เห็นกันอีกนาน
เพราะ "ขาใหญ่" อาจบรรลุเป้าหมาย “ปล่อยของ” ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โกยกำไรไปนอนตีพุงสบาย ปล่อยให้รายย่อย “ติดกับ”
SICT มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 400 ล้านหุ้น (พาร์ 50 สตางค์) ถ้าคำนวณจากราคาหุ้นที่เสนอขายนักลงทุนในราคา 1.38 บาท จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคปจำนวนทั้งสิ้นเพียง 544 ล้านบาทเท่านั้น
แต่การซื้อขายวันพุธที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าซื้อขาย 911.39 ล้านบาท มากกว่ามาร์เกตแคปของ SICT เกือบ 1 เท่าตัว
ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ติดช่วงระยะเวลาห้ามขายหรือไซเลนต์พีเรียด ถ้าขายหุ้นทำกำไรออกมา จะคุ้มกว่าที่จะถือหุ้นต่อไป เพราะสามารถโกยกำไรมหาศาล ไม่ต้องรอเงินปันผลเพียงน้อยนิดในแต่ละปี
และน่าจะมีผู้ถือหุ้นเดิมถือโอกาสขายหุ้นออกมา เพราะมูลค่าการซื้อขายวันที่ 5 สิงหาคม สูงผิดปกติ โดยหุ้นที่นำมาเสนอขายนักลงทุนทั่วไปรวมทั้งพนักงานมีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 100 ล้านหุ้น แต่กลับซื้อขายกันกว่า 153 ล้านหุ้น
ตลอด 5 วันที่เข้ามาซื้อขาย หุ้น SICT ถูกเฝ้าจับตาจากนักลงทุนทั้งตลาด ในฐานะหุ้นน้องใหม่ที่มาแรง ยิ่งซิลลิ่ง ยิ่งเรียกคนดู เพราะอยากจะรู้ว่า SICT จะถูกลากอย่างเย้ยฟ้าท้าดินไปถึงจุดไหน จะลากกันกี่ซิลลิ่ง
แต่การถูกทุบติดฟลอร์เมื่อวันพุธ ถือเป็นอวสานความร้อนแรงของหุ้นน้องใหม่ตัวนี้แล้ว สิ่งที่นักลงทุนเฝ้าดูกันต่อไปคือ SICT จะถูกทุบติดฟลอร์ต่อเนื่องเหมือนตอนลากขึ้นซิลลิ่งหรือไม่
เข้ามาซื้อขายได้เพียง 5 วัน SICT ก็แปลงร่างเสียแล้ว จากหุ้นน้องใหม่ที่ดูเหมือนดี กลายเป็น หุ้นน้องใหม่ตัวอันตราย ใครหลงเข้าไป หนีออกไม่ทัน ขายไม่ทัน มีสิทธิบาดเจ็บสาหัส