ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัดในเดือน มิ.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 36.0 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือน พ.ค.2563 ที่ระดับ 36.1 แม้ครัวเรือนจะมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ แต่กลับมีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) โดยในเดือน มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 รวมถึงยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่เริ่มทยอยกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำของตนเอง โดยเฉพาะครัวเรือนที่ประกอบอาชีพค้าขาย
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร/หน่วยงานของครัวเรือนไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า การเลิกจ้างในองค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของมีอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 4.2 ในเดือน มี.ค.2563 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในเดือน มิ.ย.2563 อย่างไรก็ดี องค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ร้อยละ 21.3 มีนโยบายชะลอรับพนักงานใหม่เพื่อทดแทนพนักงานเดิมที่ลาออกหรือเลิกจ้างไปในช่วงก่อนหน้า (Hiring freeze) ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลสำรวจในเดือน มี.ค.2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 9.2 สะท้อนจำนวนตำแหน่งการจ้างงานที่ลดลงในตลาดแรงงานไทย ในขณะที่การขอให้ใช้สิทธิลาโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without pay) การปรับลดเงินเดือนแทนการเลิกจ้าง และการลดจำนวนวันทำงานเพื่อลดต้นทุนค่าแรงมีอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือน มี.ค.2563 สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ของครัวเรือนไทยบางส่วนเริ่มทยอยกลับสู่ระดับปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
แม้รายได้และการมีงานทำของครัวเรือนไทยจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติมในเดือน มิ.ย.2563 แต่ภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยยังได้รับแรงกดดันจากฝั่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าสาธารณูปโภค สอดคล้องไปกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่ในเดือน มิ.ย.2563 ขยับขึ้นร้อยละ 1.56 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2563 นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน เช่น อุปกรณ์การศึกษา ชุดนักเรียน เป็นต้น ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 ก.ค.2563
ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 35.9 ในการสำรวจช่วงเดือน พ.ค.2563 มาอยู่ที่ระดับ 37.4 ในการสำรวจช่วงเดือน มิ.ย.2563 จากความกังวลที่ลดลงในทุกมิติการครองชีพของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือน ก.ค.-ก.ย.2563) และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้ากลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยมองภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองได้ผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี สภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบันยังอยู่ภายใต้หลายมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและสถาบันการเงินซึ่งมีผลต่อมุมมองการครองชีพของครัวเรือน เช่น มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น มาตรการเยียวยาเกษตรกร มาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น จึงยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย หากผลของมาตรการเหล่านี้สิ้นสุดลง
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน มิ.ย.2563 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แม้รายได้และการมีงานทำของครัวเรือนจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ค.2563 แต่ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนก็มีรายจ่าย (ไม่รวมหนี้) เพิ่มขึ้น แตกต่างจากดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากทุกมิติการครองชีพของครัวเรือน สะท้อนมุมมองของครัวเรือนที่ผ่านจุดย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมาตรการภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ที่กำลังจะสิ้นสุดโครงการลงในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้