xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรไทยเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ มี.ค.63 ร่วงต่อเนื่อง-รายได้หด-ควักเงินออมใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
รายงายดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ประจำเดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สร้างสถิติต่ำสุดในรอบ 74 เดือน จากระดับ 37.3 ในเดือน ก.พ.2563 มาอยู่ที่ระดับ 33.1 ในเดือน มี.ค.2563 จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากต่อประเด็นเรื่องรายได้และการจ้างงาน เงินออม และค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ ดัชนี KR-ECI ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในเดือน มี.ค.2563 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสำรวจจัดทำก่อนการออกมาตรการดูแลเยียวยาต่างๆ ของรัฐบาลที่ ครม. อนุมัติไปในวันที่ 7 เม.ย.2563 ทำให้ยังคงต้องติดตามดัชนี KR-ECI ในเดือนหน้า ที่จะมีการสะท้อนความเห็นต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ

พร้อมกันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการปรับตัวทางด้านการจ้างงานขององค์กรและธุรกิจที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในเดือน มี.ค.2563 พบว่า องค์กรและธุรกิจส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจพยายามประคับประคองสถานะการมีงานทำของลูกจ้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยร้อยละ 21.4 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจถูกปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้าง อีกร้อยละ 21.1 ลดเวลาการทำงานล่วงเวลาเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เพียงร้อยละ 4.9 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจถูกเลิกจ้างในเดือน มี.ค.2563 นับเป็นอัตราส่วนที่ลดลงจากช่วงเดือน ม.ค.2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ภาคธุรกิจได้ทยอยปรับลดการจ้างงานมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4/2562 โดยสัดส่วนครัวเรือนที่ถูกเลิกจ้างในเดือน ต.ค.2562 สูงถึงร้อยละ 8.5 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ

อย่างไรก็ตาม รายได้ของครัวเรือนที่ลดลง ท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงการทำประกัน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,223.2 บาทต่อเดือน สำหรับครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 706.5 บาทต่อเดือน สำหรับครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้ครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.3 มีเงินออมลดลงจากเดือนก่อนหน้า หลังดึงเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ โดยครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าในประเทศ เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก สอดคล้องต่อดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน มี.ค.2563 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.86 เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2563 และประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนขอพักชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมุมมองในปัจจุบัน จากระดับ 36.5 ในการสำรวจช่วงเดือน ก.พ.2563 มาอยู่ที่ระดับ 32.6 ในการสำรวจช่วงเดือน มี.ค.2563 ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของครัวเรือนที่เต็มไปด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) และเงินออมของตนเอง อย่างไรก็ดี ภาครัฐออกมาตรการดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยกันทั้งหมด 3 ระยะ เช่น การให้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน การคืนเงินค่าประกันไฟฟ้าและประปา การให้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านเรือนที่มิเตอร์ไฟฟ้าไม่เกิน 5 แอมป์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก็น่าจะพอมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนไทยได้บางส่วน แต่ยังต้องติดตามผลของมาตรการเหล่านี้ต่อไปในระยะข้างหน้า

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน (KR-ECI) และดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ต่อรายได้และการมีงานทำ ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) รวมถึงเงินออม ในขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ก็มีส่วนช่วยผ่อนเบาภาระหนี้สินของครัวเรือนในยามวิกฤตเช่นนี้ได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2563 จะเผชิญโจทย์ที่ยากยิ่ง ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทั้งภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบหนักต่อครัวเรือนภาคเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีโอกาสวนกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง หากยังไม่มีประเทศไหนคิดค้นวัคซีนสำเร็จ ทั้งนี้ มาตรการดูแลเยียวยาที่ภาครัฐออกมาทั้ง 3 ระยะก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้างบางส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น