"สมคิด" สั่ง “คลัง” ทำแผนพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน หวังใช้ต่อยอดแพกเกจโครงการเราไปเที่ยวกัน ซึ่งมีข้อจำกัดของอายุโครงการที่กำหนดไว้แค่ 4 เดือน ขณะเดียวกัน ยังหวังที่จะใช้การท่องเที่ยวระดับชุมชน หรือท้องถิ่นเป็นแหล่งหารายได้ใหม่ให้แก่แรงงานที่ต้องอพยพกลับสู่บ้านเกิดจากการที่กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวลงตามผลของโควิด-19 รวมทั้งยังจะใช้เป็นมาตรการกระตุ้นคนรวยออกมาใช้จ่ายให้มากๆ พร้อมสั่ง "สรรพากร" พิจารณารูปแบบมาตรการภาษีหนุนการท่องเที่ยว ชี้ต้องทำให้เสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งยังตอบรับข้อเสนอเอกชนเรียกร้องขยายเวลาพักชำระหนี้จาก 6 เดือนออกไปเป็น 2 ปี ด้าน "อุตตม" มอบหมาย สศค. และ บสย. หาข้อสรุปการออกแผนค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 เพื่อหนุนการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท. ให้มากขึ้น เผยภายใน 2 สัปดาห์นี้จะมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจ ที่กระทรวงการคลัง ว่า เนื่องจากชุดมาตรการการท่องเที่ยว “เราไปเที่ยวด้วยกัน” ที่รัฐบาลได้ออกมาแล้วนั้น ยังมีหลายจุดที่ไม่ครอบคลุมส่วนท้องถิ่นและชุมชน
ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้กรมสรรพากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งหามาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยการดึงดูดให้คนรวยที่มีกำลังในการจับจ่ายให้ออกมาใช้จ่ายกันมากๆ เนื่องจากในเวลานี้คนที่อยู่ข้างล่างมีความลำบาก และหากคนรวยออกมาใช้จ่ายจะช่วยเสริมกันได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อมาเสริมกับมาตรการท่องเที่ยวที่รัฐบาลได้อนุมัติไปเมื่อก่อนนี
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ สศค. กลับไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางหาแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้นพบว่ายังคงมีโรงงานอีกหลายแห่งต้องปิดกิจการลง และมีแรงงานค่อนข้างมากที่ต้องเดินทางกลับสู่ท้องถิ่นของตน ดังนั้น จึงจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนหรือท่องเที่ยวท้องถิ่นให้เพิ่มมากขึ้นให้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในพื้นที่
ทั้งนี้ วิกฤตในครั้งนี้ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน และปัญหาสำคัญคือเรื่องการจ้างงาน โดยยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งมีคนตกงานแล้ว 25-30 ล้านคน ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเร่งหาวิธีในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้เงินสามารถกระจายไปสู่พี่น้องประชาชนที่ลำบาก โดยตนขอให้ทุกอย่างแล้วเสร็จภายในกลางเดือน ก.ค.นี้
นอกจากนี้ ตนยังได้กำชับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีบทบาทหลักในการพิจารณาโครงการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท ได้เตรียมเสนอโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น และสอดคล้องต่อการจ้างงานของประชาชนเพื่อรองรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาด้วย
นายสมคิด ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีภาคเอกชนได้เสนอให้สถาบันการเงินขยายเวลาการพักชำระหนี้ไป 2 ปี จากเดิมพักชำระหนี้ 6 เดือน ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหาแนวทางจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการขยายระยะเวลาในการพักชำระหนี้ ยังไม่มีข้อสรุปจะเป็นเท่าไหร่
ด้านแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น นายสมคิด ยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้ธุรกิจต้องประสบปัญหา ดังนั้น ทางการจะต้องเร่งเข้าไปช่วย ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีได้มีเงินทุนบางส่วนที่แข็งแรงพอจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในวันที่ 8 ก.ค.63
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ประกอบการบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสินเชื่อคงค้างเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของ ธปท. ได้ นั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะต้องให้กระทรวงการคลัง และ ธปท. หารรือร่วมกันอีกครั้งว่าช่วยผ่อนคลายกลไกเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวนี้ได้อย่างไร โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค.63 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวนี้จะรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมพิเศษ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม กลุ่มอุตสาหกรรมการบินด้วย ซึ่งหากทำได้หวังว่าส่งออกจะฟื้นขึ้นมาได้ภายในช่วงปลายปี 63 หรือต้นปี 64
ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท. ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สศค. และ บสย. โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการจ้างงานนั้น กระทรวงการคลังจะเน้นการจ้างงานในชุมชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ส่วนแรกที่จะดำเนินการจะเป็นการสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น พัฒนาร้านอาหาร การสร้างอาชีพ การเกษตร รวมถึงให้มีการจ้างชาวบ้านลงพื้นที่เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลสำหรับการดำเนินในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเบื้องต้น คาดว่าจะทำให้มีการจ้างงานใหม่ 400,000 คน
ส่วนมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อสำหรับคนรวยนั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการทางด้านภาษีจะถือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเสริมกับมาตรการท่องเที่ยวในประเทศด้วย เนื่องจากหากการท่องเที่ยวได้ผลแล้วก็จะต้องพิจารณาว่าจะมีเรื่องใดมาเสริมเพื่อเป็นการต่อยอดได้ ซึ่งอาจเอารูปแบบชิมช้อปใช้มาใช้ โดยจะพิจารณารวมถึงการให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มคนมีเงินออกมาใช้จ่าย เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อด้านอุปสงค์ โดยย้ำว่ามาตรการนี้จะถือว่าเป็นการกระตุ้นให้คนไปท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อดึงเงินในกระเป๋าคนมีเงินมาใช้จ่ายให้ได้
สำหรับการพิจารณาขยายเวลาการพักชำระหนี้ของภาคเอกชนนั้น กระทรวงการคลังจะต้องหารือกับ ธปท. ก่อน แต่จะขยายออกไปอีกเท่าใดนั้น คงยังไม่สามารถสรุปได้ได้ตอนนี้ นอกจากนี้ นายอุตตม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอให้เลิกพูกได้เลยว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน เนื่องจากหลายประเทศก็เลิกพูดกระตุ้นเรื่องอัตราการเจริฐเจิบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้มานน้อยแค่ไหนแล้ว จากปัญหาที่การคาดการณ์สามารถทำได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้น สิ่งที่รัฐพยายามทำคือ การจ้างงาน การสร้างอาชีพใหม่ รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ให้ได้เท่านั้น
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า มาตรการท่องเที่ยวท้องถิ่นนั้นจะเป็นสิ่งที่นำไปต่อยอดแพกเกจท่องเที่ยวเราไปเที่ยวด้วยกัน เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินโครงการจะมีจำกัดเพียงแค่ 4 เดือน แต่หลังจากนั้นจะเตรียมมาตรการท่องเที่ยวออกมาเพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง