xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจขนส่งทางบกขอ “คลัง” อัดฉีดซอฟต์โลนหมื่นล้าน “อุตตม” รับปากจะหารือ สสว. ตั้งกองทุนช่วยรถบรรทุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผู้ประกอบการขนส่งทางบก” ร้อง “รมว.คลัง” พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยเข้าร้องขอความช่วยเหลือกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ด้าน “อุตตม” ย้ำ สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านสินเชื่อซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทได้เลย พร้อมขอให้ผู้ประกอบการช่วยทำการประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวในกลุ่มกันเองด้วย ระบุ เตรียมหารือ “สสว.” ตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอีสำหรับกลุ่มขนส่ง ทั้งยังมอบหมายให้ คลังหารือกับดีอี พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์

นายอุตตม สาวนายน กล่าวภายหลังการหารรือร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งทางบกว่า ที่ประชุมฯ หารือถึงข้อเรียกร้องถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวซึ่งได้รับผกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องคือเรื่องเงินทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยืนยันว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้สามารถขอใช้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันมีการใช้วงเงินไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงยังมีวงเงินกู้ซอฟต์โลนเหลืออยู่อีก และขอให้ผู้ประกอบการช่วยทำการประชาสัมพันธ์กันเองในกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งทางบกขอใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าวนี้ได้ ทั้งนี้ จำนวนผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีรวมกันทั้งสิ้น 3 แสนราย และมีแรงงาน 5-6 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังจะหารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงเรื่องการตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งรถบรรทุกสามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านกองทุนฯ ดังกล่าวนี้ได้ เนื่องจากจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสรุปหลักเกณฑ์ได้ในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ที่พร้อมให้สินเชื่อแก่เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการหารือข้อเสนอเรื่องการฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคขนส่ง โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะมีการหารือในเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์อีกครั้ง เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการขนส่ง เนื่องจากถือว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทยด้วย

ด้าน นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลือ 0.5% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากในช่วงปกตินั้นภาคขนส่งจะมีรายได้จากการส่งสินค้าทั้งระบบ 2-3 แสนล้านบาท

รวมทั้งยังได้ขอแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยรวม 1 หมื่นล้านบาท จากกองทุนฯ ของ สสว. เพื่อให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกสามารถค้ำประกันการกู้ยืมด้วยกันเองได้นั้น จะช่วยลดข้อจำกัดจากการให้สินเชื่อของธนาคารซึ่งผู้ประกอบการมีความต้องการขอกู้รายละ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการขนส่งไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้เหมือนธุรกิจในกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งยังต้องการให้รัฐบาลพัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางบกกว่า 3 แสนราย และมีจำนวนรถบรรทุก 1.4 ล้านคัน โดย 40% ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากไม่มีสินค้าให้ขนส่งจนส่งผลให้คนขับรถบรรทุกต้องตกงานหรือมีงานลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีรถโดยสารของเอกชน 4 หมื่นราย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราว 60-70% จนส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการขนส่งทางบกอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการปรับรูปแบบการขนส่งสินค้าหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างแพลตฟอร์มใหม่ รวมถึงยังจะมีการจัดทำบัญชีเดียวที่เป็นมาตรฐานตามนโยบายของกรมสรรพากร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้

อย่างไรก็ตาม ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาพวกตนเคยร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมไปแล้ว แต่ยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือ และหากปล่อยให้เกิดปัญหาต่อไป อาจจะกระทบต่อการจ้างงานในระยะยาวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น