หุ้นโรงแรม หลังภาครัฐคลอดมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ คาดส่งผลดีระดับหนึ่ง ดันภาพรวมฟื้นตัวเล็กน้อย เหตุเม็ดเงินที่ใช้คิดเป็น 2% ของเม็ดเงินทั้งอุตสาหกรรม โบรกเกอร์คาดหวังรัฐบาลมีแผนกระตุ้นเพิ่มในช่วงไตรมาสสุดท้าย และปีหน้า ขณะนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจต้องรอจนถึงปี 2565
หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มสายการบินและกลุ่มโรงแรงแรม แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดCOVID-19 ในประเทศคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุม จนทำให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แม้ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศก็ตาม แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว (แพ็คเกจท่องเที่ยว) วงเงินรวม 2.24 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการกำลังใจ รัฐบาลจะสนับสนุนค่าเดินทางสำหรับอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล รวม 1.2 ล้านคน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัท นำเที่ยว ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน วงเงินงบประมาณรวม 2,400 ล้านบาท
2.โครงการเราไปเที่ยวกัน รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พัก ในลักษณะร่วมจ่าย (co-pay) จำนวน 5 ล้านคืน ในอัตรา 40% ของ ค่าพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและ ค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ วงเงินรวม 1.8 หมื่น ล้านบาท และ
3.โครงการเที่ยวปันสุข รัฐสนับสนุนการเดินทางของประชาชน ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการ ขนส่ง ด้านการท่องเที่ยวผ่าน 3 กลุ่ม คือ สายการบินในประเทศ รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่า ในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวของภาครัฐทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) รายงานถึง มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล ว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อมาตรการช่วยเหลือท่องเที่ยว เพราะจะส่งผลดีต่อกลุ่มโรงแรมในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมขนาด midscale ถึง luxury ทำให้หุ้นที่เราคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาก-น้อยคือ CENTEL, MINT และ ERW ดังนั้นจึงเชื่อว่า คนในประเทศยังมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวในประเทศค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกันมองเป็นบวกต่อกลุ่มสายการบิน (AAV) และสนามบิน (AOT) เนื่องจากจะทำให้ค่าตั๋วโดยสารที่ผู้โดยสารจ่ายถูกลง และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น จะทำให้สายการบินกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้น และจะทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนผลการดำเนินงานกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ทำให้มีโอกาสปรับประมาณการปี 2563 ขึ้นหากมาตรการนี้เริ่มใช้ได้ เพราะจะทำให้ธุรกิจโรงแรมจะมีรายได้เข้ามาได้มากกว่าคาด โดยเชื่อว่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม โดยรวม กลุ่มท่องเที่ยวยังคงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “เท่ากับตลาด” เพราะจะเห็นการฟื้นตัวได้ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงแรมที่ได้จากประเด็นข่าวนี้ และธุรกิจอาหารที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจโรงแรมจากการคลายล็อคดาวน์ และ AAV ได้ประโยชน์เต็มๆจากการให้ส่วนลดค่าตั๋ว ซึ่งจะทำให้จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
บล.กรุงศรี ฯ รายงานว่า มาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3 โครงการ “กำลังใจ,เที่ยวปันสุข,เราไปเที่ยวกัน” คาดว่าจะสร้างผลกระทบค่อนข้างจำกัดสำหรับทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้คงมุมมองเป็นกลางสำหรับกลุ่มท่องเที่ยวและบริการขนาดของมาตรการกระตุ้น 2 หมื่นล้านบาทนี้ คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ และคิดเป็นเพียง 0.7% ของมูลค่าการท่องเที่ยวทั้งหมดในไทย ทำให้คงมุมมองเป็นกลางสำหรับกลุ่มและคาดหวังการมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมจากนี้ โดยมุมมองดังกล่าวเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากการที่ขนาดของมาตรการนั้นค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรม แม้ว่ากระนั้น เชื่อว่ามาตรการนี้เป็นหนึ่งในแนวโน้มที่ดีจากรัฐบาล แต่คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และปีหน้า จากการที่เที่ยวบินระหว่างประเทศอาจจะสามารถกลับมาบินได้ (เช่น มาตรการฟรีวีซ่า)
ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ รายงานว่า มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มโรงแรมโดยตรง โดยที่กลุ่มโรงแรมที่มีสัดส่วนรายได้ในประเทศจะได้รับอานิสงส์สูงสุด จึงมองว่า ERW จะได้รับอานิสงส์สูงกว่า MINT และ CENTEL เนื่องจากเป็น Pure Hotel Player และรองลงมา คือ CENTEL ในขณะที่ MINT จะเป็นบริษัทที่รับอานิสงส์น้อยสุด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศสูงกว่าในประเทศ
โดย ERW นั้นเนื่องจากเป็นบริษัทที่เป็น Pure Hotel Player และมีโรงแรมครอบคลุมทุกระดับชั้น และ 96% ของรายได้อยู่ในประเทศ และมีสัดส่วนรายได้โรงแรมในต่างจังหวัดที่ 38% ด้านโรงแรมกลุ่ม Hop Inn ที่กระจายตัวอยู่ตามต่างจังหวัด มีค่าห้องพักต่ำกว่า 1,000 บาท ต่อคืนคาดว่าจะได้รับความนิยมจากมาตรการนี้สูง ดังนั้นมองว่า ERW จะเป็นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการนี้สูงที่สุด
สำหรับ CENTEL มีสัดส่วนรายได้โรงแรมในประเทศที่ 82% และมีสัดส่วนจากโรงแรมในต่างจังหวัดที่ 50% ประกอบกับกลุ่มร้านอาหารของ CENTEL อยู่ในประเทศ 100% และการเดินทางท่องเที่ยวคาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายต่อสาขาของร้านอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ขณะที่ สัดส่วนรายได้ของโรงแรมในประเทศของ MINT อยู่ที่ 14% และสัดส่วนรายได้จากโรงแรมในต่างจังหวัดอยู่ที่ 8% จึงมองว่า MINT จะเป็นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้น้อยสุดในกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มร้านอาหารของ MINT ที่อยู่ในประเทศ 75% คาดว่าจะได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับของ CENTEL
นอกจากนี้แม้ว่ามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อกลุ่มท่องเที่ยวโดยตรง แต่ เนื่องจากมาตรการมีระยะเวลาเพียง 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2563 จึงมองว่าจะเป็นมาตรการที่มาช่วยสนับสนุนผลประกอบการและราคาหุ้นในระยะสั้นเท่านั้น ในขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในบางประเทศได้กลับมาระบาดอีกครั้ง ส่งผลให้คาดว่าทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจะมีการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน
ดังนั้นจึงคาดว่ากลุ่มท่องเที่ยวในปี 2563 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และในปี 2564 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังไม่สามารถกลับมาที่ระดับเดิมของปี 2562 ได้ จึงยังแนะนำหลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว และแนะนำเพียง “ถือ” สำหรับ ERW และ MINT ที่ราคาเป้าหมาย 3.15 บาท และ 16.85 บาท ตามลำดับ
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส รายงานว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ผ่านมติ ครม. จำนวน 3 โครงการสำคัญตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ซึ่งจะใช้งบประมาณสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.63 โดยจะต้องลงทะเบียนการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกอบด้วย โครงการกำลังใจ, เราไปเที่ยวด้วยกัน และเที่ยวปันสุขนั้น อาจจะช่วยกระตุ้นด้าน Sentiment แต่ในแง่ตัวเงินเป็นเพียง 10% จากการสำรวจของ Euromonitor ที่ว่าเม็ดเงินทั้งระบบจะอยู่ที่ราว 2.55 แสนล้านบาท อีกทั้งโครงการที่ออกมา พิจารณาแล้วยังจูงใจได้ไม่มาก
โดยความกังวลที่ยังคงอยู่คือ นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่สามารถมายังไทยได้ มีการเลื่อนกำหนดการที่จะอนุญาตให้เข้ามาได้ จนปัจจุบันถึง มิ.ย.63 ก็ยังเข้ามาไม่ได้ ต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศมีความสำคัญต่อการจับจ่ายใช้สอยอยู่มาก จากสถิติถือว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในหลายปีตามแผนภาพ ดังนั้นยังคงคำแนะนำ ถ่วงน้ำหนักน้อยสำหรับหลักทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2565 และที่ผ่านมามีการเก็งกำไรหุ้นกลุ่มนี้ไปพอควรแล้ว จึงควรระมัดระวังการเข้าลงทุน ด้านคำแนะนำล่าสุดเป็นไปตามตาราง
ด้าน นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมของกลุ่มธุรกิจโรงแรมในเครือทั่วโลกที่จะกลับมาปฏิบัติการในรูปแบบ New Normal อีกครั้งเช่นกัน โดยบริษัทกำหนด Reopening แบบเต็มรูปแบบดังนี้
โรงแรมในประเทศไทย จำนวน 28 แห่ง (5,009 ห้อง) สัดส่วนรายได้ 14% ซึ่งเริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการ โดยเริ่มจากโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ในปลายเดือนพฤษภาคม โรงแรมในหัวหินในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ส่วนโรงแรมบางแห่งในจังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย พัทยาและขอนแก่นมีกำหนดกลับมาเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2563
ขณะที่โรงแรมในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 29 แห่ง (2,988 ห้อง) โดยไม่นับรวมโรงแรมในประเทศไทย สัดส่วนรายได้ 4% โดยโรงแรมในประเทศจีนและในประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จในการกลับมาเปิดให้บริการแล้ว ตามการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียที่ส่งสัญญาณบวกตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมในเครือของไมเนอร์ที่ตั้งในภูมิภาคนี้ เพราะกลุ่มลูกค้าของโรงแรมมากกว่า 60% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
ส่วนโรงแรมในเครือ NH Hotel Group จำนวน 343 แห่ง (51,151 ห้อง) สัดส่วนรายได้ 67% จะกลับมาให้บริการอย่างเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการโรงแรมประมาณ 60% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปเริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ หรือแม้แต่ออกประกาศการสิ้นสุดของการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลกจะเป็นในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยภาคธุรกิจต่างๆ จะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว ซึ่งเมื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้นักท่องเที่ยวจะออกเดินทางมากขึ้นและเพื่อความปลอดภัยในด้านสุขอนามัยของลูกค้าอันเป็นหัวใจสำคัญ ธุรกิจโรงแรมในเครือทั้งหมด 535 โรงแรมทั่วโลกจะปฏิบัติตามคำสั่งและแนวทางจากรัฐบาลแต่ละประเทศและองค์การอนามัยโลก
สำหรับ นางสาววรมน อิงคตานวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ERW แสดงความเห็นถึงทิศทางธุรกิจว่า แนวโน้มผลประกอบการช่วงครึ่งหลังปี 2563 คาดปรับตัวดีขึ้น และคาดไตรมาส 2/63 จะพ้นจุดต่ำสุด ภายหลังจากรัฐทยอยปลดล็อกดาวน์และล่าสุดมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ วงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดบริษัทจะได้รับประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจโรงแรม Hop Inn ในประเทศ เปิดให้บริการครบทุกแห่งแล้ว คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการเข้าพักเพิ่มขึ้น ส่วนโรงแรมอื่นๆ ในต่างประเทศจะเริ่มทยอยเปิดตามมา
ทั้งนี้ บริษัทได้เน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจและสภาพคล่องของบริษัทในช่วงภาวะวิกฤต ซึ่งปัจจุบันใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโรงแรมไปราว 200 ล้านบาท จากเดิมที่ ตั้งงบไว้ช่วงต้นปีคาดจะใช้ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งได้มีการชะลอการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องกระแสเงินสดภายในบริษัท
โดยล่าสุดบริษัทมีเงินสดจำนวน 1.4 พันล้านบาท และยังมีวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงิน 6.1 พันล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังเจรจาขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต