xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ยกเครื่องศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพิ่มไทม์ไลน์เกาะติดทุกกระบวนการทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ช่วยเลขาธิการ ฝ่ายกฎหมาย ก.ล.ต. ร่วมถกปัญหากระบวนการทำงานศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนในรายการ "คุยคุ้ยหุ้น" ช่อง NEWS1 เผยยกเครื่องศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ก.ล.ต.บูรณาการทำงานในเชิงรุก ให้ความสะดวกแก่นักลงทุนเข้าถึงได้ในหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์, วอล์กอิน สายด่วน 1207 หรืออีเมล ให้บริการต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้ง 7 วัน พร้อมตามติดทุกความคืบหน้าในขั้นตอนการดำเนินงาน

นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เปิดเผยถึงการปรับปรุงระบบศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากนักลงทุน ในรายการคุยคุ้ยหุ้น ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดยมีนายสุนันท์ ศรีจันทรา เป็นผู้ดำเนินรายการ ว่า การปรับปรุงกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานใหม่ในด้านการคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งในแง่ของสำนักงาน ก.ล.ต.เดิมทีนั้นที่ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนในระบบที่มีศูนย์บริการประชาชนในการอำนวยความสะดวก โดยใช้ชื่อว่า SEC Help Center ให้ความสะดวกแก่นักลงทุนเข้าถึงได้ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ หรือว่าวอล์กอินเข้ามาเพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ก็ได้ หรือจะโทรศัพท์มาก็มีเจ้าหน้าที่ สายด่วน 1207 หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการส่งอีเมล ซึ่งศูนย์ให้บริการนี้เปิดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้ง 7 วัน โดยนอกเวลาทำการก็จะมีการบันทึกข้อมูลไว้ และจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับในภายหลัง โดยส่วนใหญ่ศูนย์ให้บริการ ก.ล.ต.นอกจากจะรับเรื่องร้องเรียนแล้วยังให้บริการคำปรึกษาในเรื่องการลงทุนแก่ประชาชนเป็นส่วนใหญ่

“ทาง ก.ล.ต.เองก็มีการยกระดับปรับปรุงมาตรฐานการบริการให้ดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ถือได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญต่อหน่วยงานทุกๆ หน่วยงาน ซึ่งสิ่งที่ทำเพิ่มขึ้นมานั้นได้มีการปรับปรุงระบบให้มีความทันสมัยและชัดเจนมากขึ้น ในเรื่องของการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการ อย่างไรก็ดี การทำงานตรงนี้ก็เป็นที่เข้าใจว่ามีปัญหาในเรื่องของความล่าช้าของกระบวนการทำงาน นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนมาไม่สบายใจ ว่าทำไมกระบวนการตรวจสอบการทำงานถึงเป็นไปอย่างล่าช้า ทางสำนักงาน ก.ล.ต.มัวทำอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่ได้ยินเสียงร้องทุกข์ของนักลงทุน ซึ่งจริงๆ ในมุมของคนทำงาน โดยเฉพาะการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแล มีแง่มุมต่างๆ ที่ต้องมีการพิจารณาตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วน มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งบางทีการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลายที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวน เป็นสิ่งที่อาจจะกระทบต่อเรื่องที่กำลังตรวจสอบอยู่ก็ได้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต.ก็พยายามสร้างความสมดุลให้ผู้ที่ร้องเรียนเข้าใจกับทางฝ่ายตรวจสอบมากขึ้นว่าขณะนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังทำอะไรอยู่”

เพราะฉะนั้น ในกระบวนการที่ปรับปรุงใหม่ก็จะมีการรายงานในระหว่างที่กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งถือว่าเป็นภาพรวมของกระบวนการ การทำงานที่แท้จริงนั้นมีความหลากหลายสลับซับซ้อนในการตรวจสอบ โดยพิจารณารายละเอียดแต่ละประเภทมากน้อยไม่เท่ากัน

“ที่ผ่านมา ในเรื่องของการแจ้งความคืบหน้าเป็นสิ่งที่ทางเรากังวล ในเรื่องที่ว่าเราจะไปพูดอะไรที่ลงไปในรายละเอียดที่อาจจะสร้างผลกระทบต่อเรื่องที่กำลังตรวจสอบอยู่ หากมีนักลงทุนผู้ร้องเรียนทักท้วงทวงถามมาก็จะมีการอัปเดตในเรื่องของรายละเอียดที่ทาง ก.ล.ต.กำลังพิจารณาอยู่ ในแง่มุมของผู้ร้องเรียนอาจจะมีความสงสัยว่ากระบวนการพิจารณากำลังพิจารณาอะไร? ถึงไหนแล้ว และตอนนี้ทาง ก.ล.ต.กำลังทำอะไรอยู่? ซึ่งการปรับปรุงภาพรวมการทำงานใหม่นี้ก็จะเจาะจงในรายละเอียดถึงขั้นตอนการทำงานและความคืบหน้าให้นักลงทุนที่แจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้ทราบมากขึ้น เช่น การรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ในขั้นตอนใด แต่ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน และอีกประการหนึ่งคือ การให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่ถูกร้องเรียนด้วยเช่นกัน หากกระบวนการทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีการรายงานผลของกระบวนการทำงานให้ได้รับทราบเป็นรายกรณีไปว่ามีผลอย่างไร คืบหน้าถึงไหน”

ในสิ่งที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการปรับปรุงพัฒนา น่าจะมีการตอบโจทย์นักลงทุนและผู้ที่ร้องเรียนในตรงจุดนี้ ซึ่งในระยะต่อไปทางสำนักงาน ก.ล.ต.จะอยู่ในช่วงของการกำหนดแผนงานของผู้ที่ร้องเรียนจะสามารถเข้ามาดูได้ว่าสถานะของเรื่องร้องเรียนนี้อยู่ในระยะใด

โดยจากสถิติที่มีผู้เข้ามาร้องเรียนยังสำนักงาน ก.ล.ต.ในปีพุทธศักราช 2561 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทั้งให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำต่อนักลงทุน ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนกว่า 5,000 เรื่อง และ พ.ศ. 2562 มีจำนวนกว่า 6,000 เรื่อง โดยไตรมาสแรกของปีนี้มีนักลงทุนที่เข้ามาขอคำปรึกษาแล้วกว่า 1,000 เรื่อง

ขณะที่เรื่องร้องเรียนและชี้เบาะแสในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 700 เรื่อง และปี พ.ศ. 2562 ประมาณ 1,000 เรื่อง และไตรมาสแรกของปีนี้มีประมาณ 300 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ไม่ได้มีแค่การตั้งรับเรื่องร้องเรียนอยู่ภายในเฉพาะหน่วยงานที่ทำการอย่างเดียวเท่านั้น ยังได้มีการเดินสายทำงานเชิงรุกเพื่อรับเรื่องร้องเรียนยังสถานที่ต่างๆ เช่น การออกบูทในงานต่างๆ ที่จะไปให้ความรู้ในทีมของ SEC Health center ที่ไปให้บริการประชาชน จะไปช่วยในการให้คำแนะนำและในการรับเรื่องร้องเรียน

นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน ก็มีนโยบายในการลงพื้นที่ยังต่างจังหวัด ซึ่งในส่วนนี้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนก็เดินทางไปด้วย ซึ่งการออกไปพบปะประชาชนผู้ลงทุนทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำและการรับเรื่องร้องเรียนซึ่งมีการบูรณาการในเชิงรุก

ในส่วนของการร้องเรียนและการชี้เบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์มีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน?


เวลาที่ทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนนักลงทุน เริ่มต้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองก่อน ในส่วนทีม ก.ล.ต.ก็จะเข้าไปดูว่าเรื่องร้องเรียน ประการแรกอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของสำนักงาน ก.ล.ต.หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.ดูแลอยู่ มีข้อมูลหลักฐานในการดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดได้หรือไม่ แบ่งออกเป็นสองกรณีคือ หากเรื่องที่ไม่อยู่ในการกำกับดูแลและเห็นว่ามีข้อมูลมาพอสมควรทางสำนักงาน ก.ล.ต.ก็ไม่ได้มีการปฏิเสธไปยังผู้ร้องเรียนว่าเรื่องนี้ ก.ล.ต.ไม่ใช่หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนั้นๆ เช่น ถ้าเกิดเรื่องที่พบว่าเป็นแชร์ลูกโซ่เรื่องการหลอกลวงทางสำนักงานก็จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประการต่อมาหากเป็นเรื่องที่สำนักงานเป็นผู้กำกับดูแลก็จะมีการรวบรวมเอกสารหลักฐานข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งจะมีการติดต่อกลับไปยังผู้มาร้องเรียนหรือชี้เบาะแสว่าจะมีข้อมูลตรงนี้เพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดต่อไป โดยหากมีการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ส่วนที่รับเรื่องร้องเรียนก็จะส่งต่อไปยังส่วนงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ โดยอาจจะมีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงหรือมีการเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกซึ่งแล้วแต่เรื่อง ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนจะได้รับทราบ 1. ในเรื่องการตอบรับเรื่องร้องเรียน และ 2. ลำดับขั้นตอนกระบวนการทำงานขณะนี้อยู่ในขั้นไหน

“ในกระบวนการทำงานของ ก.ล.ต.ก็เหมือนกับการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ หรือเฉยๆ หรือกระทั่งไม่สนใจเลยก็มี แต่ว่าในเรื่องของเรื่องร้องเรียน ทาง ก.ล.ต.ก็ได้มีการสำรวจความพึงพอใจ พบว่าโดยส่วนใหญ่เป็นที่พอใจของประชาชนและนักลงทุน โดยเฉพาะจุดแข็งของ ก.ล.ต.ที่ประชาชนและนักลงทุนพอใจ คือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนมีการให้บริการรับฟังปัญหาและดำเนินการตรวจสอบ ขณะที่ในส่วนของการดำเนินคดีซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต.ดำเนินงานไปตามพยานหลักฐานและอำนาจที่มีอยู่"

ในการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในขอบข่ายการทำงานของ ก.ล.ต. มีการพิจารณาหรือไม่ว่าเรื่องใดเร่งด่วน เรื่องใดไม่เร่งด่วนด้วยหรือเปล่า?

การพิจารณาลำดับความสำคัญของเรื่องร้องเรียนของศูนย์รับเรื่องร้องเรียน โดยพิจารณาในแง่มุมของกฎหมาย สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคืออายุความซึ่งเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุด เพราะว่าหากเป็นเรื่องที่มีอายุความที่เร่งรัดอยู่แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต.จะต้องเร่งรีบทำก่อน ประการต่อมา ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูงก็จะต้องรีบหยิบขึ้นมาทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำในเรื่องที่ไม่เข้าข่าย เพราะในทุกเรื่องจะมีขั้นตอนกระบวนการการทำงานทั้งหมด ทั้งกระบวนการสอบทานการทำงานภายในของสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้หมายความว่าในกระบวนการการทำงานของ ก.ล.ต.จะไม่มีการตรวจสอบความคืบหน้าภายในองค์กร ซึ่งทาง ก.ล.ต.เองก็จะมีระบบที่จะต้องเขียนสรุปรายงานรายเดือนเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการในส่วนต่างๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นกระบวนการ เป็นกลไกที่จะทำให้เห็นว่าเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องจะได้รับการพิจารณา แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องจะนำไปสู่การดำเนินการตามกฎหมายไปเสียทั้งหมด

การปรับเปลี่ยนกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนจะนำไปสู่การแก้ปัญหาพฤติกรรมการกระทำผิดในตลาดหุ้นได้มากน้อยขนาดไหน?

ในส่วนนี้แยกออกเป็นสองส่วน คือ ในส่วนของการปรับปรุงกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ส่วนหนึ่งจะทำให้เรามีโอกาสถ้าผู้ร้องเรียนหรือผู้ชี้เบาะแสมีความเชื่อถือในกระบวนการ เราจะมีโอกาสในการได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับว่าเพิ่มโอกาสในการที่จะได้รับข้อมูลเบื้องต้นมาก่อน อย่างไรก็ดี ส่วนที่จะทำให้การกระทำความผิดลดน้อยลงไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางจำนวนผู้กระทำความผิดด้วยเช่นกัน ว่ามีความเกรงกลัวต่อกฎหมายหรือบทลงโทษมากน้อยแค่ไหน แต่ในด้านผู้ร้องเรียนก็จะมีความวางใจระบบและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

“ผู้กระทำความผิดก็ขึ้นอยู่กับบุคคลว่าถ้าเห็นมาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเข้มงวด ก็สามารถที่จะป้องปรามผู้กระทำความผิดได้ ก็น่าเชื่อว่าจะลดได้ในส่วนหนึ่ง แต่ในทางกลับกันหากมีกลุ่มบุคคลหรือบุคคลไม่มีความเกรงกลัวก็จะตอบได้ยากว่าจะสามารถลดได้หรือไม่”


จะมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นหรือไม่ว่า ก.ล.ต.เป็นกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์ที่มีประสิทธิภาพและมีการดำเนินการจริงๆ จังๆ ไม่ใช่เป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแล้วผู้ที่ไปร้องเรียนกลับทุกข์หนักกว่าเดิม?

ในขณะนี้ช่องทางการเข้าถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของ ก.ล.ต.มีความหลากหลาย ทั้งฮอตไลน์ 1207 ซึ่งเรื่องที่มีผู้เข้ามาร้องเรียนมากที่สุดจากสถิติได้แก่การประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์หรือการแนะนำการลงทุนเป็นในหน้าที่ไม่ได้รับใบอนุญาต หรือในระยะหลังกระแสคือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามยุคสมัย อีกประการหนึ่งคือการเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ชักชวนไปลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ที่ ก.ล.ต.ไม่ได้อนุญาต หรือประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งหลายกรณีที่เกิดขึ้นก็ได้มีการเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นการหลอกลวงว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจากการตรวจสอบเข้าไปในรายละเอียดพบว่าหลายกรณีไม่ได้มีการเกี่ยวโยงใดกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.ก็ได้มีการประสานงานต่อไปยังหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องของการหลอกลวงชักชวนลงทุนโดยตรง เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่มีผู้เข้ามาร้องเรียนเป็นจำนวนมากถือว่าขึ้นเรตติ้งอันดับหนึ่ง

ขณะที่เรื่องที่มีการร้องเรียนรองลงมา ได้แก่ พฤติกรรมการกระทำความผิดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการบ้าง การเปิดเผยข้อมูลบ้าง แต่ในบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบของ ก.ล.ต. เช่นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภค ซึ่งทาง ก.ล.ต. ก็ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้องหากมีข้อมูลเพียงพอ

ระหว่างเรื่องร้องเรียนรายบุคคลกับรายกลุ่มอย่างไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน?


ในกระบวนการสืบสวน สิ่งที่สำคัญคือพยานหลักฐาน ไม่ว่าท่านจะมาคนเดียวหรือจะมาหลายคน ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จะพิจารณาจากพยานหลักฐาน แต่ตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งถ้ามีหลายท่านมาจะเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้เมื่อ ก.ล.ต.เข้าไปดูแลจริงๆ ก็จะพิจารณาตามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีปัญหาเรื่องตราสารหนี้และหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก ตรงนี้ ก.ล.ต.มีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร?


ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการขอคำแนะนำปรึกษามากกว่า เช่นตัวตราสารมีปัญหา ก.ล.ต.จะมีส่วนในการเข้ามาประสานงานดูแลอย่างไรได้บ้าง ในบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลว่ากันตามกฎหมายจริงๆ ก็ต้องมีหน้าที่ดูแลในเรื่องของการอนุญาตการเปิดเผยข้อมูล แต่หากผู้ลงทุนมีความเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ก็จะมีการประสานงานให้ อาจจะมีการติดต่อกับบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องถ้าหุ้นกู้นั้นมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มีตัวกลางที่เป็นผู้จัดจำหน่าย สำนักงาน ก.ล.ต.ก็เป็นตัวกลางให้ในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อหาข้อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น

กรณีปัญหาที่ถึงกำหนดวาระไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ไม่ได้ไถ่ถอน หรือการผิดนัดชำระหนี้ ก.ล.ต.จะลงไปแก้ไขอะไรได้หรือไม่?

ในแง่ของการเรียกร้องความเสียหายแม้ว่า ก.ล.ต.จะไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะไปเรียกร้องให้แต่สิ่งที่จะสามารถช่วยได้คือการไปดูว่ามีกระบวนการที่เกี่ยวข้องมีคนที่จะมาช่วยดูแลอย่างไร อย่างเช่น ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางที่มีส่วนในการขายตราสารเหล่านั้น จะช่วยให้คำแนะนำอย่างไรได้บ้าง นอกจากนั้น ในแง่ของการเยียวยาผู้ลงทุน ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุน ที่จะให้ผู้ลงทุนมีความรู้ช่องทางที่ท่านจะเยียวยาผลกระทบจากความเสียหายมีอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class action ที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต.พยายามให้ความรู้เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิของตัวนักลงทุนเอง ว่าจะมีช่องทางในการดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ระยะเวลาในการดำเนินการต่อเรื่องร้องเรียนนานมากน้อยแค่ไหน?

ถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริง สิ่งที่เกิดขึ้นการดำเนินการตามกฎหมายจะต้องมีการสืบหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีความซับซ้อนมากๆ หรือแม้กระทั่งเกี่ยวพันไปจนถึงการทำธุรกิจหรือความเสียหายไปยังต่างประเทศก็จะต้องใช้เวลามากกว่าที่มีความซับซ้อนน้อยเป็นธรรมดา อีกประการหนึ่งคือ บุคคลที่ถูกร้องหรือถูกกล่าวหาก็มีสิทธิที่จะชี้แจงด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง ก.ล.ต.ก็ต้องให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ ก.ล.ต.ในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้มากขึ้นว่า หากมีการร้องเรียนไปยัง ก.ล.ต. และ ก.ล.ต.รับทราบแล้วจะได้รับการตอบสนองอย่างดีและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม




กำลังโหลดความคิดเห็น