ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินจีดีพีไทยปีนี้ -5% จับตาการระบาดรอบ 2 สงครามการค้าสหรัฐฯ คาด กนง.คงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า แต่จะลดอีกครั้งในไตรมาส 3 พร้อมติดตามนโยบายการเงินผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ แนะโฟกัสช่วยเอสเอ็มอี
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า สแตนด์ชาร์ดมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและระยะถัดไปใน 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความไม่แน่นอนในทิศทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นมีแนวโน้มดีขึ้น สถานการณ์ในหลายด้านมีความคืบหน้าในทางที่ดีมากขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจริงยังไม่สะท้อนภาพดังกล่าวที่ชัดเจน จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ที่ออกมา -1.8% นั้น สแตนด์ชาร์ดคาดการณ์ไตรมาส 2 ที่ -13% และเป็นไตรมาสที่หลายสถาบันก็มองกันว่าจะเป็นจุดต่ำสุด แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือการกลับมาระบาดระลอกที่ 2 ดังนั้น แม้จะมีแนวโน้มการควบคุมโรคที่ดี มีการผ่อนคลายความเข้มงวดต่างๆ มากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควรเช่นกัน
ทั้งนี้ สแตนด์ชาร์ดประเมินอ้ตราการเติบโตของเศรษฐกิจใน 3 กรณีด้วยกัน ได้แก่ กรณีกลางๆ ในสมมติฐานต้นปีหน้าสามารถทดลองวัคซีนโควิด-19 สำเร็จในกลางปีหน้าคาดการณ์จีดีพีไทยที่ -5% กรณีดี คือมีวัคซีนภายในปีนี้และไม่มีการระบาดระลอก 2 คาดการณ์จีดีพีไทยที่ -3% และกรณีแย่คือ การคิดค้นวัคซีนไม่ทันปีหน้าและมีการระบาดระลอก 2 คาดการณ์จีดีพีไทยที่ -10% เนื่องจากหากมีการระบาดระลอก 2 ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง การป้องกันเป็นเรื่องหลัก ต้องพักเรื่องธุรกิจเศรษฐกิจ ทำให้ติดลบมากขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่ไทยจะกลับไปเติบโตได้ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดการณ์ปีหน้าจีดีพีเติบโตต่ำกว่า 2%
พร้อมกันนั้น จากสภาวการณ์ปัจจุบัน สแตนด์ชาร์ดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ภาคการใช้จ่ายจะค่อยๆ กับมาตามการผ่อนคลายของมาตรการที่มากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศทั้งเมืองหลักเมืองรอง ขณะที่ไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจากจีน หรือประเทศในภูมิภาคก็น่าจะเริ่มกลับเข้ามา แต่คงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และดูเป็นรายประเทศอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นอีกปัจจัยที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ธนาคารคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิม แล้วกลับมาลดอีกครั้งในไตรมาส 3 ในอัตรา 0.25% ซึ่งถือเป็นการลดครั้งที่ 4 ของปีนี้ และเป็นครั้งที่ 5 ของรอบการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ และที่สำคัญคือ การหมดวาระผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน ก.ย.นี้ และแนวทางการดำเนินนโยบายผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งคนใหม่ ทั้งในกรณีการทำ QE ที่น่าจะเป็นการเข้ามาดูแลตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร แต่ในส่วนของภาคเศรษฐกิจที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งในจุดนี้เป็นความท้าทายและเป็นสิ่งที่ตลาดสนใจ และอยากได้รับการสื่อสารที่ชัดเจนจากผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึง 40%
"คำถามที่เรามักจะเจอก็คือ ถ้าดอกเบี้ยไปถึงระดับ 0.25%แล้ว จะลงไปอีกได้หรือไม่ อยู่ที่ 0%หรือต่ำกว่าได้หรือไม่ ในสภาวะที่เศรษฐกิจโตติดลบ อัตราเงินเฟ้อติดลบอยู่ ก็คงไม่ผิดซะทีเดียวที่ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ ซึ่งเกิดขึ้นหรือไม่ หรือเมื่อไหร่ก็คงต้องติดตามดูหลายด้าน รวมถึงนโยบายของผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ด้วย"
ส่วนค่าเงินบาทซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตาม จากในปีก่อนที่เงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาคที่ 8% จาก 32.50 มาที่ระดับ 29.00 ปลายๆ ส่วนในปีนี้ช่วงแรกเงินบาทอ่อนค่าเกือบที่สุดในภูมิภาค แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลับขึ้นมาแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ ธปท.เริ่มมึความกังวลในด้านการเก็งกำไรและติดตามดูอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ขณะที่ธนาคารเองประเมินแนวโน้มเงินบาทค่อยๆ แข็งค่าขึ้นคาดการณ์ ณ สิ้นปีที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในปลายปี หากไม่มีการระบาดระลอก 2
ด้านความเสี่ยงมองใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะกรณีสงครามการค้า และแนวนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ในช่วงการเลือกตั้งปลายปีนี้ ซึ่งหากเกิดสงครามการค้าขึ้นอีกเศรษฐกิจไทยก็จะกระทบมากกว่าเดิมเนื่องจากไม่มีการท่องเที่ยวประคอง ขณะที่ปัจจัยในประเทศเป็นกรณีการนำ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทเข้าสู่สภาฯ ซึ่งก็คงต้องรอผลในอีก 2-3 วันข้างหน้าว่าจะราบรื่นหรือไม่ รวมถึงความเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาฯ ด้วย และประเด็นความเสี่ยงการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ซึ่งมีความเสี่ยงโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ธุรกิจไทยพึ่งพาอยู่ ดังตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ดังนั้น หากธุรกิจเปิด มีการกลับเข้ามาของแรงงานต่างด้าวก็จะต้องมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มข้น
นายทิม กล่าวว่า ในอนาคตจะเห็นมาตรการทางการคลังเข้ามามีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากนโยบายการเงินใช้ได้จำกัด ดังนั้น จึงอยากให้ผู้กำกับดูแลติดตามประเมินผลในส่วนของมาตรการที่ออกไปแล้วว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ขณะที่ ธปท.เองแม้การใชันโยบายการเงินด้านดอกเบี้ยจะมีจำกัดแล้ว จึงควรมีแนวทางการใช้มาตรการรูปแบบใหม่เข้ามา เช่น การทำ QE แต่ควรไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีถึง 40% ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแม้จะมีเงินกู้ซอฟต์โลนที่ ธปท.ทำอยู่แต่ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา