ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงต้องระมัดระวังแม้ว่าจะเห็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัว ในขณะที่ยังมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงต่ำกว่า 0.25%
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารมองว่าน่าจะใช้เวลาอีกมากกว่า 2 ปี กว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าบรรยากาศเริ่มดีขึ้น ในขณะที่ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดทำการ และรัฐบาลได้ให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนเมษายน ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 5 ในปี 2563 โดยหดตัวร้อยละ 13 ในไตรมาส 2 ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง
“ภาคส่งออกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวและน่าจะได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดดำเนินงานของจีน รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในตลาดอื่น ตัวเลขในเดือนมิถุนายนน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศหลังจากที่ประเทศไทยเริ่มเปิดให้กลับมาดำเนินกิจการตามปกติในเดือนพฤษภาคม ถึงกระนั้น เราคิดว่าการฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกัน การลงทุนน่าจะฟื้นตัวในปีหน้าหรือหลังจากนั้น เพราะโควิด-19 น่าจะชะลอการลงทุนและโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนไปอีก ส่งผลให้เศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ”
นอกจากนี้ ตัวเลขของภาคอุตสาหกรรมอื่นที่รองลงมาสะท้อนให้เห็นการชะลอตัวในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ดังนั้น ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะเห็นผลชัดเจนในไตรมาส 2
ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ 1.8 จากปีก่อน (หดตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลังปรับฤดูกาล) โดยตลาดคาดว่าหดตัวร้อยละ 3.9 จากปีก่อน (หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) นับเป็นการหดตัวครั้งแรกเมื่อเทียบปีต่อปีของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557
มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 0.25% "เราคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงอีก 0.25% ในไตรมาสที่ 3 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ 0.25% อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงไปต่ำกว่า 0.25% แม้จะไม่น่าจะถึงติดลบ แต่ก็มีความเป็นไปได้"
อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ห่างจากศักยภาพของประเทศที่สามารถโตได้ร้อยละ 4% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 1-3 ของ ธปท.