สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ถือว่าผ่านช่วงพีกที่สุดมาได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลัก 100 คนในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ลดจำนวนลงมาเหลือเพียงหลักหน่วยในช่วงต้นเดือน พ.ค. แต่กว่าจะมาถึงวันนี้โควิด-19 ก็ได้สร้างความปั่นป่วนไปทุกอุตฯ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายเล็ก จากมาตรการของภาครัฐทั้งการปิดเมือง ปิดสถานประกอบการต่างๆ รวมถึงขอความร่วมมือในการ Work From Home และ Social distancing
ผลกระทบจากสถานการณ์นี้ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวอย่างหนัก และอาจใช้เวลาฟื้นตัวยาวนาน ความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงตกมาอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้
“อุตสาหกรรมก่อสร้าง” หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล ภาครัฐจึงวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งการลงทุนด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนเดิมที่วางไว้ ด้วยวงเงินการลงทุนจำนวน 1.09 ล้านล้านบาท และแม้ว่าการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบบ้างแต่อุตสาหกรรมก่อสร้างก็สามารถตั้งการ์ดรับมือกับสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะ “ไซต์งานก่อสร้าง” ที่อาจดูเหมือนจุดรวมความเสี่ยงในการติดเชื้อ
เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดตามมาตรการของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนนโยบายความร่วมมือต่างๆ จากภาครัฐให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับแผนการดำเนินงานรองรับให้เหมาะสมต่อสถานการณ์
ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “PPS” ดำเนินธุรกิจวิศวกรที่ปรึกษาให้บริการด้านบริหารและควบคุมการก่อสร้างงานแขนงต่างๆ กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในอุตสาหกรรมก่อสร้างว่า แม้ธุรกิจก่อสร้างจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ แต่ก็ได้รับผลกระทบในหลายๆ เรื่อง ได้แก่ ด้านการหาทรัพยากรทั้งแรงงาน วัสดุก่อสร้าง และยังได้รับผลกระทบด้านเวลาในการทำงาน โดยเฉพาะกับไซต์งานในพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดพื้นที่และการกำหนดเคอร์ฟิว สำหรับการป้องกันปัญหาการถกเถียงกันทางสัญญาก็สามารถทำได้โดยการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้เป็นข้อมูล เช่น ระยะเวลาก่อสร้างล่าช้าไปกี่วัน วัสดุก่อสร้างอะไรที่หายาก เป็นต้น
ปัจจุบัน PPS มีไซต์งาน จ.ภูเก็ตพื้นที่เดียวที่หยุดการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าสถานการณ์จะไม่ส่งผลกระทบอีกนานนัก เพราะปัจจุบันหน่วยงานเริ่มมีการปรับตัวกันได้แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของงานใหม่ในอนาคต ว่าจะออกมาต่อเนื่องหรือไม่จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างมากกับลูกค้าหลักของ PPS ที่เป็นกลุ่มค้าปลีก และที่อยู่อาศัยของลูกค้าภาคเอกชน ซึ่งบริษัทคาดว่างานของภาครัฐน่าจะออกมาต่อเนื่องและออกมาเพิ่มเพื่อเพิ่มความมั่นใจ และทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ บริษัทจึงต้องปรับตัวให้สามารถรับงานของภาครัฐได้
กลยุทธ์ที่บริษัทใช้ในการบริหารจัดการบุคลากรคือ พิจารณาส่งพนักงานไปทำงานโครงการที่ยังดำเนินงานต่อไปได้หรือโครงการที่ยังขาดคน รวมถึงการฝึกและเพิ่มทักษะเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงานให้ทำงานได้ในสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการรับงานภาครัฐ การมีใบประกอบวิชาชีพ และทักษะด้านงาน Claim เนื่องจากเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วอาจส่งผลให้สภาพธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นี้จึงถือเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้บริษัทได้ทบทวนการปฏิรูปกระบวนการดำเนินธุรกิจ
และระหว่างที่เกิดสถานการณ์อยู่นั้น บริษัทก็พัฒนาระบบในการบริหารงานก่อสร้างที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทได้เพิ่มขึ้นโดยใช้คนที่น้อยลง และคาดหวังว่าจะให้สามารถพร้อมใช้ได้ทันทีที่สถานการณ์กลับเป็นปกติกว่านี้
นายทักษิณ ตันติไพจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) “FTE” ผู้นำธุรกิจนำเข้าและจำหน่าย บริการออกแบบ รับเหมาติดตั้ง ซ่อมแซม ตรวจสอบอุปกรณ์-ระบบดับเพลิงครบวงจร กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงานมากขึ้น แต่การดำเนินงานของบริษัทยังคงเป็นไปตามแผน พร้อมรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณการหยุดหรือชะลองานในระยะนี้
ในส่วนของงานติดตั้งระบบ บริษัทมีมาตรการการป้องกันให้ทีมงานอย่างเข้มงวด และจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ไซต์งานที่บริษัทต้องเข้าไปติดตั้งในแต่ละพื้นที่มีขั้นตอนและเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่แตกต่างกันไป เช่น พื้นที่ทางภาคใต้ต้องยื่นเอกสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องกักตัวก่อนเข้าดำเนินงาน 14 วัน ซึ่งการติดตั้งระบบเป็นงานที่ต้องประจำการอย่างน้อย 3 เดือนอยู่แล้ว การเพิ่มระยะเวลาสำหรับการกักตัวจึงไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก ส่วนต้นทุนของทีมงานก็อาจมีเพิ่มขึ้นบาง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ ส่วนของงานด้านบริการ ตรวจสอบ ซ่อมบำรุง เนื่องจากบริษัทมีลูกค้าที่ Work From Home จึงขอพักหยุดรับการบริการ ซึ่งขนาดของงานให้บริการมีสัดส่วนเพียง 2-3% ของธุรกิจโดยรวม จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของพนักงานที่ประจำออฟฟิศ บริษัทได้ทำแผนเรื่อง Work From Home ตอบสนองนโยบายภาครัฐ เพื่อควบคุมการระบาด นอกจากนี้ บริษัทมีเทคโนโลยีการบริหารจัดการทางธุรกิจ ERP (Enterprise Resource Planning) จาก SAP Business ByDesign เวอร์ชัน “NetizenArabica” เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันได้อย่างครอบคลุม และมีความแม่นยำมากขึ้น ตั้งแต่การบริหารโครงการ การจัดการต้นทุนของโครงการ การจัดการสินค้าคงคลัง อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการโดยรวมขององค์กรในระยะยาว
นายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “KUMWEL” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบต่อลงดิน ระบบป้องกันฟ้าผ่าและระบบแจ้งเตือนฟ้าผ่าอย่างครบวงจรตามมาตรฐานสากล ภายใต้ตราสินค้า “Kumwell” กล่าวว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทเล็งเห็นความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของพนักงานทุกคน รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นอย่างดี และมอบนโยบายแก่พนักงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ช่วงที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น พนักงานบางส่วนที่เข้าปฏิบัติงานในการตรวจสอบและติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบโดยมีอุปสรรค ทั้งในเรื่องการติดต่อขอเข้าพื้นที่ การใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความลำบาก แต่ก็ยังตระหนักถึงความสำคัญตามนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ส่วนลูกค้าที่ใช้บริการ “Smart Lightning Management System” ระบบป้องกันฟ้าผ่าแบบอัจฉริยะ และ Kumwell Lightning Warning System ระบบแจ้งเตือนฟ้าผ่า” ในกรณีที่เกิดปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องหรือเกิดภัยคุกคามจากฟ้าผ่าในช่วงของการเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส ก็สามารถมอนิเตอร์สถานะการทำงานของระบบพร้อมทั้งแก้ไขในส่วน Hardware และ Server ผ่านทางออนไลน์ได้ทันที ซึ่งช่วยลดการเข้าพื้นที่ของพนักงาน อีกทั้งทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจถึงการทำงานของระบบการเตือนภัยและป้องกันฟ้าผ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป