แนวโน้มธุรกิจหุ้นกลุ่มลีสซิ่งแกร่ง คาดผลกระทบจาก โควิด-19 กดดันเพียงเล็กน้อย แม้ถูกมาตรการของแบงก์ชาติให้ช่วยเหลือลูกค้าโดยการยืดชำระหนี้ เหตุหลายบริษัทฐานะการเงินและสภาพคล่องแข็งแกร่ง แม้ร่วมแคมเปญช่วยเหลือ ทำให้ภาพรวมอย่างน้อยที่สุด MTC โตต่อเนื่องไม่สน โควิด-19
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) พบว่า บริษัทยังคงอยู่ในแผนกลยุทธ์ระยะกลางซึ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตผ่านการเปิดสาขา โดยในปีนี้มีแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 600 แห่ง ทำให้จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 สาขา และจะประกาศแผนกลยุทธ์ 3 ปีถัดไป (2564-2566) ในช่วงกลางปี ทำให้เชื่อว่าในปี2563 จะเป็นปีที่บริษัทเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยกลยุทธ์ในการรักษาสมดุลการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ และคุณภาพของสินทรัพย์ควบคู่กัน
ส่วนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย จนภาครัฐได้ออกมาขอให้ผู้ประกอบการช่วยลูกหนี้ นั้น MTC ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบลูกหนี้ที่ได้รับ ความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดแล้ว โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทุกสาขา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า โดยลดค่าผ่อนชำระ ต่องวดลงเหลือ 70% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2563 อย่างมี นัยสำคัญเช่นกันเนื่องจาก ยอดสินเชื่อไตรมาส1/63 พบว่ายังเติบโตดีโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และยังเป็นไปตามเป้า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ส่วนเดือนมีนาคมอาจลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์ระบาดไวรัส โควิด-19 ดังนั้นการตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตทั้งปี 20-25% เช่นเดียวกับการควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 2% ยังเป็นไปตามที่บริษัทวางเป้าหมายไว้และอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา MTC แจ้งผลงานไตรมาสแรกปี 63 ว่ามีกำไรสุทธิ 1,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 232 ล้านบาท หรือ สูงขึ้น 23.08% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,005 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง 62,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,947 ล้านบาท หรือ 23.61% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 50,592 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทฯมีสาขา 4,473 สาขา จาก 4,700 สาขาที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ ขณะที่คุณภาพหนี้หรืออัตราส่วนหนี้เสียสำหรับไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 1.18% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญจากไตรมาสที่แล้ว
“แม้ว่าในปีนี้ จะเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามา แต่เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานด้วยความระมัดระวังตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ผลการดำเนินงานปีนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของพอร์ตสินเชื่อ รายได้ และกำไร โดยคาดว่าสินเชื่อในปีนี้จะเติบโต 20-25% และสามารถคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้เกิน 2% ตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี” ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร MTC กล่าว
นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า MTC มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ และเพียงพอสำหรับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะของความร่วมมือให้บริษัทฯช่วยเหลือลูกค้าในการพักชำระหนี้ และลดการชำระค่างวดลงก็ตาม ยิ่งกว่านั้น MTC ยังได้รับการจัดสรรในวงเงิน 5,000 ล้านบาท จาก Soft Loan ของกระทรวงการคลังที่ให้กลุ่มนอนแบงก์กู้ผ่านธนาคารออมสินในอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี เพื่อนำไปปล่อยกู้ช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้สินเชื่อขยายตัวต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง และส่วนหนึ่งช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสียให้กับบริษัทฯได้ด้วย
ขณะที่ บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินทิศทางธุรกิจของ MTC ว่า คาดไตรมาส1/63 กำไรสุทธิของบริษัทจะอยู่ที่ 1.23 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ9% จากไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นสถิติใหม่ของบริษัท ขณะเดียวกันพอร์ตสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 22.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ3%จากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ อยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายการตลาดลดลง เป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการ โดยผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐฯ คาดว่าจะกระทบผลประกอบการไม่เกิน 3.8%
SAWAD ยืนยันฐานะการงินแข็งแกร่ง
บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD) รายงานว่า การปล่อยสินเชื่อของกลุ่มศรีสวัสดิ์ จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายและภายหลังจากที่ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด – 19 ทางกลุ่มศรีสวัสดิ์ ก็พร้อมให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือลูกค้า และยืนยันว่าการดูแลลูกค้าดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของบริษัทแต่อย่างใดเพราะปัจจุบันบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้กว่า 5 – 6 พันล้านบาท ที่พร้อมจะนำมาปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทำให้ในปี 2563 บริษัทยังคงเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้เติบโต 20-30% จากปีก่อน 4 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทได้ประเมินสถานการณ์ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 จะคลี่คลายได้ในช่วงไตรมาส 3/63 และหลังจากนั้นคาดว่าจะมีความต้องการสินเชื่อค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ส่วนระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2/63-ไตรมาส 3/63 จากผลกระทบของ โควิด-19 แต่บริษัทได้ดูแลติดตามลูกค้าและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือที่ให้ลูกค้าชำระค่างวด 70% และจะมีการพิจารณาให้พักชำระหนี้ในลูกค้าบางราย
พร้อมกันนี้ SAWAD ยังคงเดินหน้าแผนการขยายสาขาใหม่ 300-400 สาขา จากปีก่อนที่มีสาขาทั้งหมด 4,000 สาขา
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเมินทิศทาง SAWAD ว่า ปรับลดประมาณการกำไรปี 63-64 ลง 8-9% เพื่อสะท้อนผลกระทบจาก โควิด-19 ต่อการเติบโตของรายได้ที่ลดลงและต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น แต่ไม่กังวลเรื่องสภาพคล่องเนื่องจาก SAWAD มีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้ใช้ประมาณ 6 พันล้านบาท แต่กังวลเกี่ยวกับสินเชื่อจำนองโฉนดที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจส่วนตัวที่มีความเสี่ยงสูง โดยคาดว่า SAWAD จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส1/63 ที่ 977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่ง แต่ลดลง 11% จากไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่สินเชื่อจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 3% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ NIM คาดว่าจะลดลง 100 bps จากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่ลดลง และบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายสาขาและการติดตามหนี้ สำหรับอัตราส่วน NPL คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 30bp เป็น 4.1% ในไตรมาส1/63 เนื่องจากโควิด -19 และการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การเติบโตของรายได้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมจะชะลอตัวเนื่องจากมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาหนี้เพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์มากกว่าเปิดสาขาใหม่ในไตรมาส 2/63 โดย SAWAD ได้ลดเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันลงเหลือ 20% จาก 40% สำหรับสินเชื่อจำนำโฉนดที่ดิน และ 40% จาก 45% สำหรับสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งจะช่วยควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสินเชื่อที่ลดลง ทั้งนี้ SAWAD ได้มอบข้อเสนอให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โดยให้เลือกระหว่าง (1) ยืดเวลาการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลาสามเดือน หรือ (2) ลดอัตราผ่อนชำระรายเดือนลง 30% เป็นเวลาหกเดือน นั่นทำให้คาดว่า SAWAD จะมีการตั้งสำรองเพิ่มเติมโดยการหักส่วนของผู้ถือหุ้นโดยตรงจากงบดุลเนื่องจาก NPL coverage ลดลงเหลือ 57% ในปี 2562 จาก 97% ในปี 2561 ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่องบกำไรขาดทุน แต่มูลค่าทางบัญชีจะลดลงจากฐานทุนที่ปรับลดลง
TK ในประเทศหด -ตปท.ช่วยชดเชย
สำหรับ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK) เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจปีนี้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Loan) จะลดลงจากปีก่อน ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมน่าจะลดลงด้วย จากภาพรวมตลาดรถยนต์ที่คาดว่าจะติดลบ 6-7% และตลาดรถจักรยานยนต์ที่คาดว่าจะติดลบ 1% แต่การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นคาดการณ์ก่อนเกิดสถานการณ์ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยหากพิจารณาภาพรวมตลาดในช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมาพบว่าภาพรวมตลาดชะลอตัวไป การปล่อยสินเชื่อลดลง ความสามารถในการชำระหนี้เริ่มเห็นสัญญาณการจ่ายหนี้ที่ช้าลง และเห็นการผิดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เป้าหมายแผนธุรกิจต่างๆ ยังคาดการณ์ได้ยากจากสถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ให้การบริการจัดการ และลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงพยายามควบคุมคุณภาพลูกหนี้ และมีการปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ใกล้เคียงที่ระดับ 4.5%
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อในประเทศอาจลดลง แต่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศยังเห็นการเติบโตที่ดี โดยปี 2562 ยอดปล่อยสินเชื่อเติบโตได้ 20% คาดว่าปีนี้จะยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการไมโครไฟแนนซ์ในประเทศเมียนมา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในเดือนมีนาคม เช่นกัน
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งโควิด-19 สงครามน้ำมัน ทำให้ภาพรวมเป้าหมายปีนี้ประเมินได้ยากมาก แต่โดยรวมก็ คาดว่าสินเชื่ออาจจะลดลง ตามภาพรวมตลาดเพราะปีที่ผ่านมา GDP ยังเติบโต 2% แต่ปีนี้น่าจะต่ำกว่า 2% ซึ่งบริษัทต้องมีการบริหารจัดการดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการภายในมากขึ้นเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพลดต้นทุน"
บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินทิศทางธุรกิจ TKว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อในประเทศยังอ่อนแอ โดยยอดขายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในประเทศยังคงหดตัวจากปี 2562 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบไวรัส โควิด-19 และภัยแล้ง อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดต่างประเทศจะช่วยชะลอการหดตัวของตัวเลขสินเชื่อโดยรวม หลังจากบริษัทได้เปิดดำเนินการสาขาใหม่ในกัมพูชาเพิ่ม 6 สาขา รวมแล้วมี 12 สาขา และคาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการสาขาใหม่ในลาว และเมียนมาร์เพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20.0% จากปัจจุบันที่ 15.5%
ทำให้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ขึ้น จากปรับลดสมมติฐานอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost-to-Income ratio) ลงเหลือ 52.1% จากเดิม 55.0% จากแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่ลดลง หลังปิดสาขาในปี 2562 ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานลดลง และคาดค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองลดลง หลังจากบริษัทมีอัตราส่วนการตั้งสำรอง (Coverage ratio) สูงถึง 193.5%
อีกทั้งคาดว่าจะมีการกลับสำรองส่วนเกิน หลังจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 โดยคาดจะมีอัตราส่วนการตั้งสำรอง (Credit Cost) ที่ 11.4% อย่างไรก็ตาม มีการปรับสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อลงจากเดิมคาดว่าจะเติบโต 1.0% เป็นติดลบ 10.0% เนื่องจากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ และเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด ดังนั้นจากการที่ในระยะสั้น บริษัทเริ่มรักษาผลประกอบการ ด้วยการลดค่าใช้จ่าย ทั้งจากจำนวนพนักงานที่ลดลง รวมถึงนำ IT เข้ามาช่วย ทำให้ผลประกอบการปี 2563 คาดจะเติบโต 4.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นทั้ง MTC , SAWAD และ TK ต่างเทรดในแดนเขียวทั้งหมด โดยเฉพาะ MTC หลังจากประกาศงบไตรมาสแรกออกมาสวยงามกับกำไรสุทธิ 1,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 232 ล้านบาท หรือ สูงขึ้น 23.08% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หุ้นบวกไปถึง 1 บาทจากราคาปิดวันก่อน นั่นจึงถือได้ว่าไวรัสโควิดใช่จะพ่นพิษใส่ทุกกิจการ เพราะบางครั้งก็อาจไม่ได้ส่งผลต่อบางธุรกิจมากนักหรืออาจไม่ทำให้สะเทือนเลยก็เป็นได้