xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรม MTC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาหุ้นบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC แทบลงไปกองอยู่กับพื้น หลังจากมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ บุกตรวจสำนักงานใหญ่และสาขาอีกหลายแห่ง และเก็บเอกสารเป็นหลักฐาน เนื่องจากถูกร้องเรียนว่า ปล่อยเงินกู้เช่าซื้อรถและจำนำรถ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด

ผู้บริหาร MTC ยอมรับว่า ถูกลูกค้าร้องเรียน และตำรวจกองปราบฯ บุกตรวจค้นสำนักงานจริง แต่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยยืนยันว่า ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดย คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 20% ขณะที่สินเชื่อบุคคลกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ส่วนการยึดรถลูกค้าประมูลขายทอดตลาด เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ไม่ว่าผู้บริหาร MTC จะชี้แจงอย่างไร ก็ไม่อาจหยุดความตื่นตระหนกของนักลงทุน ซึ่งพากันเทขายหุ้นออกทันที เพราะไม่แน่ใจว่า บริษัทลีสซิ่งรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ จะถูกดำเนินคดีข้อหาใดบ้างหรือไม่

หุ้น MTC เป็นหุ้นบริษัทลีสซิ่งยอดนิยมตัวหนึ่ง ราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อสิ้นปี 2562 ปิดที่ 64 บาท และขยับขึ้นไปสูงสุดที่ 65.50 บาท เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ก่อนจะร่วงลงมา เนื่องจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 จนสร้างจุดต่ำสุดในรอบปีที่ 29.50 บาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา

ตั้งแต่เกิดวิกฤต “โควิด-19” หุ้นกลุ่มบริษัทลีสซิ่งและบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อบุคคลทรุดลงมาตลอด เป็นขาลงเต็มตัว โดย MTC ลงมาแล้วกว่า 50% เพราะนอกเหนือจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว นักลงทุนยัง กังวลในปัญหาหนี้เสีย และถูกซ้ำเติมด้วยการถูกกองปราบบุกตรวจตามข้อร้องเรียน ปล่อยสินเชื่อโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด

2 ผู้บริหารระดับสูงของ MTC เพิ่งติดอันดับมหาเศรษฐีหุ้นประจำปี 2562 โดยนางดาวนภา เพ็ชรอำไพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ถือหุ้น MTC มูลค่า 41,040 ล้านบาท ติดอันดับที่ 7 เศรษฐีหุ้น และนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร MTC ถือหุ้นมูลค่า 40,841.21 ล้านบาท ติดอันดับ 8 เศรษฐีหุ้น

การติดอันดับเศรษฐีหุ้นของผู้บริหาร MTC คู่สามีภรรยา เกิดจากบริษัทสามารถสร้างผลกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับบริษัทลีสซิ่งและบริษัทปล่อยสินเชื่อบุคคลอื่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะนอกจากสามารถโขกดอกเบี้ยสูงๆ จากลูกค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยัง มีรายได้จากค่าธรรมเนียมจิปาถะ

ถ้าเทียบสัดส่วนรายได้กับกำไรสุทธิของ MTC จะเห็นชัดว่า บริษัทมีมาร์จิ้นหรือกำไรสูงมาก โดยปี 2562 มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล 11,879.69 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิ 4,237.47 ล้านบาท

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลที่กำหนดสูงสุดไม่เกิน 28% นั้น ถือเป็นอัตราที่สูงมาก คิดเป็นเดือนตกเดือนละ 2.30 บาท และแม้ผู้บริหาร MTC จะอ้างว่า คิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้า 20% แต่ยังเป็นอัตราที่สูงอยู่ดี เพียงแต่เป็น อัตรามหาโหดที่มีกฎหมายรองรับ โดยยังไม่มีหน่วยงานใดคิดจะแก้ไข เพื่อลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลลง

แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งควรจะเป็นเจ้าภาพในการแก้กฎหมาย ลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล เพื่อปลดเปลื้องภาระของประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับยืนดูประชาชนถูกโขกดอกเบี้ยโดยไม่ทำอะไร

เจ้าของบริษัทลีสซิ่ง ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีใหม่กันถ้วนหน้า แต่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนนับสิบล้านคนกลับต้องแบกภาระการผ่อนชำระ จนแทบไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ต้องก้มหน้าก้มตาหาเงินจ่ายบริษัทลีสซิ่ง

การตรวจสอบ MTC ว่า คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ น่าจะพิสูจน์ทราบไม่ยาก เพราะมีเอกสารหลักฐานการผ่อนชำระของลูกค้าแต่ละรายอยู่

แต่จะเป็นธรรมกับ MTC หรือไม่ ถ้าจะละเว้นการตรวจสอบบริษัทลีสซิ่งอื่น รวมทั้งบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ซึ่งทำธุรกิจเหมือนกัน

และน่าจะคิดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถหรือสินเชื่อจำนำรถในอัตราที่ไม่แตกต่างจาก MTC

นักลงทุนที่รอช้อนหุ้น MTC หรือเล็งหุ้น SAWAD อยู่ อย่าเพิ่งวางใจ เพราะคดีการคิดดอกเบี้ยโหดของหุ้นบริษัทลีสซิ่งอาจเพิ่งเริ่มต้น






กำลังโหลดความคิดเห็น