xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต KBANK เป็น ‘BBB’ จากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign-Currency IDR) เป็น ‘F3’ จาก ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) เป็น ‘bbb’ จาก ‘bbb+’ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’
 
และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินต่างประเทศที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซิล 3 เป็น ‘BB+’ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะอันดับเครดิตที่เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ระหว่างการทบทวนที่เกิดจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับใหม่ (Under Criteria Observation) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ KBank ที่ ‘AA+(tha)’ และอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของบริษัทย่อยซึ่งคือ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KS) ที่ ‘AA(tha)’ รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ KBank กำลังเผชิญและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสที่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่ซบเซา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ KBank มีฐานลูกค้าค่อนข้างมาก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารไทยสามารถดูได้จาก “Coronavirus Outbreak Increases Challenges for Thai Banks’ Operating Environment” ลงวันที่ 2 เมษายน 2563

เนื่องจากระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งตามสมมติฐานกรณีฐานของฟิทช์นั้นคุณภาพของสินทรัพย์รวมถึงผลการดำเนินงานของ KBank อาจได้รับผลกระทบมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank พิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในฐานะหนึ่งในธนาคารชั้นนำของอุตสาหกรรมธนาคารไทยโดยธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากฐานธุรกิจที่มีเสถียรภาพและมีขนาดใหญ่โดยมีจุดแข็งในด้านบริการธนาคารดิจิทัลและการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (Transactional banking) อีกทั้งธนาคารมีบริการด้านการธนาคารที่ครบวงจร รวมถึงมีการให้บริการลูกค้าในหลากหลายกลุ่มลูกค้า อย่างไรก็ตาม KBank ยังมีฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอี่นซึ่งจะทำให้มีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในช่วงเวลาปัจจุบันของวัฏจักรธุรกิจและจะทำให้มีแรงกดดันเพิ่มเติมต่อผลกำไรจากการดำเนินงานของธนาคารซึ่งในปัจจุบันระดับผลกำไรดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของการดำเนินธุรกิจของธนาคารซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับกับธนาคารอื่น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมีโครงสร้างเครดิตที่ดีกว่าและมีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า ระดับเงินกองทุนของ KBank ที่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งพิจารณาจากระดับของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (common-equity Tier-1) ของธนาคารที่ 16.2% ในปี 2562 น่าจะช่วยสนับสนุนโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่ระดับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ ฟิทช์ยังคาดว่าระดับของสำรองหนี้สูญ (loan loss reserve) ต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 149% และระดับของหลักประกันของเงินกู้ที่เพียงพอโดยเฉพาะของสินเชื่อ SME จะช่วยรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดจากคุณภาพของสินเชื่อที่อาจปรับตัวอ่อนลงได้บางส่วน อีกทั้งสภาพคล่องและการระดมทุนในประเทศของ KBank ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ธนาคารมีฐานเงินฝากบัญชีกระแสรายวัน และบัญชีออมทรัพย์ (CASA) ในสัดส่วนสูงที่ 77% ของฐานเงินฝาก ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งสนับสนุนให้ธนาคารมีต้นทุนการระดมเงินทุนที่ต่ำจากแหล่งระดมทุนที่มีเสถียรภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น