xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ลดอันดับเครดิต SCB เป็น ‘BBB’ จากผลกระทบของการระบาดโคโรน่าไวรัส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ลงเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency IDR) พร้อมกันนนี้ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB ที่ ‘AA+(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCB ที่ ‘AA(tha)’ โดยทั้ง SCB และ SCBS มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การปรับลดอันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่กระจายไปในวงกว้าง โดยผลกระทบดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่ซบเซา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อลูกหนี้ที่มีฐานะทางการงินที่อ่อนแอหรือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธาคารไทยสามารถดูได้จาก “Coronavirus Outbreak Increases Challenges for Thai Banks’ Operating Environment” ลงวันที่ 2 เมษายน 2563

เนื่องจากระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งตามสมมติฐานกรณีฐานของฟิทช์นั้นคุณภาพของสินทรัพย์รวมถึงผลการดำเนินงานของ SCB อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันในฐานะที่เป็นธนาคารชั้นนำในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งรวมถึงสินเชื่อที่อาศัย ธนาคารยังมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงเป็น 1 ใน 3 อันดับในด้านขนาดสินทรัพย์และเงินฝากที่ประมาณ 14%-15% ในปี 2562 ฟิทช์มองว่า ณ ระดับความแข็งแกร่งทางการเงินปัจจุบัน ธนาคารน่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดอันดับลงเพิ่มเติมได้ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า SCB มีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า เช่น ในด้านอัตราส่วนเงินกองทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier 1) ที่ 17% ณ สิ้นปี 2562 และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (2562: 134%) และฐานะสภาพคล่องและความสามารถในการระดมเงิน นอกจากนี้ปัจจัยดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของธนาคาร อีกทั้งฟิทช์ยังเชื่อว่ามาตรการผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านคุณภาพสินทรัพย์และการปรับโครงสร้างหนี้น่าจะช่วยให้ธนาคารไทย รวมทั้ง SCB ให้สามารถรับมือกับสภาวะแวดล้อมที่ปรับตัวแย่ลงอย่างรุนแรงได้บ้าง แต่คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้น หาก SCB มีแนวโน้มอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์จัดอยู่ในระดับสอดคล้องกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ระดับเดียวกัน (ที่ bbb) เช่น อัตราส่วนสินเชื่อคุณภาพต่อสินเชื่อรวมต่ำกว่า 3% อีกทั้งยังมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งในด้านของอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื้อคุณภาพและเงินกองทุน เช่น CET1 อยู่ที่ระดับ 16% อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต หากอันดับความแข็งแกร่งของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น ‘bbb-‘ หากฐานะเงินกองทุนของ SCB ปรับตัวด้อยลงอย่างต่อเนื่องจนไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง เช่น การที่อัตราส่วน CET1 ของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่า 13% โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสูงกว่า 6% และอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื้อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% ใน 2 ปีข้างหน้า ในมุมมองของฟิทช์ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากผลประกอบการและกำไรของ SCB ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการลดลงของอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง ที่อาจเกิดจากทั้งความท้าทายของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น