ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็น ‘BB+ ‘ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะ “อยู่ระหว่างสังเกตการณ์ผลกระทบจากการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต” (Under Criteria Observation)
ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสที่กระจายไปในวงกว้าง โดยผลกระทบดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่ซบเซา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อลูกหนี้ที่มีฐานะทางการงินที่อ่อนแอหรือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางได้
ทั้งนี้ เนื่องจากระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัส ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งตามสมมติฐานกรณีฐานของฟิทช์นั้นคุณภาพของสินทรัพย์ รวมถึงผลการดำเนินงานของ BBL อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว อีกทั้งฐานะเงินกองทุนที่จะอ่อนแอลงจากการเข้าซื้อกิจการธนาคาร PT Bank Permata Tbk (Permata : AAA(idn)/เครดิจพินิจเป็นลบ) ในประเทศอินโดนีเซีย
โดยการซื้อกิจการ Permata น่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1) น่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 3% หลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น โดยธนาคารคาดว่าจะทยอยเพิ่มเงินกองทุนให้กลับขึ้นมาจากกำไรสะสมของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทายน่าจะกดดันความสามารถในการสะสมเงินกองทุนของธนาคารอย่างน้อยในช่วงระยะสั้น ดังนั้น ฟิทช์จึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของฐานะเงินกองทุนจะเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม BBL ยังคงมีโครงสร้างเครดิตที่ดีกว่าและมีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานในระดับเดียวกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยสภาพคล่องของธนาคารและอัตราส่วนการสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่สูงกว่าธนาคารอื่นน่าจะสนับสนุนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น ‘bbb+’ หากแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจัดอยู่ในระดับสอดคล้องต่อธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ระดับเดียวกัน (ที่ bbb) เช่นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อต่ำกว่า 3% อีกทั้งยังมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งในด้านของสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพและเงินกองทุน (เช่น CET1 อยู่ที่ระดับ 16% อย่างต่อเนื่อง) ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนโดยที่ไม่ได้ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเนื่องจากความสามารถดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสะสมเงินกองทุนของธนาคาร
ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น ‘bbb-‘ หากฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างต่อเนื่องจนไม่เพียงพอที่จะรองรับคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง เช่น การที่อัตราส่วน CET1 ของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่า 13% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสูงกว่า 6% และอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื้อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% ในความเห็นของฟิทช์เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากผลประกอบการ และกำไรของธนาคารยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการลดลงของอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายและการยอมรับความเสี่ยงของธนาคารที่เพิ่มขึ้น