xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์มองแนวโน้มแบงก์รายได้-คุณภาพสินทรัพย์ปีนี้วูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินคุณภาพสินทรัพย์และรายได้ของธนาคารไทยน่าจะปรับตัวลดลงอย่างมากในปี 2563 และสถานะทางเครดิตของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยน่าจะต้องเผชิญต่อความท้าทาย เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

นายเจอรามี ซูกค์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ฟิทช์เพิ่งได้มีการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยเป็น "มีเสถียรภาพ" จาก "แนวโน้มเป็นบวก" เนื่องจากคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว และความไม่แน่นอนในด้านการเมืองของไทยที่ยังคงมีต่อเนื่อง ฟิทช์ประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2563 ที่ 1% โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภัยแล้ง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้พอสมควรที่การประมาณการดังกล่าวจะถูกปรับลดลงอีก เนื่องจากมาตรการการกักตัวนักท่องเที่ยวที่อาจมีความเข้มงวดมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศจะส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศปรับตัวแย่ลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญต่อความท้าทายในระยะสั้น แต่ในมุมมองของฟิทช์ เชื่อว่า ประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งทางการเงินภาคต่างประเทศ (External Finance) และภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากภาวะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘BBB+’

นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)ได้กล่าวเตือนบริษัทที่ออกหุ้นกู้และนักลงทุนว่า สถานะทางเครดิตของบริษัทในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมของไทย น่าจะเผชิญความท้าทายในปี 2563 จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวม และปัจจัยเฉพาะที่กระทบต่ออุตสาหกรรมนั้นๆ ก่อนหน้าสถานการณ์โคโรนาไวรัส บริษัทในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรฐกิจและกำไรที่มีการเติบโตในระดับต่ำ การหดตัวของเศรษฐกิจที่มากกว่าที่คาดจากการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส และการเติบโตของรายได้ที่ช้ากว่าที่คาด น่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะทางเครดิตของบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ฟิทช์คาดว่า การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในเชิงลบน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นในปี 2563 เนื่องจากสัดส่วนของบริษัทที่มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นและมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทส่วนใหญ่ที่ฟิทช์จัดอันดับจะยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงดังกล่าว และมีระดับหนี้สินไม่สูงมาก

สำหรับในปี 2563 อุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี น่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบ จากอุปสงค์ที่ลดลงจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส และราคาน้ำมันที่ลดลงจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอาจสามารถลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวจากกลยุทธ์และทรัพยากรของบริษัท หรือบริษัทมีระดับหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสามารถป้องกันผลกระทบต่ออันดับเครดิตได้ในระยะสั้น สำหรับธุรกิจวัสดุก่อสร้างผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ของประเทศมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตปัจจุบัน เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนที่สูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่ช้ากว่าที่คาด และกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูงกว่าความต้องการใช้งานน่าจะทำให้การปรับตัวลดลงของอัตราส่วนหนี้สินช้ากว่าที่คาด สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมผู้ประกอบการมีการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงและน่าจะสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จากการลงทุนก่อสร้างระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G นอกจากนี้ การแข่งขันด้านราคาน่าจะยังคงกดดันรายได้และการเติบโตของรายได้ของผู้ประกอบการ

นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธนาคารไทยกำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ ระดับของผลกระทบต่อธนาคารจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและระยะเวลาของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า คุณภาพสินทรัพย์และรายได้ของธนาคารไทยน่าจะปรับตัวลดลงอย่างมากในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยกลุ่มลูกหนี้ SME ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวมของภาคธนาคารและเป็นกลุ่มที่มีความมีความเปราะบางค่อนข้างมากโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ แม้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รายได้ของธนาคารโดยรวมได้เผชิญต่อแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตที่ต่ำของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมาแล้ว ในขณะที่ภาวะธุรกิจของภาคธนาคารมีแนวโน้มที่ไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารไทยยังคงมีความสามารถที่จะรับมือกับความเสี่ยงได้ในระดับที่ใช้ได้ และน่าจะช่วยป้องกันผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้บ้าง เช่น ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารไทยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier 1) อยู่ที่ 16.0% และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 145% อีกทั้งภาวะสภาพคล่องภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น