ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมในกลุ่มลูกค้าโควตาต่างชาติมีการเติบโตอย่างมาก ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และอยู่นอกตลาด มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับบนออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากเรื่องของราคาที่ดินในเมืองที่ปรับสูงขึ้น โครงการคอนโดฯ แนวรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการยังมีความต้องการของลูกค้าต่างชาติที่มองหาบ้านหลังที่ 2 ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและการลงทุน ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยช่วงที่ผ่านมายังอ่อนค่าอยู่
ซึ่งกลุ่มลูกค้าชาวจีนถือเป็นตลาดใหญ่และมีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในไทยค่อนข้างสูง
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งได้รายงานถึงสถิติการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างด้าวปี 2561-2562 สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้าต่างชาติถือเป็นตลาดที่มีส่วนสำคัญในการเติม "สภาพคล่อง" และดูด "ซัปพลาย" ออกไป โดยจำนวนหน่วยที่มีการโอนออกไปซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้น 2 ปี มีตัวเลขประมาณ 27,926 หน่าวย หรือคิดเป็นสัดส่วน 12% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยโอนของกลุ่มคนไทย
ในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวมแล้วสูงถึง 111,252 ล้านบาท หรือเกือบ 21% เมื่อเทียบกับมูลค่าการโอนห้องชุดของกลุ่มคนไทยที่ 539,443 ล้านบาท และมีพื้นที่โอนไปแล้ว 1,124,414 ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนของคนไทยมีพื้นที่ประมาณ 7,574,678 ตร.ม.
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) กล่าวว่า ตลอดปี 2562 มีการโอน จำนวน 13,232 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 10.5% เมื่อเทียบกับจำนวนห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดมีมูลค่า 52,070 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ต่างชาติมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดลดลง -9.9% มูลค่าลดลง -12.0%
แหล่งข่าวจากบริษัทตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การโอนห้องชุดจำนวนหน่วยของลูกค้าต่างชาติปี 63 คาดว่าจะอยู่ประมาณ 5% ทั้่งนี้อยู่ที่ประเทศจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน
"ถ้าโรคโควิด-19 ซาลง และมีการเปิดเมืองแล้ว มั่นใจว่าคนจีนเริ่มอยากมาไทยซื้อที่อยู่อาศัย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าลูกค้าจีนไม่อยากทิ้ง แต่ไม่สะดวก สิ่งที่ทำได้ คือ กลุ่มที่เคยมาตรวจห้องชุดแล้วก็ให้เอเยนต์ดำเนินการแทน โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ครบกำหนดให้แก่ลูกค้าก่อน แต่ทั้งนี้ หน่วยงานราชการ ควรจะผ่อนปรนเรื่องการโอนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ"
สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในไทยซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ในปัจจุบันสภาวะตลาดอยู่ในช่วงขาลง ยอดขายไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งแน่นอนการปรับแผนธุรกิจหรือเป้าหมายต่างๆ ในปีนี้คงต้องเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ผู้ประกอบการจะใช้มาตรการเข้มกับลูกค้า อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ควรมีมาตรการผ่อนปรน เช่น 1.ยืดเวลาการโอน 3 เดือน 6 เดือน แล้วแต่กรณี 2.ไม่ยึดเงินลูกค้า เนื่องจากจะกลายเป็นภาระให้แก่ผู้ประกอบการในการบริหารสต๊อก 3.ไม่คิดดอกเบี้ยปรับการโอนล่าช้า
ด้านนายขยล ตันติชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการ บริษัท บางกอกซิตี้สมาร์ท จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดลูกค้าต่างชาติว่า ในส่วนของโครงการ Life ลาดพร้าว ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาทนั้น จะเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ที่เป็นคนไทยสัดส่วนที่มากถึง 89% และลูกค้าต่างชาติสัดส่วน 11% และเป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศไทยและพร้อมรับมอบห้องตามที่กำหนดไว้