เช็กข้อมูลกันวุ่น! หลังกรมที่ดินประกาศขอร้องประชาชนชะลอทำนิติกรรมการโอนอสังหาฯ และคอนโดฯ ช่วงนี้ หากยังไม่จำเป็น ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้านแบงก์ชี้กรมที่ดิน ต้องรอบิ๊ก ก.มหาดไทย ฟันธงลงมาปิดสำนักงานที่ดิน แม้ปัจจุบันข้าราชการยังทำงานอยู่ จับตามาตรการ "บ้านดีมีดาวน์" ปิดโครงการ 31 มี.ค.นี้ เร่งยอดโอนเพิ่มปิดงบโชว์ตัวเลขไตรมาสแรก คาด เม.ย.ตลาดซบเซาหนัก ผู้ประกอบการหวั่นกระทบสภาพคล่องอสังหาฯ เสนอกรมที่ดินใช้วิธีการจัดคิว พร้อมทั้งใช้วิธีการมอบอำนาจ ลดปริมาณคนมาสำนักงานที่ดิน
ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการป้องกัน เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโร 2019 (โควิด-19) ในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง โดยให้ปิดสถานที่ซึ่งมีประชาชนมาร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมจำนวนมาก ที่อาจเกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายนั้น ทางสำนักงานที่ดิน เป็นสถานที่หนึ่งในการให้บริการประชาชนที่มีประชาชนมาติดต่อขอรับบริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก และอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้สำนักงานที่ดินทุกแห่งจะดำเนินการสร้างมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดก็ตาม
ล่าสุดนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ได้ออกประกาศเรื่อง "การขอความร่วมมือประชาชนในการติดต่อขอรับบริการ ณ สำนักงานที่ดิน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19" ขอความร่วมมือประชาชนที่จะมาติดต่อขอรับบริการด้านการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้านงานรังวัดที่ดิน และงานด้านอื่นๆ ณ สำนักงานที่ดินต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนี้
1.กรณีประชาชนมาติดต่อขอทำนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรืองานราชการด้านอื่นๆ ณ สำนักงานที่ดิน หากไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มิฉะนั้น จะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณี หรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่งแล้ว กรมที่ดินขอความร่วมมือให้งดเว้นการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการ
2.กรณีหากไม่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดในช่วงเวลานี้ จะเสียสิทธิประโยชน์ในการขอลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองตามมาตรการลดค่าธรรมเนียม สำหรับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น กรมที่ดินชี้แจงว่า สิทธิประโยชน์ตาม 2 มาตรการดังกล่าว ยังจะไม่หมดในช่วงเวลาขณะนี้
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน360" ว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีการโอนที่อยู่อาศัยและห้องชุดให้แก่ลูกค้า เมื่อได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต้องสร้างผลงาน โดยเฉพาะบริษัทมหาชนที่จะต้องโชว์ตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2563 และที่สำคัญ คงต้องพิจารณาในเรื่องของโครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลออกมาดูแลผู้ซื้อ โดยได้รับเงินคืน 50,000 บาท ซึ่งโครงการได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งจะต้องเร่งลูกค้าทำนิติกรรมและโอนที่อยู่อาศัย ยังไม่นับรวมโครงการที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ที่จะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น มาตรการบ้านดีมีดาวน์ ก็น่าจะดำเนินการให้สิ้นสุดตามโครงการ ส่วนจะมีเฟส 2 ต่อ ก็ค่อยดำเนินการได้
"จริงๆ แล้ว กรมที่ดินพูดไม่หมด และการที่ไม่ฟันธงลงมา เพราะขณะนี้อย่าลืมว่า หน่วยงานราชการยังไม่มีการประกาศให้หยุดหรือทำงานที่บ้าน ยังคงเป็นปกติ โดยกรมที่ดิน อาจจะต้องรอกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ชี้ขาด แต่ทางสถาบันการเงินคิดว่า ไม่อยากให้กรมที่ดินเลื่อนการทำนิติกรรมออกไป หรือที่มีกระแสข่าวจะหยุดก่อนสิ้นเดือน อยากให้อึดไว้ เพราะว่าช่วงนี้เป็นฤดูปิดงบไตรมาสแรกของปี 63 ซึ่งเมื่อไปช่วงเดือนเมษายน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่คึกคักอยู่แล้ว ยิ่งในภาวะที่เกิดเชื้อไวรัสโควิด-19"
อนึ่ง โครงการบ้านดีมีดาวน์ ที่รัฐบาลดำเนินการ โดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้โอนเงินคืนให้แก่ลูกค้าที่ทำนิติกรรม เริ่มมีการโอนเงินดังกล่าวว่าตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องมา และคาดว่าก่อนสิ้นโครงการ ปริมาณการขอรับสิทธิจะมีจำนวนมาก
นายอิสระ บุญยัง นายกกิติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ถ้าหากมีการชะลอ หรือหยุดให้บริการ โดยเฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและจำนองออกไป จะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้กรมที่ดินจะแจ้งว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ยังมีเวลาอีกพอสมควรที่จะให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามมาตรการ แต่ก็ไม่ครอบคลุมถึงโครงการบ้านดีมีดาวน์ที่จะต้องโอนและจดจำนองภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และยังไม่มีการประกาศเลื่อนหรือขยายมาตรการออกไป
"ในแต่ละปีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท แต่ปีนี้ด้วยผลกระทบด้านต่างๆ คาดว่าตลาดจะหดตัวกว่าปีก่อนๆ ประมาณ 20% เหลือมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท และถ้ามีการชะลอโอน จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น และจะทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของแต่ละบริษัทตามมา กลายเป็นว่าบริษัทที่ไม่เคยมีปัญหาก็จะเริ่มมีปัญหาไปด้วย และยังไม่นับรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงควรจะหาแนวทางอื่นๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น ใช้วิธีการจองคิวโดยมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการให้ผู้โอนมอบอำนาจ เพื่อลดจำนวนคนเข้าไปยังสำนักงานที่ดิน เป็นต้น "