xs
xsm
sm
md
lg

กัลฟ์ฯ เสนอรัฐ "อัดยาแรง" รองรับผลกระทบ COVID-19 เผยรอบนี้หนักกว่าต้มยำกุ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกชนส่งสัญญาณถึงรัฐบาล อัดยาแรงพยุงเศรษฐกิจรองรับผลกระทบ COVID-19 ซึ่งจะหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แนะรัฐออกพันธบัตรดูดสภาพคล่องเตรียมการันตีเงินเดือนผู้ตกงาน ช่วยผู้ประกอบการ รวมทั้งควรลดภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ครั้งนี้ จะรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เนื่องจากกระทบมายังผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดเล็ก ในขณะที่ต้มยำกุ้งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นทางรัฐบาลจะต้องเตรียมงานให้ดี มีมาตรการรองรับกระตุ้นโดยใช้ยาแรงเหมือนกับหลายประเทศดำเนินการ โดยเฉพาะการอัดเงินเข้าระบบ ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพคล่องสูงมาก รัฐบาลต้องวางแผนใช้ส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระได้ 1-2 เดือนเท่านั้น จากนั้นก็จะขาดภาพคล่อง และต้องมีการปลดพนักงานตาม ซึ่งจะเป็นภาวะลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินของภาครัฐ-เอกชนมีเป็นจำนวนมาก ก็ควรหารือและออกมาตรการโดยเร็ว เพราะหากผู้ประกอบการปิดกิจการเป็นจำนวนมาก และยาวนาน การฟื้นตัวจะยาก

"ภาครัฐต้องเตรียมงานให้ดี อัดยาแรง เพราะจากนี้ไปผลกระทบจะเห็นในวงกว้างจากภาคท่องเที่ยว ภาคขนส่ง เอสเอ็มอี ลงไปจนถึงเกษตรกร แบงก์จะไม่กล้าปล่อยกู้หนี้ต่างๆ จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ดั้งนั้น ภาครัฐต้องดูดสภาพคล่องมาใช้ โดยออกพันธบัตรมาการันตีเงินกู้ที่ขาดสภาพคล่อง การันตีเงินเดือนผู้ตกงานสักครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงควรพิจารณานอกจากลดดอกเบี้ยแล้ว ก็ลดภาษี ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม" นายสารัชถ์ กล่าว

ส่วนผลกระทบต่อกลุ่มกัลฟ์ นั้น นายสารัชถ์ ระบุธุรกิจไฟฟ้ายังไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมยังเดินเครื่องผลิตเช่นเดิม การใช้ไฟฟ้ายังมีต่อเนื่อง แม้สถานที่ทำงานหลายแห่งให้ทำงานอยู่กับบ้านก็ตาม ประชาชนอยู่กับบ้านก็ยังใช้ไฟฟ้าต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนผลกระทบมีเพียงการติดต่อกับต่างชาติที่เข้าทำงานร่วมในด้านต่างๆ ก็ให้เลื่อนระยะเวลาออกไป รวมทั้งโครงการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากชุมชนต่างๆ ก็ให้ระงับไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนโครงการลงทุนระยะยาวจะกระทบหรือไม่นั้น คงต้องรอดูเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ว่าจะกระทบนานมากน้อยขนาดไหน ซึ่งในขณะนี้ไม่มีใครระบุได้

ส่วนโครงการพื้นฐานที่กลุ่ม ปตท.และกัลฟ์ร่วมทุนในโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ยังเดินหน้าตามแผนงานเดิม ไม่ชะลอการลงทุน เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานช่วยเรื่องการจ้างงาน ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ โดยการที่กลุ่มผู้ลงทุนเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเพียง 12,000 ล้านบาท จากที่ ครม.กำหนดกรอบผลตอบแทนแก่รัฐ 32,000 ล้านบาทนั้น ในเรื่องนี้ต้องมาดูภาพรวมเพราะการประมูลรอบแรกไม่มีผู้เสนอประมูล การประมูลรอบนี้เป็นการประมูลครั้งที่ 2 ผลตอบแทนก็พิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งในขณะนั้นการส่งออกชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า จึงเสนอผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ภาครัฐกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น