xs
xsm
sm
md
lg

COVID-19 พ่นพิษ “เถ้าแก่น้อย” ส่งออกหดปิดร้าน-โรงงาน หั่นต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เถ้าแก่น้อย" โอด ไวรัส COVID-19 กระทบยอดขายเพราะส่งออกไปถึง 35% ขณะแบกรับค่าใช้จ่ายการทำคลาดดันต้นทุนพุ่ง ปีนี้เน้นลดค่าใช้จ่ายหั่นงบกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ปิดโรงงาน 1แห่ง รวมการผลิตทั้งหมดให้ครบวงจรในโรงงานเดียว เพื่อดันกำไรให้เติบโต ขณะการซ้อปปิ้งออนไลน์ฉุดยอดขาย "เถ้าแก่น้อยแลนด์" เต็มๆ จำต้องปิดสาขาอย่างน้อย 10 สาขา เพื่อลดรายจ่าย

 
จากแนวโน้มสถานการณ์โคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศขณะนี้ กูรูจากหลายสำนักลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กระทบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับนโยบายสงครามการค้า ซึ่งเป็นการตั้งป้อมสงครามชิงไหวชิงพริบในผลประโยชน์ทางธุรกิจ ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน เพราะเป็นเพียงนโยบายที่กำหนดโดยบุคคลเฉพาะเจาะจงเท่านั้น ซึ่งสามารถโฟกัสไปยังเป้าหมายและควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ แต่หากเทียบกับการแพร่ระบาดของไวรัสย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างและเป็นปัจจัยลบอยู่นอกเหนือการกำหนดควบคุม


ขณะที่เมื่อกลับมาพิจารณา ดัชนี SET INDEX ตั้งแต่เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563ที่ผ่านมา กดดันให้ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เข้าสู่ปีชวด 2563 เป็นต้นมา ณ วันที่ 17 มกราคม2563 ซึ่งจุุดสูงสุดของดัชนี ฯ อยู่ที่ 1,600.48 จุด ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงจนล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ลงมาต่ำสุดอยู่ที่ 1,340.52 จุด หรือปรับตัวลดลงแล้วกว่า 259.96 จุด ในเวลาเพียงเดือนกว่าๆ เท่านั้น ปัจจัยหลัก ๆ ** คือความกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส กระทบต่อธุรกิจต่างเช่นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้แก่ ธุรกิจโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าปลีก ธุรกิจรถแท็กซี่หรือขนส่งสินค้า ฯลฯ **


ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกลุ่มที่ 2 ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนของกลุุ่มแรก ได้แก่ ธุรกิจจัดหาอาหารและวัตถุดิบส่งให้กับโรงแรมและสายการบินต่างๆ ธุรกิจผลิตสินค้าสินค้าเข้าขายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ (เมื่อคนเดินจับจ่ายใช้สอยในห้างน้อยลง ) ธุรกิจนิทรรศการแสดงสินค้า หรือคอนเสิร์ตต่างๆ ยกเลิกหรือเลื่อนการแสดงออกไป (เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื่อในที่ชุมชนคนหมู่มาก ธุรกิจปั๊มน้ำมันจากนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางน้อยลง หรือแม้แต่โรงพยาบาล ก็ได้รับผลกระทบ จากประชาชนที่หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงของการแพร่เชื่อในโรงพยาบาลเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ส่วนกลุ่มธุรกิจกลุ่มที่ 3 ที่จะได้รับผลกระทบสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็น Supplier ให้กับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบข้างต้น


บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19เพราะบริษ้ทที่มีการส่งสินค้าออกไปขายในประเทศจีน จากผลิตภัณฑ์สาหร่ายแปรรูปพร้อมรับประทาน ภายใต้ตราสินค้า เถ้าแก่น้อย รวมไปถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพประเภทอื่นๆ โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท คือ สาหร่ายแปรรูป


โดยหากพิจารณาสัดส่วนการขาย 9 เดือนแรกปี 2562 TKN มีสัดส่วนยอดขายในไทย 42% ขณะที่ในส่งสินค้าออกไปขายที่จีน 35% และประเทศอื่นๆ อีก 23% ซึ่งจากแผนการขยายขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศจีน ที่เป็นตลาดส่งออกหลัก หลังได้แต่งตั้ง “โอริออน กรุ๊ป” (Orion Group) เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้ารายใหม่เพียงรายเดียวในประเทศจีน ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา


“อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ได้เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่าจากกรณีที่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนและประเทศอื่นๆ ส่งผลต่อความกังวลด้านผลกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าในจีนและภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในระยะสั้น ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลงในช่วงนี้ แม้ว่าขณะนี้จะมีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ก็ได้เจรจากับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีน และยังคงกรอบเวลาไม่มีการเลื่อนกำหนดรับสินค้า เพราะมั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะสามารถควมคุมสถานการณ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ และเตรียมความพร้อมแผนรองรับผลกระทบในอนาคต


นอกจากนี้ยังได้วางกลยุทธ์เปิดตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น หนุนโอกาสเพิ่มยอดขายและกระจายสินค้า โดยบริษัทฯ มีแผนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศจีนผ่านทาง โอริออน กรุ๊ป จากขีดความสามารถการจัดจำหน่ายในประเทศจีนที่ครอบคลุมพื้นที่และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากกว่ารายเดิม อีกทั้งยังมีแผนงาน ที่จะรุกขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่แผนธุรกิจในประเทศ จะเน้นทำตลาดสินค้าสาหร่ายทอด ซึ่งเป็นพอร์ตรายได้หลักของบริษัทฯ ด้วยส่วนแบ่งตลาดสาหร่ายปรุงรสแบ่งกว่า 69% พร้อมทั้งเน้นการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและรองรับตลาดสาหร่ายปรุงรสในไทยที่มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท หลังอัตราการบริโภคสาหร่ายต่อหัวของไทยยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย


ขณะเดียวกัน หากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกในระยะยาว บริษัทฯ ก็จะหันไปเน้นกลยุทธ์การขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในจีน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง


โดยในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2562 ที่ผ่านมา TKN มีรายได้รวม 5,297 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้รวม 5,461 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 361 ล้านบาท ซึ่งมียอดขายที่ชะลอตัวจากปีก่อนในช่วงไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทเริ่มมีกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากราคาสาหร่ายใหม่ และมีการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์จากการปิดสายการผลิตสาหร่ายอบในสหรัฐอเมริกา โดยเปลี่ยนเป็นการจ้างผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายแทน เพื่อลดการขาดทุนจากบริษัทฯในเครือในปี 2563


อย่างไรก็ดีแม้ว่า TKN แสวงหาโอกาสในการทำตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และต่อยอดธุรกิจให้เติบโตขึ้น แต่ สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาสะท้อนออกมาในแผนการดำเนินธุรกิจของ TKN คือการแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำตลาดด้วยจำนวนเม็ดเงินที่สูง หากเทียบกับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน โดยจะเห็นได้จากหนี้สินรวมในงบปี 2562 ที่มากถึง 1,565.37 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงจากปี 2561 ที่มีกว่า1,619.11 ล้านบาท หรือปี 2562 ลดลงจากปี 2561 เพียง 53.74ล้านบาทเท่านั้น หนำซ้ำหากพิจารณาค่า P/E เรโช ปี 2562ที่สูงขึ้นกว่า 53.05 เท่า หากเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีค่าP/E เรโช อยู่ที่ 19.27 เท่า ทำให้สะท้อนถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจากระดับ P/E Ratio ล่าสุด ณ วันที่ 02 มีนาคม2563 จะลดลงมาอยู่ที่ 28.26 เท่าแล้วก็ตาม


สิ่งที่ TKN ต้องทำคือการปรับแผนทำตลาดลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้อัตรากำไรไม่ติดลบ ด้วยการหั่นงบกิจกรรมทางการตลาดลงกว่า 100 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ หรือการเป็นสปอนเซอร์ออกไป และหันไปทุ่มให้กับทำตลาดทางตรงเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายแทน


นอกจากนี้การที่ TKN ได้ปักหมุด “สหรัฐ” เป็นตลาดสำคัญใน 4 ตลาดต่างประเทศนอกเหนือจาก ไทย จีน และ ตลาดต่างประเทศอื่นๆ ด้วยการหันมาจ้างบริษัทตัวแทนการผลิตสาหร่ายอบ หรือOEM แทนการผลิตเองโดยตรง เนื่องจากปัญหาการแข่งขันและสงครามราคาที่พุ่งสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตต่อหน่วย โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมากดดันให้บริษัทขาดทุนกว่า 1-2 ล้านดอลลาร์ ส่วนสาหร่ายทอดยังคงใช้ฐานการการผลิตของโรงงานในประเทศไทยส่งสินค้าไปจำหน่ายเช่นเดิม และยังเตรียมขยายช่องทางจำหน่าย "คอสโก" เพิ่มอีก 125 สาขา จากปัจจุบันซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 สาขา



 “ปีนี้ต้องปรับโครงสร้างการดำเนินงานครั้งใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง ด้วยการยุบรวมโรงงานจาก 2 แห่ง เหลือ 1 คือจะยุบโรงงานที่นพวงศ์ แล้วไปรวมการผลิตทั้งหมดแบบครบวงจรไว้ที่โรงงานโรจนะ โดยจะเปลี่ยนโรงงานเดิมที่นพวงศ์เป็นแวร์เฮาส์ เก็บวัตถุดิบ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้า ส่วนปัญหา COVID-19 ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบแน่นอน เพราะยอดนักท่องเที่ยวลดลง และคนหันไปซ้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ทำให้กระทบต่อยอดขายของร้าน "เถ้าแก่น้อยแลนด์" เต็มๆ จึงจำเป็นที่ จะต้องปิดสาขาอย่างน้อย 10 สาขา เพื่อลดรายจ่าย จากก่อนหน้าที่ปิดไปแล้ว 4 สาขา โดยปี 2563 จะมีร้านให้บริการ 4-5 สาขาเท่านั้น เพื่อให้กระแสเงินสดไตรมาส 3 กลับมาเป็นบวกได้ ส่วนการพิจารณาลดค่าใช้จ่ายของบุคลากรลงเพื่อเน้นส่วนของกำลังการผลิตใหม่นั้น อยู่ในช่วงของการพิจารณาความเหมาะสม”

สิ่งที่ TKN คาดหวังกับ Orion Group
 

เนื่องจาก Orion Group เป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายขนมขบเคี้ยวชั้นแนวหน้าในเกาหลีใต้ มีขนาดใหญ่ติด Top 15 ของโลก นอกจากนี้ Orion ได้ขยายธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายขนมในหลากหลายประเทศและการประกาศตั้งOrion เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายหรือ Distributor ครั้งนี้เท่ากับว่า TKN ได้ยกสิทธิ์การทำตลาดขายสินค้าในจีนให้ Orion ดูแลแต่เพียงผู้เดียว


ก่อนหน้านี้ PAN ORION CORP. LIMITED ได้ซื้อหุ้น Big Lot ของ TKN 3.5% มูลค่า 483 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มในอนาคตถ้าการทำตลาดในต่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และมีการเติบโตตามเป้าหมายที่ทาง TKN วางไว้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ทางเถ้าแก่น้อยจะเปิดโอกาสให้ Orion เข้ามาถือหุ้นเพิ่มเติมอีก และการเซ็นสัญญาร่วมกับ Orion จึงได้ปรับเป้าหมายเติบโตของยอดขายไม่น้อยกว่า 30% โดยเฉพาะในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญมีการเติบโตเร็ว และกำลังซื้อสูงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งตลาดผลิตภัณฑ์สาหร่ายคิดเป็น 0.5% ของมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวในจีนซึ่งอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท


นอกจากนี้ ยังได้เตรียมที่จะขยายตลาดไปยังเกาหลีใต้และรัสเซียอีกตามพื้นที่ตลาดที่ Orion ถืออยู่ในมือ ซึ่งหากเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประเมินว่าจะสามารถทำรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2567 กอปรกับการรับปรุงเครื่องจักรในการขยายกำลังการผลิตจาก 65% เป็น 75-85% สิ่งที่จะตามมาคือทำให้เกิด Economy of Scale ที่สะท้อนออกมาในเชิงศักยภาพมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น