ในปี 2562 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเจอกับอุปสรรคและความท้าทายที่พุ่งมากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เติบโตลดลง มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) ที่ออกมา ได้ตัดวงจรกำลังซื้อ ทั้งของนักลงทุน ลูกค้าต่างชาติ และลดทอนโอกาสของผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ประกอบกับนโยบายการห้ามนำเงินออกนอกประเทศของรัฐบาลจีน ทำให้ เงินสภาพคล่องที่จะเข้ามาซื้อโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในปีที่ผ่านมา ต้องชะลอตัวลงอย่างมาก มีการประเมินว่า ยอดขายจากลูกค้าชาวจีนในตลาดคอนโดฯ ลดหายไปกว่า 70% ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดหายไปกว่า 50%
ล่าสุด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้แจ้งผลประกอบการในปี 2562 เปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่คาดเดาถึง โดยพุ่งเป้าไปที่รายได้จากการขายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีตัวเลขการขายที่เปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมาก
ปี 62 รายได้การขายอสังหาฯ ลดฮวบ
จากการรวบรวมเฉพาะ 15 บริษัทอสังหาฯ พบว่า เฉพาะรายได้จากการขาย (ไม่หยิบตัวเลขรวมรายได้ที่ไม่สะท้อนถึงความสามารถในการขาย เนื่องจากจะมีแหล่งที่มาจากรายได้จากค่าบริการและค่าเช่า ค่าที่ดิน ค่าสินค้า ดอกเบี้ย รวมอยู่ เฉพาะ 10 บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่รวมรายได้อยู่ที่ 231,940 ล้านบาท) สามารถทำได้ 232,447.66 ล้านบาท ลดลง 2.60% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 42,673 ล้านบาท ลดลง 3.20% แม้ว่าเปอร์เซ็นต์การลดลงจะไม่มาก เนื่องจากทุกค่าย ต่างจัดแคมเปญพิเศษกระตุ้นยอดขายสุดแรง ลดราคาตั้งแต่ 20-35% แล้วแต่โครงการ การให้ราคาส่วนลดกับบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (โบรกเกอร์) เร่งยอดขาย
แต่หากลงลึกในไส้ในของแต่ละบริษัท จะพบการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย โดยบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ในปี 62 มียอดขายเท่ากับ 35,601 ล้านบาท ลดลง 15,065 ล้านบาท หรือลดลงเกือบ 30% โดยยอดขายลดลงจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว และอาคารชุด 7,898 ล้านบาท 3,264 ล้านบาท และ 3,903 ตามลำดับ เนื่องมาจากจำนวนโครงการที่เปิดลดลง และมาตรการ LTV ใหม่ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.2562 แต่พฤกษา เป็นบริษัทอสังหาฯ ที่ทำรายได้จากการขายสูงสุดอยู่ที่ 39,885 ล้านบาท แม้จะลดลง 10.30% ก็ตาม
ขณะที่บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รองมาเป็นอันดับ 2 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 25,151.37 ล้านบาท ลดลง 17.57% แต่หากพิจารณากำไรสุทธิแล้ว พบว่า ยังคงมีความสามารถทำกำไร 10,047 ล้านบาท สูงสุดในระบบ แต่กำไรสุทธิลดลง 4.30%
ส่องบริษัทอสังหาฯ ร่วมทุน รอตลาดคอนโดฯ พลิกฟื้น
ทั้งนี้ หากมาพิจารณาในกลุ่มบริษัทอสังหาฯ ที่มีพันธมิมตร่วมทุนกับบริษัทอสังหาฯ ญี่ปุ่น จากจีน และการร่วมทุนกับกลุ่มบีทีเอส ไม่ว่าจะเป็น บริษัทแสนสิริ โนเบิล พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ออริจิ้น อนันดา เอพี และเสนา พบว่า การเติบโตของรายได้จากการขายต้องใช้เวลาในการพลิกฟื้นอีกครั้ง หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมระดับราคาเกินกว่า 2 แสนบาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) มีการเปิดโครงการเป็นจำนวนมาก
อย่างเช่น บริษัท อนันดา ดีเวลลออปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายลดลงเกือบ 18% เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีการปรับรูปแบบการเปิด 1 โครงการใหม่ให้สอด คล้องกับกำลังซื้อ โดยในปี 2563 บริษัทมีแผนเปิด 1 โครงการ มูลค่า 8,000 ล้านบาท
ดังนั้น ในเมื่อทิศทางตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัว บริษัทต้องเพิ่มพอร์ตการลงทุนและพัฒนาโครงการแนวราบสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อให้รับกับมาตรการกระตุ้นของภาครัฐในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียมและการโอน ที่สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2563 และเป็นการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยง หากเกิดสถานการณ์ที่ร้ายแรง อย่างเช่น บริษัท เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป กับยุทธศาสตร์ รุกตลาดอสังหาฯ ต่างจังหวัด โดยจะเปิดแบรนด์ใหม่ในการทำตลาด ระดับราคา 1-2 ล้านบาท ลักษณะของโครงการจะเป็นมิกซ์ยูสสินค้าแนวราบ ในปีนี้จะเปิด 4-5 โครงการ ภูมิภาคละ 1 โครงการ คาดว่าโครงการแรกในจังหวัดนครศรีธรรมราช
หรือแม้แต่บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ในปีนี้ บริษัท เสนา ฮันคิว ฮันชิน เตรียมรุกตลาด “ทาวน์โฮม” ร่วมกันเป็นครั้งแรก รวมถึงคอนโดมิเนียมต่ำล้าน และคอนโดฯ ราคา 1-1.5 ล้านบาท พร้อมนำแนวคิด Geo fit+ จากญี่ปุ่นมาปรับใช้กับสินค้าและการบริการ
คาดยอดขายครึ่งปีแรกซึมต่อ
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในครึ่งปีแรกคงจะอยู่ในภาวะที่ซึม เนื่องจากได้รับแรงกระทบเรื่องโควิด-19 ที่ปัจจุบันหลายประเทศมีผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศจีนมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและประเทศต่างๆในภูมิภาค และล่าสุด การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.5% ทำให้ Fed Fund Rate ต่ำลงมาอยู่ที่ 1-1.25% เนื่องจากผลจากโควิด-19 ที่ลุกลามไปหลายประเทศ เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญ ต้องเฝ้าดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินนโยบายอย่างไร ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้ คือ เงินบาทแข็งค่าขึ้น และไม่ใช่เรื่องที่ดีกับภาคส่งออกของไทย
ด้านนายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป ระบุว่า ตลาดมีสินค้าคงเหลือที่รอขาย ณ สิ้นสุดปี 2562 อยู่ที่ 214,000 หน่วย เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 61 ต้องใช้เวลาในการขายอย่างน้อย 24 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ชะลอแผนเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562
จำนวนการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดในปี 2563 จะอยู่ที่ 100,000-110,000 หน่วย หรือลดลง 10% หรือมูลค่าประมาณ 420,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ 110,500 หน่วย หรือมูลค่า 440,000 ล้านบาท หรือลดลง 8% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยประมาณการการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 63 จะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ 196,000 หน่วย ซึ่งปรับตัวลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2561
โควิด-19 ฉุดยอดลูกค้าเยี่ยมชมโครงการลดลง
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา เรื่องของมาตรการควบคุมสินเชื่อใหม่ หรือ LTV มีผลกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยทั่วประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดคอนโดมิเนียม ส่วนตลาดแนวราบก็ได้รับผลกระทบแต่ไม่มาก ซึ่งตลาดคอนโดมิเนียมในส่วนของบริษัทศุภาลัยฯ ไม่ต่างจากภาพรวมของตลาดที่ยอดขายหดตัวลง ขณะที่การขายโครงการแนวราบยังไปได้ดีกว่าคอนโดมิเนียม ขณะที่ด้านของรายได้และกำไรไม่ได้ปรับลดลง เนื่องจากลูกค้ายังซื้อได้ดีกับสินค้าพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ มากกว่าสินค้าประเภทคอนโดฯ ที่ต้องรอการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2-3 ปี อย่างไรก็ตาม ตลาดกลุ่มคอนโดฯ ที่ทำราคาระดับกลางถึงล่าง ที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมขายและโอนกรรมสิทธิ์ได้ยังคงไปได้ดี
"ในช่วงต้นปี เราแอบหวังว่าปีที่แล้วมีปัญหา และคิดว่าปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น ก็ไม่แน่แล้ว และที่เราคาดหมายว่าจีดีพีจะมีการเติบโตนั้น ยังไม่ได้ร่วมปัจจัยเสี่ยงเรื่่องของไวรัส ซึ่งเรายังคาดเดาไม่ได้เลยว่า โควิด-19 จะลากยาวไปแค่ไหน ทำให้ปีนี้ทุกดีเวลลอปเปอร์จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นไปอีก ซึ่งคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ยากมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 ที่จะกระทบหนักที่สุด ไม่มีใครตอบได้จะจบเมื่อไหร่ แต่ศุภาลัยได้เตรียมความพร้อมทุกอย่าง ทั้งเรื่องควบคุมต้นทุนการเงินที่ดีเสมอมา ควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อเผชิญช่วงเวลานี้ เรามั่นใจจะสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ และเมื่อนั้นเราจะมีโอกาสกลับมาได้เร็วกว่ารายอื่น"
นายไตรเตชะ กล่าวว่า ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 บังเอิญบริษัทเปิดโครงการแนวราบเป็นหลัก ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากจากเรื่องของโควิด-19 แต่หลังวันที่ 10 ก.พ.เป็นต้นมา ยอดเข้าเยี่ยมชมโครงการหายไปประมาณ 15% ซึ่งสัดส่วนอาจจะเพิ่มมากกว่านี้ แต่ไม่ได้น้อยกว่าที่ตนเองเป็นห่วงตอนแรก
คาด ศก.ไทยปี 63 เจอแรงต้าน "ลูกค้าจีนลดฮวบ-เจอไวรัส"
"หากย้อนไป 4-5 ปีที่ผ่านมา หากหักส่วนของลูกค้าชาวจีนที่มาซื้อคอนโดฯ จะพบว่า การเติบโตของตลาดคอนโดฯ มีสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งเป้าขายในปี 2563 ที่วางไว้ 26,000 ล้านบาท เรามองเรื่องของความพร้อมการออกโครงการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ดูเรียลดีมานด์ หรือในทำเลที่การแข่งขันไม่มากนัก และศุภาลัย ไม่คิดปรับเป้าลง และหากสถานการณ์เรื่องการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถคลี่คลายได้ไม่ช้าเกินไปนัก เป้าหมายการขายน่าจะเป็นไปได้ แต่ยอมรับว่า โควิด-19 จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศไทยพอสมควร เพราะถ้าไม่นับรวมประเทศจีนแล้ว ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเราเป็นประเทศหลักที่ชาวจีนต้องการเข้ามาท่องเที่ยว"
ประกอบกับ มีชาวจีนเข้ามาลงทุนต่างๆ คอนโดมิเนียมในไทยก็ได้รับความนิยมสูงสุดของชาวจีน ขณะที่ประเทศไทยอ้างอิงในเรื่องของการท่องเที่ยวและการส่งออก เพื่อสนับสนุนจีดีพีของประเทศให้มากที่สุด ดังนั้น เราจะเห็นว่ามีแรงต้านทางเศรษฐกิจให้เห็นแน่นอน บังเอิญบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ผูกติดกับการเติบโตของจีดีพีเป็นสำคัญ แตกต่างกับประเทศในแถบตะวันตก ที่อัตราดอกเบี้ยจะมีผลมากกว่าการเติบโตของจีพีดี
สำหรับภาพรวมธุรกิจของบริษัทศุภาลัยฯ ในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายโครงการที่อยู่อาศัยในตลาดต่างจังหวัดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 34% ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมโดยภาพรวมของบริษัทปรับลดลงต่อเนื่องจากระดับ 50-60% ลงมาเหลือ 45% แต่ปี 2562 ยอดขายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คอนโดมิเนียมปิดสัดส่วนอยู่ที่ 38% ในส่วนของปี 2563 ตัวเลขยอดขายรวมวางเป้าไว้ที่ 26,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนแนวสูงในตลาดต่างจังหวัดจะลดลงมาเหลือ 2% แต่จะไปขยับเพิ่มส่วนของโครงการแนวราบเพิ่มเป็น 32% เนื่องจากบริษัทศุภาลัยฯ ไม่ได้เปิดโครงการแนวสูงมาหลายปี ขณะที่สต๊อกของคอนโดฯ ถูกดูดซับออกไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนของรายได้วางเป้า 24,000 ล้านบาท มีลูกค้าเซ็นสัญญาและรอโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือมาจากยอดขายโครงการใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้
ในส่วนของภาพรวมการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ เปิดไปแล้ว 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท บนถนนจรัญสนิทวงศ์ 91 MRT บางอ้อ มูลค่าโครงการ 2,100 ล้านบาท จำนวน 1,040 ยูนิต สามารถทำยอดขายไปแล้ว 27% หรือประมาณ 300 ยูนิต ช่วงที่เปิดตัว มีลูกค้าเดินเข้ามาชมโครงการวันละ 300-400 ราย ซึ่งเป็นจังหวะที่ไม่ดีอย่างแรง เนื่องจากอยู่ในภาวะที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ราคาเฉลี่ยขาย 2 ล้านบาท ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจที่นานกว่ากลุ่ม 3-7 ล้านบาท ซึ่งเรามั่นใจว่าจะสามารถปิดการขายได้หมดก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และอีก 4 โครงการแนวราบทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
"ข้อดีของสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เราจะเห็นราคาที่ดินที่สมเหตุสมผลเพิ่มขึ้น ดูเหมือนจะเป็นโอกาส แต่ดีเวลลอปเปอร์แต่ละรายจะมีความสามารถในการเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน เพราะภาพของภาระหนี้ และต้นทุนทางการเงินที่สูง ก็ไม่สามารถใช้ความสามารถในการหาผลประโยชน์ได้ แต่ศุภาลัยพร้อมในการเก็บที่ดินในราคาที่ดีขึ้น ซึ่งเราจะโฟกัสเก็บที่ดินในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัดเล็กน้อย"
ถอดรหัส "บิ๊กอสังหาฯ" ฉายภาพตลาดปี 63
ทั้งนี้ ในช่วง ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ต่างมองว่า ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ค่อนข้างมีความท้าทาย ซึ่งแต่ละบิ๊กดีเวลลอปเปอร์ของประเทศไทย ให้คำจำกัดความตลาดอสังหาฯ ได้อย่างชัดเจน!!
นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ชะลอตัวจากปัจจัยลบต่างๆ GDP ต่ำ ซึ่งหากปัญหาไวรัสโควิด-19 กินเวลานานเชื่อว่า GDP จะตกต่ำลงไปอีกมาก เหมือนแล่นเรือท่ามกลางหมอกควัน ถ้าเรามองข้างหน้าไม่ชัดเจน เราก็ไม่ควรขับเรือเร็ว เราควรจะไปแบบช้าๆ เพื่อความปลอดภัย"
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า "เรามองว่า ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้มีความท้าทาย และเป็นปีที่ทดสอบของบริษัท เอพีฯ ด้วย ตรงนี้ทำให้เราต้องปรับปรุงองค์กรให้แข็งแรงขึ้น เพื่อให้ไปต่อในอนาคต และหากปีนี้เราผ่านไปได้ เราจะเก่งขึ้น ซึ่งแน่นอนตอนนี้คู่แข่งก็พยายามหาความสามารถเฉพาะตัว หานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา สถานการณ์ต่างๆ เรารู้มาอยู่แล้ว และทางเอพี ก็พร้อมที่จะรับมือ แต่สิ่งที่ยากที่เราเจอมาในปีที่ผ่านมา คือ นโยบายใหม่ๆ คู่แข่งใหม่ๆ ที่เข้ามาตลาดที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นคู่แข่ง ก็เข้ามาแข่งกับเรา และแค่ผ่านมา 2 เดือน ก็มีอะไรเข้ามาท้าทายเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 และล่าสุด เรื่องไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเรามากๆ และกระทบไปทั่วโลก"
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า "คนไทยทุกคนคงไม่อยากเห็นประเทศเข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 เพราะธุรกิจทุกประเภทจะต้องหยุดชะงักลงทันที และอาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยไม่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นได้ จิตสาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพียงดูแลป้องกันตนเองอย่างดีที่สุด ก็เท่ากับป้องกันคนที่คุณรัก สังคม และประเทศชาติโดยรวม"
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ภาคอสังหาฯ ในต้นปีที่ผ่านมา ได้รับยาแรงมา 2 เม็ด การลดดอกเบี้ยนโยบายลง และการผ่อนปรน LTV ลง แต่อาการยังไม่ทันดีขึ้น ก็เกิดเจอโรคใหม่ คือ โรคซึมเศร้า เนื่องจากเราเจอปัญหาต่างๆ ที่ไม่คาดคิดมากมาย จากที่ในปี 2562 ภาคอสังหาฯ อยู่ในภาวะท้องอืด สต๊อกในระบบระบายช้า"
"แอสเซทไวส์" รุกตลาด "บลูโอเชียน"
นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด กล่าวยอมรับว่า ปี 2563 ถือเป็นที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอสังหาฯ เผชิญความท้าทาย แต่สำหรับแอสเซทไวส์ ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการพลิกเกมการดำเนินธุรกิจ โดยโอกาสทางธุรกิจที่เราให้ความสำคัญ คือ การเติบโตในตลาด บลู โอเชียน ด้วยการมุ่งพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมใกล้สถานศึกษามากขึ้น ผ่านแบรนด์ KAVE โดยพัฒนาโครงการในรูปแบบแคมปัส คอนโด มาแล้ว 4 โครงการ นอกจากนี้ ได้ขยายธุรกิจสู่การทำคอมมูนิตี มอลล์ แห่งแรกในปีนี้ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของ KAVE TOWN มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต
โดยในปีนี้ บริษัทยังมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการแนวราบ จำนวน 2 โครงการ และโครงการแนวสูง 2 โครงการ ในขณะที่ในปีนี้บริษัทฯ จะมีโครงการที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการแอทโมซ แจ้งวัฒนะ โครงการ แอทโมซ รัชดา ห้วยขวาง และโครงการ เคฟ ทาวน์ สเปซ ขณะที่้ในปีที่ผ่านมา บริษัทเปิดโครงการใหม่กว่า 6,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ แอสเซทไวส์ได้วางโรดแมปด้วย 4 กลยุทธ์หลักในการดำเนินการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
1.PRODUCT DIFFERENTIATION STRATEGY การกำหนด PRODUCT SEGMENTATION ให้เหมาะสมต่อทำเลและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่าน 3 แบรนด์คอนโดฯ
2.LIFESTYLE FULFILLMENT STRATEGY การพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางอย่างสร้างสรรค์
3.FINANCIAL ASSISTANCE SERVICE อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ ให้สามารถรับบริการออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านแอปพลิเคชันฟินพลัส (Fin Plus)
และ 4.HAPPINESS SHARING STRATEGY ภายใต้แนวคิด “ปันความสุข” โดยผ่านการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางและกิจกรรมในคอนโดฯ ที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กันของลูกบ้าน