ก.ล.ต.ผนึกกำลังองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันศึกษา รวม 24 องค์กร ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเชิญชวนกิจการในตลาดทุนร่วมดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
การลงนามในครั้ง จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สกพ.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. และนางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมกล่าวถึงเจตนารมณ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในตลาดทุนให้ประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึง “สิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค” ซึ่งธุรกิจในตลาดทุนมีพัฒนาการในเรื่องดังกล่าวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีการปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ที่วางหลักปฏิบัติในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการที่มุ่งเน้นการมีคุณสมบัติหลากหลายและไม่จำกัดที่เพศและอายุ ปัจจุบันพบว่ามีกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจในตลาดทุนที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่สูงขึ้น เช่น ในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีกรรมการที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนที่นั่งกรรมการทั้งหมด บจ. ที่มีกรรมการเป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 83 ของจำนวน บจ.ทั้งหมด และมีผู้บริหารสูงสุด (ในระดับซีอีโอ และกรรมการผู้จัดการ) ที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 13.85
ในส่วนของ ก.ล.ต.มีกรรมการที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มีพนักงานในระดับผู้บริหาร (ตำแหน่งผู้อำนวยการขึ้นไป) เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 71 ของพนักงานในระดับผู้บริหารทั้งหมด และมีพนักงานหญิงคิดเป็นร้อยละ 67 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด นอกจากนี้ จรรยาบรรณพนักงานเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานระบุว่า พนักงานต้องไม่กระทำการที่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วย ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีการปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศสอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ทั้ง 6 ด้าน*
“ก.ล.ต.ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งขอเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจ และทุกภาคส่วนในตลาดทุน ร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป”
*ประกอบด้วย (1) การแต่งกาย โดยให้บุคลากรสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคล (2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนของบุคคล ข้อจำกัดของบุคคล และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (3) การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงานโดยระบุคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา หรือความสามารถที่สอดคล้องกับลักษณะงาน โดยไม่ระบุเพศ (4) การใช้ถ้อยคำ ภาษาและกิริยาท่าทาง และเอกสารต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคล (5) การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงาน โดยมุ่งเน้นความเสมอภาค และ (6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน