xs
xsm
sm
md
lg

เปิดภารกิจแรก “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” กจญ.ปณท คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเอ่ยถึงชื่อ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” ไม่มีใครไม่รู้จัก กับผลงานที่โดดเด่น ในช่วงที่เป็นรองเลขาธิการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม กว่า 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกหรือการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ที่ถือว่านำหน้าผู้ประกอบการหลายๆเรื่อง อาทิโครงการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (2 แชะอัตลักษณ์) การกดดอกจันเพื่อเช็คสิทธิ์ หรือ ยกเลิกบริการต่างๆ การออกระเบียบอนุญาตอุปกรณ์ IoT การคิดอุปกรณ์ครอบสายโทรคมนาคมเพื่อกันสายโทรคมนาคมเถื่อนพาดสาย

ตลอดจนการเป็นหัวหอกเคียงบ่า เคียงไหล่ กับ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการกสทช. ในการเป็นหัวหน้าโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าคณะทำงานประมูลเบอร์มือถือสวย หัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และประมูลคลื่น/จัดสรรคลื่น 900 MHz 1800 MHz 700 MHz 2600 MHz 26GHz ที่ทำรายได้เข้ารัฐมากกว่า 5 แสนล้านบาท

ผลงานในช่วงเป็นรองเลขาธิการ กสทช.ถือเป็นสปริงบอร์ดสำคัญที่ทำให้ “ก่อกิจ” กระโดดสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (กจญ.) และกรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 มีวาระในตำแหน่ง 4 ปี ถือเป็นคนนอกที่เข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดใน ปณท เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เข้าทำงานที่กสทช.

สำหรับงานเร่งด่วนที่ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” ต้องทำเป็นอันดับแรกนอกเหนือจากการทำความเข้าใจกับพนักงาน ฝ่ายบริหาร เรื่องโครงสร้างองค์กร และ แผนการบริหารงาน รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆในการทำงานแล้ว นั่นคือ การรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” เนื่องจาก ปณท มีศูนย์บริการทั้งที่เป็นของบริษัทเองกว่า 1,500 แห่ง ที่มีฝ่ายกองแพทย์กับสุขภาวะประจำสาขาอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือเจลขาดตลาด ปณท จำเป็นต้องปรับแผนในการทำความสะอาดและไม่ควรปิดบังหากเกิดเหตุการณ์มีพนักงานติดเชื้อก็ต้องปิดสาขา ทำความสะอาดและหาคนจากสาขาอื่นมาแทน ส่วน ปณท อนุญาต ที่เป็นของเอกชน ก็มีการหารือถึงข้อสัญญาว่าสามารถขอความร่วมมือในการปิดสาขาชั่วคราวได้หรือไม่

ขณะที่บุรุษไปรษณีย์เป็นพนักงานที่ต้องส่งของและสัมผัสกับผู้รับของทั่วประเทศ เราก็ต้องมีมาตรการในการดูแลและป้องกัน แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ของโรคยังไม่ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 คือ การติดเชื้อโรคกันเองในประเทศที่ไม่ได้เกิดจากบุคคลที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่หน้าที่ของบริษัทคือต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้ประชาชนไม่กังวล หากต้องเดินทางมาส่งของ ปณทต้องสร้างความตระหนัก ไม่ใช่ตระหนก ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้

“ผมทำงานกับ กสทช.ผมทำนำหน้าผู้ประกอบการตลอด เพราะหน้าที่การกำกับดูแล ต้องนำหน้าและทำงานรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำงานกับเลขาธิการกสทช.ที่ทำงานแบบไม่มีเบรก ทำให้เราต้องวิ่ง เมื่อวิ่ง เราก็แข็งแรง ข้อดีตรงนี้ จะสามารถนำมาปรับใช้กับ ปณท ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น เราต้องรับมือรวดเร็ว รวมถึงการจัดการกับข่าวลือ ข่าวปลอม ที่ ปณท ต้องเร่งหาความจริงและชี้แจงให้เร็วที่สุด” ก่อกิจ กล่าว

ส่วนเรื่องแผนในการทำงานนั้น “ก่อกิจ” ได้ตั้งเป้าภายใน 1 เดือนครึ่งนี้ จะนำเสนอแผนงานเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยเน้นการทำงานให้ตรงกับพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นั่นคือ การขับเคลื่อนตาม “ดิจิทัล อีโคโนมี่ และ โซไซตี้” คือการใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ บริการทางสังคม ซึ่งตนเองนั้นเข้าใจดีว่าธุรกิจต้องมีการแข่งขัน และมีแผนธุรกิจเพื่อให้รายได้และกำไรไม่ลดลงไปมากกว่านี้ มีการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลเป็นแต้มต่อในการทำงาน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการให้บริการภาคสังคมเพื่อประชาชนในบางบริการที่เอกชนก็ไม่สามารถทำได้ ก็เป็นหน้าที่ของ ปณท ด้วย

ดังนั้น ปณท ต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญในการให้บริการประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การส่งยาโรคความดัน เบาหวาน จากโรงพยาบาล ไปยังร้านขายยา ตามนโยบายของรัฐบาลที่อำนวยความสะดวกให้คนไข้สามารถไปรับยาตามร้านขายยาได้ ลดภาระการเข้ามารับยาที่โรงพยาบาล เป็นต้น ปณทก็ต้องมาวางแผนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บริการกับประชาชนได้ดีที่สุด

ก่อกิจ กล่าวว่า ปณท เป็นองค์กรที่ท้าทาย เพราะมีมิติของการให้บริการภาคสังคม บางบริการต้นทุนไม่ได้ ส่งไกล แต่คิดแพงไม่ได้ เอกชนไม่ทำ แต่ ปณท ต้องทำ เพราะเป็นบริการสังคม ขณะที่ในด้านการแข่งขันมิติของการส่งพัสดุ ที่ต้องแข่งกับเอกชนก็ต้องวางแผนด้วย แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานกสทช.ในการทำงานนำหน้าเอกชนมาโดยตลอด มั่นใจว่าจะสามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในการบริหารจัดการ ปณท ได้ ประสบการณ์จากกสทช.จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม ปณท ได้ ส่วนเรื่องการทำงานในกสทช.นั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นต่อไปมาทำงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น