xs
xsm
sm
md
lg

ESG Investment Forum “ESG: มิติใหม่แห่งการวิเคราะห์หุ้นอย่างมืออาชีพ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


งาน ESG Investment Forum “ESG: มิติใหม่แห่งการวิเคราะห์หุ้นอย่างมืออาชีพ”
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้ร่วมกันจัดงาน ESG Investment Forum “ESG: มิติใหม่แห่งการวิเคราะห์หุ้นอย่างมืออาชีพ”
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพของสถาบันตัวกลางในตลาดทุนไทยมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมให้นักวิเคราะห์การลงทุนเข้าใจถึงความสำคัญของการนำข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social และ Governance หรือ ESG) มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์

ดร. กฤษฎา เสกตระกูล
หัวใจของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน “ต้องมีระบบ CG และคำนึงถึง ESG ตลอดห่วงโซ่คุณค่า”
ดร. กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มุมมองถึงเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนว่ามีพัฒนาการต่อเนื่องมากว่า 20 ปีด้วยการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ในภาคตลาดทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีส่วนร่วมผลักดันและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กร (Corporate Governance: CG) ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การออกคู่มือและแนวปฏิบัติด้าน CG เพื่อยกระดับให้บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีบรรษัทภิบาล จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่ายุค SD (Sustainable Development) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยผนวกเรื่อง ESG เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีบทบาทสำคัญในการมุ่งให้ความรู้เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึงความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบด้าน ESG จากการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ พร้อมจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) และดัชนี SETTHSI เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย

สำหรับรูปแบบที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ในการพัฒนาบริษัทจดทะเบียน ประกอบด้วย
•การกำหนดมาตรฐานด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยการพัฒนาและเผยแพร่คู่มือและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
•การสนับสนุนการพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับนโยบาย กลยุทธ์ แนวปฏิบัติ และการลงมือปฏิบัติจริงโดยครอบคลุมประเด็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
•การส่งเสริมให้ธุรกิจเปิดเผยผลการดำเนินงานและข้อมูลด้าน ESG สู่สาธารณะผ่านรายงานประจำปี พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืนเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการข้อมูลในเชิงลึก
•การสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมการประเมินด้านความยั่งยืน ทั้งในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) และโครงการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อคัดสรรและประเมินหุ้นยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหุ้นของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน

หัวใจของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ ต้องมีระบบ CG และคำนึงถึง ESG ในการทำธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

กว่า 20 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีส่วนสร้างรากฐานและพัฒนาบริษัทจดทะเบียนให้คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนน CG 3 ดาวขึ้นไปกว่า 600 บริษัท (คิดเป็น 98% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) มีบริษัทจดทะเบียน 98 แห่งได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืน และมี 53 หลักทรัพย์อยู่ในดัชนี SETTHSI นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมด้าน CG และ ESG รวมอีก 23 กองทุนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของนักวิเคราะห์การลงทุนที่มีบทบาทในการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ ตลอดจนออกบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพนักวิเคราะห์ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำข้อมูลด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ ไปจนถึงการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ต่อไป

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
“ESG ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน”
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ให้มุมมองในหัวข้อ “Securities Analysis Plus ESG: The New Chapter for Investment Analysts” ว่า นักวิเคราะห์มีความคุ้นเคยและเห็นความสำคัญของการกำกับดูแล (Governance) มาตั้งแต่ยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน จะมีผลทำให้ราคาหุ้นลดลง แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์ในวันนี้อาจยังไม่คุ้นเคยคือเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) และสังคม (Social) ว่าควรจะมีการตีโจทย์อย่างไร หากนักวิเคราะห์สามารถนำประเด็นด้าน ESG เข้ามาพิจารณาในการวิเคราะห์การลงทุน จะทำให้บทวิเคราะห์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์ควรสามารถประเมินได้ว่าบริษัทที่กำลังวิเคราะห์อยู่นั้น มีความเสี่ยงด้าน ESG เป็นอย่างไร และที่สำคัญคือบริษัทมีวิธีการบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร เนื่องจากแต่ละบริษัทหรือแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงด้าน ESG ที่แตกต่างกันไป เช่น บริษัทขุดเจาะน้ำมันมีความเสี่ยงสำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท หากมีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้รถยนต์เป็นรถพลังงานไฟฟ้า บริษัทที่ขุดเจาะน้ำมันจะขายน้ำมันให้ใคร จะบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้อย่างไร

ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนเองก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถแยกและประเมินความเสี่ยงเรื่อง ESG ได้เป็นอย่างดี ด้วยการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้าน ESG และข้อมูลการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินและใส่ข้อมูลดังกล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งบริษัทจดทะเบียนและอุตสาหกรรมตลาดทุน

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่เริ่มให้น้ำหนักและความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก ซึ่งมีขนาดกองทุนประมาณ 80 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ประกาศว่าจะลงทุนอย่างรับผิดชอบตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงกองทุนจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยจากประสบการณ์การนำบริษัทจดทะเบียนไปโรดโชว์ คำถามแรกคือ บริษัทจดทะเบียนนั้นอยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืน เช่น MSCI ESG Index หรือไม่ ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็กควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้าน ESG เพราะ ESG ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน หากบริษัทไม่ใส่ใจเรื่อง ESG แล้ว อาจไม่มีผู้ลงทุนสถาบันใดสามารถเข้ามาลงทุนได้เลย

จากสถิติพบว่า บริษัทที่ดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG และมีคะแนนด้าน ESG ดี สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่า (Outperform) บริษัทที่ได้คะแนนด้าน ESG ต่ำ ดังนั้นนักวิเคราะห์ต้องไม่มองว่าประเด็นด้าน ESG เป็นเรื่องของการทำงานเพื่อสังคม นำเงินไปทำกิจกรรม CSR ซึ่งเป็นความคิดสมัยเก่า แต่ต้องคิดแบบสมัยใหม่และวิเคราะห์ความเสี่ยงด้าน ESG ของบริษัท นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านการทำธุรกิจ และประเมินให้ได้ว่าธุรกิจมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นอย่างไร

ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย
“ESG เป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เทรนด์”
ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย Partner บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด บริษัทให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน อธิบายว่า ความยั่งยืนหมายถึงการที่ธุรกิจดำเนินการได้ในระยะยาวทั้งในมิติเศรษฐกิจ (Economic) คือการเติบโตของรายได้และมีกำไร พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับมิติสังคม (Social) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) ควบคู่กันไป ในขณะที่ ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นการมองถึงมิติสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจสร้างผลกระทบหรือได้รับผลกระทบจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำ การใช้พลังงาน การปล่อยขยะของเสีย รวมถึงได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจอยู่ในพื้นที่ที่น้ำมีจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น ในมิติสังคมคือ คน ชุมชน ที่อยู่โดยรอบ ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมในการทำธุรกิจของบริษัท บริษัทมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) อย่างไร ชุมชนให้ความร่วมมือในการทำธุรกิจอย่างไร
ดังนั้น บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมด้วย ในมิติบรรษัทภิบาลว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและการบริหารจัดการของผู้นำองค์กรสูงสุดว่ามีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น การเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้บริหารสูงสุด (CEO) ซึ่งหากสวนทางกับผลการดำเนินงานของบริษัท กล่าวคือบริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุน แต่ผู้บริหารสูงสุดได้รับผลตอบแทนมากกว่าปีที่ผ่านมา อาจสะท้อนถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริหารสูงสุด เป็นต้น โดยผู้ลงทุนจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

ที่สำคัญไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีความเสี่ยงในเรื่องเดียวกัน แต่ละบริษัทจะมีประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Material Issue) ที่แตกต่างกัน เช่น บริษัททำน้ำดื่ม ต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก น้ำจึงเป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของธุรกิจน้ำดื่ม แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของธุรกิจธนาคาร เป็นต้น