xs
xsm
sm
md
lg

บทบาท ก.ล.ต.ในมิติ ESG ขับเคลื่อนสู่กระแสโลก SDGs / รื่นวดี สุวรรณมงคล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีภารกิจในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ปี 2563-2565 ที่จะพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ ได้นำหลักการผสมผสาน 3 ด้าน คือ 1) การมีวินัยของตนเอง 2) แรงผลักดันจากผู้ร่วมในตลาด และ 3) การกำกับดูแลทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบ อันสอดคล้องกับหลักสากลที่ใช้ในประเทศต่าง ๆ
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดเกณฑ์บรรษัทภิบาลสำหรับบริษัทจดทะเบียน ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน หรือที่เรียกว่า CG Code ซึ่งได้ขยายขอบเขตใน 3 มิติ คือ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี (Environment) มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social ) ยึดหลักธรรมาภิบาล ( Governance) หรือ ESG เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทมีหลักปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อสร้างคุณค่าด้านการลงทุน
ก.ล.ต. ได้ออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุน หรือ I Code เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันมีแนวทางในการลงทุน โดยคำนึงถึงปัจจัยผลตอบแทน ความเสี่ยง และแนวทาง ESG ของกิจการที่ไปลงทุน เพื่อเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดของเจ้าของเงินลงทุน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ออกหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Green Bond พร้อมมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจระดมทุนเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ขยายความหมายของคำว่าสังคมหรือ social ในสมการ ESG ให้รวมถึงการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ UN Guiding Principle on Business and Human Rights หรือตัวย่อที่เรียกกันว่า UNGP มาเผยแพร่ให้กับบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน ด้วยถือว่า UNGP เป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ
ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ลงนามกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร่วมผลักดันในเรื่องดังกล่าว และต่อมา คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า National Agenda Plan on Business and Human Rights หรือ NAP
ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ได้มีการออกแผนปฏิบัติการดังกล่าว และแผนนี้ได้กำหนดในสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยเคารพสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้ยกระดับแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า One Report ให้ครอบคลุมถึง ESG และสิทธิมนุษยชนด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 และสำนักงาน ก.ล.ต. เองยังได้เปิดโอกาสให้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 สามารถเสนอขายหุ้นได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
สำนักงาน ก.ล.ต. ในปีที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นประธานของ ASEAN Capital Market Forum ที่ประชุม ACMF ได้มีมติเห็นชอบต่อ Roadmap for ASEAN Sustainable Capital Market เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 จึงกล่าวได้ว่า ตลาดทุนไทยและตลาดทุนของประเทศอาเซียนได้มุ่งไปสู่การเป็น “sustainable capital market”อันเป็นการสอดคล้องต่อเป้าหมายของ SDG องค์การสหประชาชาติ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะ UNGP รวมทั้ง ได้รับความร่วมมือจากสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมต่าง ๆ ในตลาดทุนไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียน ในโครงการของ Thailand Responsible Business Network (TRBN)
ความร่วมมือในการบูรณาการเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ดิฉันเองพร้อมทั้งทีมงาน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีความมั่นใจที่เราจะพร้อมกันขับเคลื่อนตลาดทุนไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดไว้ภายในปี 2030

(เรียบเรียงจากงานสัมมนา From ESG to SDGs: Integrating SDGs Impact Measurement
and Management Framework in Business and Investment Strategies
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ศกนี้)


กำลังโหลดความคิดเห็น