xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) ก.ล.ต.กางโรดแมปแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี มุ่งเน้นสร้างความยั่งยืน พร้อมกรอบหลักเกณฑ์บังคับใช้กฎหมายในยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.
ก.ล.ต.แถลงแผนนโยบายยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย 3 ปี ปักธงหลักเกณฑ์ความยั่งยืน ความมั่นคงทางการเงินรองรับการเกษียณอายุและแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สร้างการแข่งขันและเชื่อมโยงตลาดทุนสู่สากล พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการนำเทคโนโลยี AI มาร่วมในการทำงานเพื่อความรวดเร็ว



นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2565) โดย ก.ล.ต.ตั้งเป้าหมายว่าปี 2565 จะต้องบรรลุผลสำเร็จโดยเฉพาะด้านความยั่งยืนต้องมี Ecosystem ที่เอื้อให้มีบริษัทที่ได้คะแนน ESG ดี จำนวนมูลค่า ESG product เพิ่มขึ้น 20%, ด้านการเข้าถึงจำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD)​ ต้องเพิ่มขึ้น 8% และจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมต้องเพิ่มขึ้น 15% ขณะเดียวกัน ด้านแข่งได้และเชื่อมโยงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถเข้าถึงการระดมทุนในตลาดทุน, regulatory guillotine สามารถลดระยะเวลากระบวนการต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้จริง และด้านเชื่อถือได้ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ enforcement case ลดอย่างน้อย 5%

"การออก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ปี 2562 มีจุดเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญคือการระบุชัดว่าการทำงานของ ก.ล.ต.ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ดังนั้นงานของ ก.ล.ต.ในอีก 3 ปีข้างหน้าจึงต้องสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เกิดความความยั่งยืน” นางสาวรื่นวดีกล่าว

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ได้วางหลักเกณฑ์สำคัญในการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่

1. ความยั่งยืน โดย ก.ล.ต.จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยและการเติบโตแบบความยั่งยืน (ESG) มากขึ้น

2. เน้นการเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมุ่งหวังประชาชนอยู่ดีมีสุขทางการเงิน และมีการออมและการลงทุนระยะยาวที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยมีเครื่องมือที่หลากหลายให้ภาคธุรกิจเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. สร้างการแข่งได้และเชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์ม โดยมีแผนจะสร้างกลไกและกติกาที่เป็นธรรมกับผู้ลงทุน โดยจะนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการประกอบธุรกิจและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง รวมถึงมีการกำกับดูแลและรักษาความเชื่อมั่น เป็นธรรม และมีความมั่นคงปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ โดยอนาคตอาจมีการเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และมีกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น และสุดท้าย

4. มีความน่าเชื่อถือ โดยจะทำให้ตลาดทุนไทยเกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นตัวชี้วัดหรือตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่หมาะสม และสำคัญที่สุดคือการป้องกันความเสี่ยงของระบบ

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าปัญหา 4 ด้าน คือ 1. กระแส ESG ที่เพิ่มขึ้น 2. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 3. พัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 4. ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและภาวะดอกเบี้ยต่ำยาวนาน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ก.ล.ต. ต้องคิดทบทวนเพื่อทำให้ผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการเชื่อมโยงกับตลาดภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อยกระดับการระดมทุนของไทยให้มีคุณภาพมากขึ้นและสามารถระดมทุนได้ในวงกว้างขึ้น

ขณะเดียวกัน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยแรงงานเอกชนในระบบ PVD มีอยู่ 20% เท่านั้น ดังนั้น ก.ล.ต. ต้องมุ่งเน้นสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนรู้จักการออมและการลงทุนระยะยาวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณมากขึ้น ขณะเดียวกัน พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ก.ล.ต.ต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ป้องกัน ยับยั้ง และดำเนินการต่อการกระทำผิดรูปแบบใหม่ และรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของ นายศักรินทร์ ร่วมรังสี รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในยุคดิจิทัล ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลเป็นเสมือนความท้าทาย เพราะสินค้าและบริการมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปยังดิจิทัลมากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวโน้มอาชญากรรมตลาดทุนที่ใช้เทคโนโลยี และ Socia Network เช่นการชักชวนการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุญาตผ่านสื่อออนไลน์ มีการหลอกลวงการลงทุนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ โดยอ้างรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งรูปแบบดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ ที่ถือเป็นความท้าทายของการบังคับใช้กฎหมายในยุคดิจิทัล เพราะเป็นโลกไร้พรมแดน และมีการปกปิดตัวตน อีกทั้งข้อมูลด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นข้อมูลที่สร้างขึ้นมาได้ง่าย และสามารถลบเนื้อหาออกจากระบบได้ง่ายเช่นกัน

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายจะต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การหาให้เจอ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายจะต้องค้นหา และติดตามเพื่อให้พบผู้กระทำผิด โดยใช้ข้อมูลด้านเทคโนโลยี และร่วมมือกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กสทช. นอกจากนี้ เมื่อพบเจอผู้กระทำผิดแล้วจะต้องทำการตรวจสอบ และรวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด จากนั้นจะต้องเร่งดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นธรรมต่อผู้ต้องสงสัย และจะต้องมีบทลงโทษที่ส่งผลกระทบต่อผู้กระทำผิดโดยตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น