xs
xsm
sm
md
lg

ESG Investment Forum “ESG : มิติใหม่แห่งการวิเคราะห์หุ้นอย่างมืออาชีพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้ร่วมกันจัดงาน ESG Investment Forum “ESG : มิติใหม่แห่งการวิเคราะห์หุ้นอย่างมืออาชีพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพของสถาบันตัวกลางในตลาดทุนไทยมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมให้นักวิเคราะห์การลงทุนเข้าใจถึงความสำคัญของการนำข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social และ Governance หรือ ESG) มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์

“หัวใจของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ ต้องมีระบบ CG และคำนึงถึง ESG ตลอดห่วงโซ่คุณค่า”

กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มุมมองถึงเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนว่ามีพัฒนาการต่อเนื่องมากว่า 20 ปีด้วยการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ในภาคตลาดทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีส่วนร่วมผลักดันและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กร (Corporate Governance : CG) ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การออกคู่มือและแนวปฏิบัติด้าน CG เพื่อยกระดับให้บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีบรรษัทภิบาล จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่ายุค SD (Sustainable Development) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยผนวกเรื่อง ESG เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีบทบาทสำคัญในการมุ่งให้ความรู้เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึงความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบด้าน ESG จากการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ พร้อมจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment : THSI) และดัชนี SETTHSI เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย

สำหรับรูปแบบที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ในการพัฒนาบริษัทจดทะเบียน ประกอบด้วย

การกำหนดมาตรฐานด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องต่อมาตรฐานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยการพัฒนาและเผยแพร่คู่มือและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

การสนับสนุนการพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับนโยบาย กลยุทธ์ แนวปฏิบัติ และการลงมือปฏิบัติจริงโดยครอบคลุมประเด็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การส่งเสริมให้ธุรกิจเปิดเผยผลการดำเนินงานและข้อมูลด้าน ESG สู่สาธารณะผ่านรายงานประจำปี พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืนเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการข้อมูลในเชิงลึก

การสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมการประเมินด้านความยั่งยืน ทั้งในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR) และโครงการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อคัดสรรและประเมินหุ้นยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหุ้นของธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน

หัวใจของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ ต้องมีระบบ CG และคำนึงถึง ESG ในการทำธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

กว่า 20 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีส่วนสร้างรากฐานและพัฒนาบริษัทจดทะเบียนให้คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนน CG 3 ดาวขึ้นไปกว่า 600 บริษัท (คิดเป็น 98% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) มีบริษัทจดทะเบียน 98 แห่งได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืน และมี 53 หลักทรัพย์อยู่ในดัชนี SETTHSI นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมด้าน CG และ ESG รวมอีก 23 กองทุนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของนักวิเคราะห์การลงทุนที่มีบทบาทในการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ ตลอดจนออกบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพนักวิเคราะห์ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำข้อมูลด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ ไปจนถึงการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ต่อไป

“ESG ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ให้มุมมองในหัวข้อ “Securities Analysis Plus ESG : The New Chapter for Investment Analysts” ว่า นักวิเคราะห์มีความคุ้นเคยและเห็นความสำคัญของการกำกับดูแล (Governance) มาตั้งแต่ยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจที่มีการทุจริตคอร์รัปชันจะมีผลทำให้ราคาหุ้นลดลง แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์ในวันนี้อาจยังไม่คุ้นเคยคือเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) และสังคม (Social) ว่าควรจะมีการตีโจทย์อย่างไร หากนักวิเคราะห์สามารถนำประเด็นด้าน ESG เข้ามาพิจารณาในการวิเคราะห์การลงทุน จะทำให้บทวิเคราะห์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์ควรสามารถประเมินได้ว่าบริษัทที่กำลังวิเคราะห์อยู่นั้นมีความเสี่ยงด้าน ESG เป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ บริษัทมีวิธีการบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร เนื่องจากแต่ละบริษัทหรือแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงด้าน ESG ที่แตกต่างกันไป เช่น บริษัทขุดเจาะน้ำมัน มีความเสี่ยงสำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท หากมีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้รถยนต์เป็นรถพลังงานไฟฟ้า บริษัทที่ขุดเจาะน้ำมันจะขายน้ำมันให้ใคร จะบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้อย่างไร

ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนเองก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถแยกและประเมินความเสี่ยงเรื่อง ESG ได้เป็นอย่างดี ด้วยการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้าน ESG และข้อมูลการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินและใส่ข้อมูลดังกล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งบริษัทจดทะเบียนและอุตสาหกรรมตลาดทุน

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่เริ่มให้น้ำหนักและความสำคัญต่อปัจจัยด้าน ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก ซึ่งมีขนาดกองทุนประมาณ 80 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ประกาศว่าจะลงทุนอย่างรับผิดชอบตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงกองทุนจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยจากประสบการณ์การนำบริษัทจดทะเบียนไปโรดโชว์ คำถามแรกคือ บริษัทจดทะเบียนนั้นอยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืน เช่น MSCI ESG Index หรือไม่ ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็กควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้าน ESG เพราะ ESG ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน หากบริษัทไม่ใส่ใจเรื่อง ESG แล้ว อาจไม่มีผู้ลงทุนสถาบันใดสามารถเข้ามาลงทุนได้เลย

จากสถิติพบว่า บริษัทที่ดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG และมีคะแนนด้าน ESG ดี สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่า (Outperform) บริษัทที่ได้คะแนนด้าน ESG ต่ำ ดังนั้น นักวิเคราะห์ต้องไม่มองว่าประเด็นด้าน ESG เป็นเรื่องของการทำงานเพื่อสังคม นำเงินไปทำกิจกรรม CSR ซึ่งเป็นความคิดสมัยเก่า แต่ต้องคิดแบบสมัยใหม่และวิเคราะห์ความเสี่ยงด้าน ESG ของบริษัท นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านการทำธุรกิจ และประเมินให้ได้ว่าธุรกิจมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นอย่างไร

“ESG เป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เทรนด์”

ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย Partner บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด บริษัทให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน อธิบายว่า ความยั่งยืนหมายถึงการที่ธุรกิจดำเนินการได้ในระยะยาวทั้งในมิติเศรษฐกิจ (Economic) คือการเติบโตของรายได้และมีกำไร พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อมิติสังคม (Social) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) ควบคู่กันไป

ในขณะที่ ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นการมองถึงมิติสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจสร้างผลกระทบหรือได้รับผลกระทบจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำ การใช้พลังงาน การปล่อยขยะของเสีย รวมถึงได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจอยู่ในพื้นที่ที่น้ำมีจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น ในมิติสังคมคือ คน ชุมชนที่อยู่โดยรอบ ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมในการทำธุรกิจของบริษัท บริษัทมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) อย่างไร ชุมชนให้ความร่วมมือในการทำธุรกิจอย่างไร ดังนั้น บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญต่อชุมชนและสังคมด้วย ในมิติบรรษัทภิบาลว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและการบริหารจัดการของผู้นำองค์กรสูงสุดว่ามีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น การเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้บริหารสูงสุด (CEO) ซึ่งหากสวนทางกับผลการดำเนินงานของบริษัท กล่าวคือ บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุน แต่ผู้บริหารสูงสุดได้รับผลตอบแทนมากกว่าปีที่ผ่านมา อาจสะท้อนถึงการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริหารสูงสุด เป็นต้น โดยผู้ลงทุนจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

ที่สำคัญไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีความเสี่ยงในเรื่องเดียวกัน แต่ละบริษัทจะมีประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Material Issue) ที่แตกต่างกัน เช่น บริษัททำน้ำดื่ม ต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก น้ำจึงเป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของธุรกิจน้ำดื่ม แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของธุรกิจธนาคาร เป็นต้น

การคำนึงถึงเรื่อง ESG ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ 5 ประการสำคัญ

Top-line growth การสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภคอาจทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมกับชุมชนแวดล้อมของบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำอยู่อย่างจำกัด อาจมีส่วนช่วยพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ในขณะที่ธุรกิจก็สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

Cost reductions การลดต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ธุรกิจปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของกระบวนการผลิตลดต่ำลง เป็นต้น

Lesser regulatory and legal interventions การแทรกแซงด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่น้อยลง เช่น การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมช่วยให้ธุรกิจมีการเตรียมรับมือต่อความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ที่อาจนำไปสู่การออกกฎหมายภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น เป็นต้น

Employee productivity uplift การพัฒนาผลิตภาพการผลิต เช่น ธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อ “คน” หรือพนักงาน จะสามารถดึงดูดให้มีคนเก่งๆ สนใจไปทำงานด้วย บริษัทชั้นนำของโลกที่เป็นผู้นำในเรื่องความยั่งยืนจึงมักให้ความสำคัญต่อวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการมีส่วนช่วยทำให้โลกและสังคมดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานที่มีความหมายและสร้างคุณค่าให้แก่ผู้อื่น เป็นต้น

Investment and asset optimization การสร้างประโยชน์จากการลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ เช่น บริษัทจัดการลงทุนและผู้ลงทุนสถาบันมักหลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจที่มีประเด็นเชิงลบในด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เป็นต้น

ผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญต่อผลการดำเนินงานด้าน ESG ของธุรกิจที่เข้าไปลงทุน เรื่อง ESG ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและดำเนินการ ปัจจุบันมีผู้ลงทุนเกือบ 2,000 บริษัทที่มีมูลค่าสินทรัพย์การลงทุน 81.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เข้าร่วมกับ UN Principles for Responsible Investment (PRI) และมีแนวคิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบ โดยพิจารณาเรื่อง ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงควรเข้าใจเรื่อง ESG เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการประเมินธุรกิจ สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรกคือ นักวิเคราะห์ต้องสามารถวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Material Issue) ของธุรกิจว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจอย่างไร บริษัทมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเหล่านั้นอย่างไร บริษัทดำเนินการอย่างไรในการบริหารจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจ และผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายหรือแนวปฏิบัติในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ซึ่งหากบริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ นักวิเคราะห์ต้องสอบถามบริษัทผ่าน Company Visit หรือประชุมผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังอาจศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทนั้นๆ ได้ถูกประเมินโดยหน่วยงานเรตติ้งและมีผลการประเมินเป็นอย่างไรบ้าง เกณฑ์ที่ใช้ประเมินเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งหรือบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งในและต่างประเทศถือว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการประเมินมูลค่า (Valuation) กิจการและนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้ลงทุน

“ความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนในการลงทุน”
 
Mr.Stephen Andrews, Managing Director, Global Emerging Markets Equities, BlackRock เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างยั่งยืนและอธิบายถึงความหมายของการลงทุนแบบ ESG ว่าเป็นการผนวกเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลไว้กับปัจจัยด้านการเงิน

ในการพิจารณาลงทุนของกองทุน BlackRock จึงมีการประเมินดังต่อไปนี้

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การขาดแคลนวัตถุดิบและน้ำ ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การจัดการขยะและการรีไซเคิล เป็นต้น

ปัจจัยด้านสังคม เช่น การดูแลพนักงาน ความหลากหลายและความเท่าเทียมกันทางเพศ สิทธิมนุษยชน การไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ปัจจัยด้านบรรษัทภิบาล เช่น การติดสินบนและคอร์รัปชัน ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ความโปร่งใสและแนวปฏิบัติที่ดี ค่าตอบแทนของผู้บริหาร กระบวนการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิของผู้ถือหุ้น เป็นต้น

BlackRock มีปรัชญาในการลงทุนโดยเชื่อว่าประเด็นความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนในการลงทุนในระยะยาว BlackRock จึงใช้หลักการ LEAD Local approach คือ การปรับแนวทางการลงทุนให้เข้ากันกับบริบทของบริษัท เพื่อให้สามารถเข้าใจประเด็นความเสี่ยงและอุปสรรคด้าน ESG ของบริษัทที่เข้าไปลงทุน Engagement คือการเข้าไปหารือร่วมกับบริษัทในประเด็น ESG เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในระยะยาว Adapting คือการที่ต้องเข้าใจว่า ESG เป็นประเด็นที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่คงที่ และต้องปรับไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สิ่งที่สังคมยอมรับได้ในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ในอนาคต Directional คือการลงทุนในบริษัทที่มีทิศทางที่คำนึงถึงความสำคัญของ ESG

กระบวนการพิจารณาหลักทรัพย์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ขั้นตอนของ BlackRock ประกอบด้วย

1.ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การรวบรวมทัศนะและความเห็นของผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ การใช้ผลการศึกษาวิจัยจากทั้งภายในและภายนอกบริษัท อันนำไปสู่การคัดเลือกหลักทรัพย์โดยพิจารณาจากปัจจัยด้าน ESG

2.ขั้นตอนการศึกษาในรายละเอียด ได้แก่ การวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน การสร้างแบบจำลองทางการเงิน การประชุมร่วมกับบริษัท การหารือประเด็น ESG ร่วมกับทีมดูแลรักษาสินทรัพย์การลงทุน

3.ขั้นตอนการตัดสินใจ ได้แก่ การทบทวนและประเมินสินทรัพย์ลงทุน โดยมี ESG เป็นข้อพิจารณาและอาจใช้ระบบประเมินความเสี่ยงที่ซับซ้อน (RQA : Risk and Quantitative Analysis) ร่วมด้วย

4.ขั้นตอนการติดตาม ได้แก่ การทบทวนและมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในกระบวนการลงทุน การทบทวนแบบการประเมินสินทรัพย์ลงทุน และการหารือร่วมกับทีมดูแลรักษาสินทรัพย์การลงทุนและทีมวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

นอกจากนี้ Mr.Stephen ยังได้เล่าถึง BlackRock Investment Stewardship (BIS) ว่าคือการดูแลรักษาทรัพย์สินลงทุนของ BlackRock ให้แก่ลูกค้าด้วยการติดตามและเข้าหาบริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเด็นด้าน ESG ซึ่งมีผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงิน โดยบริษัทได้วางกรอบการทำงานในการมีส่วนร่วมกับบริษัทที่เข้าไปลงทุนไว้ 6 ระดับดังนี้

1.การประเมิน ESG เบื้องต้นด้วยการเข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้าน ESG ของบริษัท

2.การหารือร่วมกับผู้บริหารเพื่อปรับปรุงหรือยกระดับคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล ESG ในภาพรวม รวมถึงการให้ความรู้แก่บริษัทในเรื่องความสำคัญของ ESG

3.การหารือร่วมกับทีมผู้บริหารในเชิงลึกเพื่อปรับปรุงผลการดำเนินงานด้าน ESG เช่น การจัดทำนโยบาย แนวปฏิบัติ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG

4.การหารือร่วมกับคณะกรรมการของบริษัทเพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงาน

5.การหารือในรายละเอียดของประเด็นที่สำคัญด้านความยั่งยืน (Material Issue)

6.การออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

“เส้นทางของ BTS สู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านความยั่งยืนในระดับโลก”

สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) เล่าถึงพัฒนาการของ BTS ว่า บริษัทได้เริ่มต้นดำเนินการด้านความยั่งยืนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยนำประเด็นด้าน ESG มาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์และพันธกิจผ่าน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจขนส่งมวลชน สื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์ และบริการ โดยมีค่านิยมองค์กร 4 เรื่อง ได้แก่ การส่งมอบความพึงพอใจให้ลูกค้า การสร้างมูลค่าของผู้ถือหุ้น การสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน และการพัฒนาชุมชน ซึ่งถือเป็นกรอบการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กรสำหรับทุกสายงานของบริษัท

BTS ได้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ตั้งแต่ปี 2561 นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทยังได้คะแนนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของบริษัททั้งหมดในตลาดเกิดใหม่อีกด้วย

สิ่งที่ BTS ได้จากการเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน คือ ได้ทบทวนแนวทางปฏิบัติและพัฒนาผลการดำเนินงานของบริษัท ที่สำคัญคือได้รับมุมมองและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการองค์กรจากการศึกษาข้อคำถามในแบบประเมินของ DJSI ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงและโอกาสในการดำเนินธุรกิจในแต่ละมิติ เช่น มิติเศรษฐกิจ (เรื่องบรรษัทภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยง การจัดการห่วงโซ่อุปทาน) มิติสิ่งแวดล้อม (เรื่องการใช้ทรัพยากรและเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และมิติสังคม (เรื่องสิทธิมนุษยชน การพัฒนาทุนมนุษย์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย)

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเรื่องความยั่งยืนยังเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนหรือนักวิเคราะห์การลงทุนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือสอบถามข้อมูลกันมากนัก จำนวนข้อคำถามที่บริษัทได้รับเวลาไปโรดโชว์ต่างประเทศยังถือว่าน้อยมากอยู่ หากผู้ลงทุนหรือนักวิเคราะห์การลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น อาจนำไปสู่การใช้ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ของธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต

“วิเคราะห์ ESG ต้องลงลึกในรายละเอียด”

นิพจน์ ไกรลาศโอฬาร ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนของ บลจ.ทิสโก้ ว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้วโดยได้สังเกตจากพฤติกรรมราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงเมื่อมีปัจจัยลบด้าน ESG มากระทบ แม้ว่าเรื่องนั้นอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกำไรของบริษัท เช่น กรณีเกิดการติดสินบน หรือกรณีมีการใช้ข้อมูลภายใน แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า แท้จริงแล้วปัจจัยเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับกำไรของธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นความต้องการของลูกค้าสถาบันที่สนใจเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนอีกด้วย ในที่สุด บลจ.ทิสโก้ จึงได้ศึกษาเรื่อง ESG อย่างจริงจังจนออกผลิตภัณฑ์กองทุน ESG หุ้นไทยกองแรก และล่าสุดได้ออกกองทุนหุ้นโลกยั่งยืน โดยมีผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงกว่าตลาด (Outperform)

ปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG อาจไม่ได้สะท้อนให้เห็นตรงๆ ในงบการเงิน แต่มีผลกระทบต่อ intangible value ของธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถรับรู้รายได้ในไตรมาสนั้น เช่น กรณีถูกฟ้องร้องจากชุมชน หรือมีกรณีทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าธุรกิจจะยังมีผลประกอบการดีอยู่ แต่ราคาหุ้นจะตกลง ดังนั้น นักวิเคราะห์การลงทุนจึงควรต้องคำนึงถึงประเด็นด้าน ESG ในการวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ทางการเงิน

ปัจจุบันนักวิเคราะห์ได้นำเรื่อง ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ อีกทั้งมีแนวโน้มที่ผู้ลงทุนนำ ESG มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนกันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ในระดับโลกที่ให้ความสำคัญต่อประเด็น ESG อย่างจริงจัง จากสถิติพบว่า ผู้ลงทุนสถาบันได้ขายหุ้นทิ้งหรือเลิกลงทุน หากพบว่าธุรกิจมีประเด็น ESG ในด้านลบ เช่น หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดินเรือที่มีการทิ้งซากเรือไว้ในทะเลและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือหุ้นในธุรกิจที่ยังพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก

กลยุทธ์การลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์ 6 แบบ ดังนี้

1.Exclusionary Screening หลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจที่มีปัจจัยลบด้าน ESG เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจถ่านหิน แอลกอฮอล์ ยาสูบ การพนัน อาวุธสงคราม เป็นต้น

2.ESG Integration นำปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาในการลงทุน ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์งบการเงินและแนวโน้มของธุรกิจ

3.Active Ownership ใช้สิทธิของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นในการออกเสียงในวาระต่างๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้น หรือให้ข้อเสนอแนะแก่นักลงทุนสัมพันธ์และผู้บริหารของบริษัทที่เข้าไปลงทุน

4.Best-in-Class Selection คัดเลือกลงทุนในกิจการที่สามารถบริหารจัดการประเด็นด้าน ESG ได้ดี แม้ว่ากิจการนั้นจะดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำลายสังคมหรือสิ่งแวดล้อมก็ตาม เช่น ธุรกิจน้ำมันที่ได้บริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมหรือได้ดำเนินการชดเชยเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยง หรือผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมลง

5.Thematic Investing ลงทุนตามเทรนด์ที่เป็นประเด็นด้าน ESG เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สีเขียว (Green real estate)

6.Impact Investing ลงทุนด้วยเจตนาที่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางการเงิน

การนำประเด็นด้าน ESG มาพิจารณาในการวิเคราะห์การลงทุน อาจเริ่มต้นจากการใช้ข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยในรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือแบบแสดงรายการ 56-1 ซึ่งอาจยังมีข้อจำกัดว่า ข้อมูล ESG ของแต่ละบริษัทอาจยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น อาจใช้หน่วยหรือตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ส่วนข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามอาจยังมีข้อจำกัดเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

ดังนั้น นักวิเคราะห์การลงทุนควรต้องมีบทบาทในการสอบทานและคัดกรองข้อมูล รวมถึงทวนสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยละเอียดด้วยการเข้าพบบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ที่แม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และสร้าง Alpha หรือผลตอบแทนการลงทุนที่ชนะตลาดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น