FETCO ชี้หุ้นร่วงหลุด 1,500 จุด เหตุนักลงทุนกังวลปัจจัยระยะสั้นมากเกินไปเนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์จึงเทขายหุ้นออกมามาก มั่นใจพื้นฐานของไทยยังแข็งแกร่ง
นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงค่อนข้างมากของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในช่วงเช้านี้ทำให้ดัชนีหลุดระดับ 1,500 จุดนั้น มาจากความกังวลของปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นตามไปด้วย โดยเฉพาะปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย และการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลของนักลงทุนที่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในประเทศจีนอย่างมากได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงจีนไม่ต่ำกว่า 10% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เมื่อเศรษฐกิจจีนเกิดการชะงักจึงกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วย และมีหลายสถานบันออกมาปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้เหลือต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยได้เห็นมานานแล้ว จึงสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนค่อนข้างมาก จึงเกิดแรงเทขายหุ้นออกมาค่อนข้างมากในวันนี้
"ภาวะตลาดหุ้นวันนี้เป็นการสะท้อนปัจจัยระยะสั้นที่ไม่ได้มองถึงปัจจัยระยะยาวของไทย ซึ่งวันนี้เกิด Panic selling จากการที่คนมองว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจออกจากตลาดไปก่อนในช่วงนี้ แต่หลังจากนี้ก็ดูความคืบหน้าและการที่ภาครัฐจะออกมาตรการมาสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน" นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยจากภาครัฐ คือการสร้างความเชื่อมั่นจากการออกมาสื่อสารความชัดเจนของแผนงานที่จะทำทั้งหมดในครั้งเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้นักลงทุนเห็นภาพในระยะยาวของประเทศไทยที่ชัดเจนมากขึ้น และมีความมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของไทยที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงการให้ความชัดเจนของการเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณ ทำให้นักลงทุนทราบถึงจำนวนเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีแผนสำรองไว้รองรับหากความไม่แน่นอนต่างๆ มีความยืดเยื้อเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง โดยมองว่าการสื่อสารจากภาครัฐเป็นสิ่งที่สำคัญมากในช่วงที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอนและมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนและนักลงทุนมีความสับสนและเกิดความไม่มั่นใจ
ทั้งนี้ FETCO ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการจัดกิจกรรมพบปะนักลงทุน ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวค่อนข้างมากในช่วงนี้ตามประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ โดยมีรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่สนใจเข้ามาพูดคุยให้ข้อมูลกับนักลงทุนในประเทศก่อน และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หมดลงแล้ว จะมีการออกไปเดินสายให้ข้อมูลแก่นักลงทุนต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแสดงให้เห็นความชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นถึงพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และมั่นใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น
ด้านมุมมองของการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น มองว่าเป็นสิ่งที่ดีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว การใช้งบประมาณขาดดุลจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจไทยได้ อีกทั้งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นโอกาสที่รัฐบาลสามารถกู้เงินได้ในต้นทุนที่ถูก ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี อยู่ราว 1% ต่อปี ทำให้การลงทุนของภาครัฐมีต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งมองว่ารัฐบาลควรใช้งบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในปี 63-64 เพื่อเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายไพบูลย์กล่าวว่า ภายหลังที่ รมว.คลังได้พบนักวิเคราะห์ได้รับฟังแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และแผนการใช้งบประมาณปี 63 มองว่านักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และเริ่มเห็นระยะเวลาที่ชัดเจนของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ที่จะต้องเร่งออกมาภายในระยะเวลา 6 เดือน