xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ทวีสุข” ชี้ ไวรัสโควิด-19 ทำ ศก.จีนทรุด แต่พร้อมฟื้นสู่อุตสาหกรรมใหม่ใน 4 ปี แต่ไทยสาหัสยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อ.ทวีสุข” ชี้ ไวรัสโควิด-19 ทำเศรษฐกิจจีนทรุด คาด ยอมปล่อยอุตสาหกรรมที่ไปไม่รอดล้มไป แล้วเอาอุตสาหกรรมใหม่เข้าแทน เพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งใช้เวลาฟื้นประมาณ 4 ปี แต่ที่น่าห่วงคือ ประเทศที่เอาเศรษฐกิจผูกกับจีน โดยเฉพาะไทย เชื่อหนักสาหัส เพราะทุกวันนี้พึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ ไม่มีองค์ความรู้บนอุตสาหกรรม 4.0 เลย



วันที่ 19 ก.พ. 63 อ.ทวีสุข ธรรมศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ไวรัสโควิด19 พ่นพิษเศรษฐกิจจีน-ไทยสาหัส”

โดย อ.ทวีสุข ได้กล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจของจีนอ่อนแอมากอยู่แล้ว ไวรัสโควิด-19 เหมือนเป็นแรงกดดันครั้งใหญ่ที่ทำให้แผลที่อยู่ข้างในเปิดออกมากเร็วและแรง หากมีนาคมไวรัสอยู่ในระดับควบคุมได้ กระบวนการในประเทศยังชะงัก ที่น่าห่วงคือธนาคารเล็กๆ ตามมณฑลเกิดภาวะหนี้เสีย ยิ่งทุกอย่างชะงักแบบนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเข้าสู่วิกฤต ช่วง มี.ค. - พ.ค. จะทำเศรษฐกิจจีนชะงักครั้งใหญ่

หลังไวรัสคุมอยู่ ก็จะพบวิกฤตเศรษฐกิจต่อเลย สิ่งที่เกิดตอนนี้การพึ่งพาจีนที่มาก จีนคือโรงงานของโลก สินค้าต่างๆ พอชะงัก ทั่วโลกต้องคิดว่ายังควรให้จีนเป็นโรงงานของโลกอีกหรือเปล่า ฐานเศรษฐกิจของไทยทรุดฮวบเลย เพราะเราผูกติดกับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจีน ซึ่งเริ่มแผ่วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตอนนี้ชะงักเด็ดขาด เราต้องรับมือขนาดหนัก ตอบไม่ได้เลยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่

อ.ทวีสุข กล่าวว่า จุดแข็งของจีนในเรื่องไวรัสนี้ ประชาชนของเขามีระเบียบ เชื่อฟังรัฐบาลกลาง เป็นสัญญาณที่ดีที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ เดือน เม.ย. - พ.ค. ถ้าไม่สามารถควบคุมรูปแบบการล้มของธนาคารได้ เศรษฐกิจจีนจะทรุด 4-6 ปี

ถ้าไวรัสหยุดได้ แล้ว มี.ค.ทุกอย่างกลับมาปกติได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์ การหมุนดีขึ้น แต่ถ้ายืดต่อเตรียมรับแรงกระแทกเศรษฐกิจครั้งใหญ่เลย เพราะทั่วโลก 17 เปอร์เซ็นต์ ผูกกับจีน แล้วกลายเป็นว่าผูกกับสินค้าอุปโภค บริโภค ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทุกอย่างชะงักงัน

อ.ทวีสุข กล่าวด้วยว่า คาดว่า สิ่งที่จีนจะทำหากธนาคารเล็กๆ จะล้ม ก็คือ ปล่อยล้มแล้วเอาธนาคารใหญ่มาเทกโอเวอร์ การเกิดวิกฤตในจีนคงใช้เวลา 4 ปี เพื่อให้ตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำ อุตสาหกรรมไหนที่ไม่สามารถไปต่อได้ก็ให้จบไป แล้วทำอุตสาหกรรมใหม่ครอบคลุมเลย เรียกว่าเจ็บแต่จบ เพราะเขาปรับโครงสร้างตั้งแต่ระดับการศึกษา พร้อมแล้วเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพียงแต่ไวรัสมาทำให้มันเกิดเร็วขึ้นเท่านั้น ปัญหาคือกลุ่มประเทศที่ผูกกับจีน 2-4 ปี ต้องบริหารความเสี่ยงขั้นสูงสุด ต้องเริ่มหาผูกตลาดใหม่ แล้วอย่าคิดว่าเขาจะกลับมา เพราะเขาต้องใช้เวลา 4 ปีในการฟื้นตัวเอง

อ.ทวีสุข กล่าวต่อถึงผลกระทบไวรัสต่อเศรษฐกิจไทย ว่า ปี 57-58 เศรษฐกิจไทยเกือบทรุดไปรอบแล้ว แต่โชคดีอยู่ๆ การท่องเที่ยวของจีนบูมกลับเข้ามา ดึงเศรษฐกิจเราให้ทะยานกลับขึ้นมา รอบนี้เราดีใจกับของเก่า แล้วคิดว่ายั่งยืนคนจีนจะเข้ามาตลอด แต่ไม่เห็นว่ามีสัญญาณตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา รูปแบบการมาท่องเที่ยว การลงทุน ชะงักไปเกือบหมดเลย แล้วพอมาตอนนี้ทุกอย่างแช่แข็งหมด นักท่องเที่ยวมาไม่ได้ การลงทุนทุกอย่างหยุดชะงัก เราไปผูกเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อขายทั้งหมดอยู่กับบริโภคในจีนเลย ดังนั้นในไตรมาส 1-2 ชะงักงันแน่นอน

ปัญหาตัวระเบิดเวลาในไทย คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วเมื่อเทียบกับจีดีพี 13 ล้านล้าน 1 ใน 3 ผูกกับการกู้อสังหาริมทรัพย์ นี่คือ เหตุผลเลยว่าทำไมการบริโภคถึงชะงัก ซึ่งขั้นแรกเราจะเห็นว่าคนไปกู้อสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้น เริ่มไปกู้หนี้สินส่วนบุคคลเพื่อมาโปะและบริโภค ตอนนี้กลายเป็นว่าแรงบริโภคหยุดมาตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีการท่องเที่ยวเข้ามาอีก

พอพูดถึงระดับอุตสาหกรรม เราอยู่บนอุตสาหกรรม 3.0 เราไม่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ต้องเอาเทคโนโลยีต่างประเทศมา สิ่งที่น่าวิตกคือ คนอายุ 30 ลงไป เขาเรียนบนโครงสร้างอุตสาหกรรม 3.0 แต่เขาต้องมีชีวิตบนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไม่มีองค์ความรู้เลย รัฐบาลแก้ด้วยการอิมพอร์ตคนเข้ามาก่อน แต่ก็เป็นการลูบหน้าปะจมูก เพราะโครงสร้างการศึกษา การสร้างบุคลากรไม่ได้รองรับ ดังนั้น คงไม่ได้มองว่าปีนี้ แต่ในระยะยาว 5-10 ปี จะมีปัญหามากของการสร้างคนขึ้นมาทดแทนอุตสาหกรรมใหม่ เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

เราไม่มีบริษัทที่สามารถเข้าสู่เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ได้เลย วันนี้เห็นสตาร์ทอัปเราตายหมดแล้วไม่มีใครขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้เลย ซึ่งต่างจากจีน เขาเจ็บแต่พร้อมไปสู่โลกอนาคต คนของเขาพร้อมมาก แต่เราลืมที่จะทำของตัวเอง น่าเป็นห่วงในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น