บล.กสิกรมองแนวโน้มการลงทุนไทยเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตปัจจัยลบต่างประเทศ ถาโถมเข้ากดดันต่อเนื่อง ทั้งการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเด็ดขาด ฉุดภาพรวมการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ขนส่ง และภาคการส่งออก อีกทั้งปัญหาภัยแล้งในประเทศ เข้าซ้ำเติม คาด GDP ไทยที่ประเมินไว้อาจต่ำกว่าเป้า แนะรัฐควรออกมาตรการผ่อนคลายดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “ไวรัส VS ลงทุน ฝ่าวิกฤตโคโรน่าปรับกระบวนท่าการลงทุน” ณ ห้องประชุม ศ. สังเวียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในจีนขณะนี้ ตัวเลขผู้ที่เข้ามาตรวจหาเชื้อไวรัส พุ่งสูงสุด 1.9 แสนรายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 และลดลงมาเหลือ 1.41 แสนราย ซึ่งหากสามารถลดยอดผู้ตรวจหาเชื้อได้วันละ 10,000 รายต่อวัน และนับจากนี้ต่อไป หากไม่มีการติดเชื้อรอบ 2 เชื่อว่าตัวเลขในจีนจะดีขึ้นอีก 20 วัน โดยที่ผ่านมา สัดส่วนผู้เข้ามาตรวจสุขภาพแล้วพบเชื้อ มีเพียง 3% เท่านั้น ส่วนใหญ่อีก 97% ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา และอัตราการตายก็อยู่ในระดับ 2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ในรายที่เสียชีวิต มักเกิดจากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือในวัยผู้สูงอายุมากกว่า ซึ่งความเสี่ยงในจีนน่าจะเริ่มเห็นทางออกแล้ว แต่ปัญหาต่อมาอยู่ในส่วนของประเทศอื่นๆ ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีมากน้อยเท่าใด ซึ่งมองว่าเมืองร้อนน่าจะได้เปรียบมากกว่า ส่วนเมืองเขตหนาวก็น่าจะมีความน่ากลัวมากกว่า รวมถึงยังเป็นเชื้อโรคที่พัฒนาจากสัตว์มาสู่คนด้วย ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสดังกล่าว เมื่อได้รับเชื้อไปจึงมีโอกาสติดเชื้อได้สูงมาก แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การควบคุมสถานการณ์น่าจะทำได้ดีมากกว่า
“ในกรณีที่การแพร่ระบาดของไวรัส ไม่สามารถควบคุมได้ตามที่คาดการณ์ไว้ และการแพร่เชื้อในต่างประเทศมีมากและรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง ยาวจนถึงไตรมาส 2 ของปี 2563 และส่งผลกระทบในเชิงระบบ มองว่าหากเกิดขึ้น รัฐบาลต้องลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ และอาจจำเป็นต้องปล่อยให้ดอกเบี้ยติดลบ เนื่องจากมองว่าหากปล่อยให้บาดเจ็บเลือดสาดก่อน แล้วค่อยมาหั่นดอกเบี้ยลง อาจไม่ทันเวลาแล้ว” นายภาสกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดต่อไป ควรที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง จำนวน 0.25% เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากหลายปัจจัย โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว ที่ปกติภาพรวมก็ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ดีมากนัก รวมถึงการล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ที่เบิกจ่ายไม่ได้ ส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐหายไปค่อนข้างมาก และภัยแล้งที่กระทบต่อภาคเกษตร โดยจากปัจจัยทั้งหมด จึงมองว่าควรลดดอกเบี้ยลง เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น
“จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการโรคระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวแต่ละประเทศชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะจีน ซึ่งตอนแรกเป็นประเทศนักท่องเที่ยวหลักที่ไทยหวังพึ่งพารายได้ โดยหากดูข้อมูลตัวเลขผู้โดยสารของท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวลดลงแล้วกว่า 30% ซึ่งประเมินว่าทั้งปี 2563 ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะติดลบ 8-10% ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม เป็นมาตรการเยียวยาส่วนที่ไม่ใช่สายการบิน อาทิ ร้านค้าในสนามบิน เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง จากนักท่องเที่ยวที่หายไป 30%”
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการส่งออก คาดว่าตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2563 จะติดลบ 1.7% แบ่งเป็นส่งออกสินค้า ติดลบ 1% ส่งออกบริการ ติดลบ 5% โดยหากจบเรื่องไวรัสได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 ค่าเงินบาทจะกลับมาเคลื่อนไหวในโซนแข็งค่าอีกครั้ง ที่ระดับ 30-30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จนถึงสิ้นปี 2563 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย ยังคงไว้ที่ระดับ 1,700 จุด ส่วนกรอบระยะสั้นในช่วง 1 เดือนนี้ให้ไว้ที่ระดับ 1,520-1,570 จุด และหากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เชื่อว่าดัชนีฯจะผ่านระดับกรอบบนไปได้ จึงให้กรอบในระยะถัดไปที่ระดับ 1,570-1,614 จุด