xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 กับเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

หลังจากที่พัฒนาการด้านสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้คลายความกังวลให้นักลงทุนไปบ้างแล้ว ก็ได้มีปัจจัยภายนอกที่โอกาสเกิดน้อยครั้งอย่างโรค “ไวรัสโควิด-19” กลับมาสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดหุ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยนั้นอาจจะมากกว่าที่เราคาดคิดไว้ โดยในบทความครั้งนี้ เราจะลองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ช่วงปี 2545-2546 สมัยที่โรคซาร์สระบาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และครั้งนี้มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง

ท่านผู้อ่านน่าจะพอได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนากันมาบ้างแล้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคซาร์สที่เคยระบาดในช่วงปลายปี 2545 จนถึงประมาณช่วงกลางปี 2546 และมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนเช่นกัน ซึ่งความรุนแรงระหว่างไวรัสโคโรนากับซาร์สนั้นดูเหมือนว่าไวรัสโคโรนาจะมีความรุนแรงน้อยกว่าหากเราวัดจากอัตราการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว ไวรัสโควิค-19 มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2% ในขณะที่ซาร์สนั้นอัตราการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วอยู่ที่ประมาณ 10% แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อของไวรัสโคโรนาในปี 2563 นั้นสูงกว่าซาร์ส และมีการแพร่กระจายที่เร็วกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจีนโดยตรง เนื่องจากทางภาครัฐต้องใช้มาตรการเพื่อที่จะหยุดการแพร่กระจายของโรค จึงส่งผลให้โรงงานและบริษัทต้องหยุดทำการชั่วขณะ ในปัจจุบันนั้นกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตรถยนต์ต้องอาศัยชิ้นส่วนรถยนต์จากผู้ผลิตหลายราย โดยประเทศจีนเองนั้นเป็นประเทศที่ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เป็นอันดับต้นของโลก มีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากกระบวนการผลิตและส่งมอบชิ้นส่วนล่าช้าลงไปก็จะส่งผลกระทบต่อสายการผลิตทั้งหมดได้ นอกจากด้านการผลิตแล้ว ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการห้ามเดินทางของชาวจีน รวมถึงความกังวลต่อสถานการ์ณจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเช่นกัน

หากเราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ช่วงการระบาดของโรคซาร์ส เราจะพบได้ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2545 เติบโตอยู่ที่ประมาณ 6.8% ก่อนที่จะปรับตัวลงมาเหลือ 6.3% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2546 ในช่วงปี 2545 นั้นประเทศไทยมีสัดส่วนการค้า (มูลค่าการนำเข้าและส่งออก) กับจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.6% ในขณะที่ปี 2562 เติบโตขึ้นมาเป็น 18.3% ในด้านการท่องเที่ยวนั้น ปี 2545 สัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็น 7.4% ในขณะที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 27.6% จากตัวเลขข้างต้นเราคงพอเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นมีความเกี่ยวโยงกับประเทศจีนนั้นสูงขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12.3% ของ GDP ในปี 2562

เราคงจะพอเห็นภาพได้ว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน จากการชะลอตัวในส่วนของภาคการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะหดตัวลงจนกว่าปัญหาจะคลี่คลายลง หากอิงจากในอดีตแล้วจะต้องใช้เวลารวมประมาณ 9 เดือนก่อนที่อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการชะลอตัวจากการส่งออกและการท่องเที่ยวนั้นจะส่งผลกระทบทางลบไปยังการบริโภคภายในต่อไป เราจะเห็นได้ว่าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยนั้นได้หยุดทำงาน


ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงความกังวลถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.25% เหลือ 1% ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 นั้นยังคงมีความล่าช้าและไม่แน่นอนอยู่ ผมคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตต่ำกว่า 2% ในช่วงครึ่งปีแรก และเราอาจจะได้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางอีกครั้ง ก่อนที่เศรษฐกิจจะค่อยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 ผมยังคงคิดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีโอกาสที่จะโตต่ำกว่า 2% เป็นไปได้ค่อนข้างมากครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น