โบรกเกอร์ มองกลุ่มโรงพยาบาลจะได้รับอานิสงส์จากโรคระบาดไวรัสโคโรนา “ บล .เอเซีย พลัส” มองสถานการณ์ไวรัส “อู่ฮั่น” ระบาด หนุนบรรยากาศเชิงบวกหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล “บล.เอเซีย พลัส” เชื่อปัจจัยบวกจากการเพิ่มค่าหัวประกันสังคมหนุนโรงพยาบาลที่รับประกันสังคม ส่วน “บล.เคทีบี” เชียร์ซื้อ “BDMS-BCH-CHG” ชี้มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว-โอกาสเติบโตสูง “บล.เคจีไอ ” คาด กำไร BDMS ไตรมาส 4 ปี 62 อยู่ที่ 2.23 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 65.4% จากปีก่อนแ แนะนำซื้อ โดยให้ราคาเป้าหมายใหม่ปี 2563 ที่ 31 บาท ด้าน บล.“ทรีนีตี้” ให้ติดตามโรคระบาดและ พ.ร.บ.งบประมาณและ กนง. แนะหุ้นที่มีความปลอดภัย
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ บล.เคจีไอฯ คาดว่า กำไรสุทธิของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ในไตรมาส 4 ปี 62 จะอยู่ที่ 2.23 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.4% จากปีก่อนแต่ลดลง 22.7% จากไตรมาสก่อน คิดเป็น 14 % ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 1.602 หมื่นล้านบาท พราะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (deferred tax) 727 ล้านบาทที่เกิดจากการขายหุ้น Ramkhamhaeng Hospital Plc (RAM.BK/RAM TB) ในไตรมาส 4 ปี 61 ซึ่งต้องบันทึกตามมาตรฐานบัญชีไทยฉบับที่ 12 ก่อนที่จะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นใน ไตรมาสแรกปี 62 อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 62 จะลดลงเทียบไตรมาสก่อน จากผลของปัจจัยฤดูกาล คาดว่ารายได้ในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 2.04 หมื่นล้านบาท ในขณะที่คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของ BDMS ในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 35.0% ลดลงจาก 35.4% ในไตรมาส 4ปี 61 แต่เพิ่มขึ้น core gross margin (หักรายการ deferred tax ออกไป) จาก 29.6% ในไตรมาส 4ปี 61 นอกจากนี้คาดว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะลดลง เหลือประมาณ 200 ล้านบาท รวมทั้งคาดว่าสัดส่วน 70% เป็นผู้ป่วยชาวไทย ขณะที่อีก 30% เป็นผู้ป่วยต่างชาติ
สำหรับแนวโน้มไตรมาสแรกปี 63 คิดว่าผลประกอบการของ BDMS จะชะลอตัวลง เทียบปีก่อน จากการระบาดของ coronavirus โดยคาดว่ารายได้จากผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศมาใช้บริการของโรงพยาบาลซึ่งคิดเป็นประมาณ 15% ของรายได้จากโรงพยาบาลรวมจะถูกกระทบจากความกังวลเรื่องการระบาดของโคโรน่าไวรัส ส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติที่โรงพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% จะไม่ถูกกระทบจากความกังวลในประเด็นนี้ ดังนั้น จึงคาดว่าผลประกอบการจึงน่าจะถูกกระทบเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ยังคงประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักปี 2562 เอาไว้ที่ 9.9 พันล้านบาท และปี 2563 ที่ 1.06 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่้มขึ้น 6.6% อย่างไรก็ตาม คิดว่ายังมีความเสี่ยงด้าน downside ประมาณ 3.0-4.5% ในปี 2563 หากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมาลดลง 10-15% และ margin ลดลง 1% จากเดิมพร้อม แนะนำ "ซื้อ" และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 31.00 บาท
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า บริษัทประเมินว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่า (อู่ฮั่น) ช่วงนี้จะเป็นบรรยากาศเชิงบวกแก่หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเร็วขึ้น จากเดิมที่หากมีอาการป่วยในภาวะปกติอาจรอดูอาการก่อนเข้ารักษา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อรายได้หรือกำไรของกลุ่ม และปัจจัยการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้ป่วยประกันสังคม จะเป็นบวกต่อกลุ่มโรงพยาบาลประกันสังคม ที่ผลประกอบการงวดไตรมาส 4ปี 62 อาจได้รับแรงกดดันจากเงินประกันในส่วนโรคร้ายแรงที่คาดว่าจะได้รับกลับไป ต่ำกว่าอัตราที่ประกันสังคมกำหนด จาก 12,800 บาท เหลือ 7,100 บาท
“หุ้นโรงพยาบาลที่น่าสนใจ เรามองอยู่ 2-3 โรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลประกันสังคมที่ปลายปี 2562 ได้รับผลกระทบจากการเบิกเงินประกันสังคมได้น้อย ส่งผลให้ฐานรายได้ต่ำกว่าปกติ ซึ่งในปี 2563 รายได้จะปรับขึ้น และเห็นการเติบโตค่อนข้างโดดเด่น อาทิ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ราคาเหมาะสมที่ 22.10 บาท และ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ราคาเหมาะสมที่ 2.98 บาท”
นายสุวัฒน์กล่าวว่า ส่วนของโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับประกันสังคม แนะนำ ลงทุนใน บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ราคาเหมาะสม 28.00 บาท เนื่องจากมีการเร่งขยายเครือข่ายของโรงพยาบาลในกลุ่ม ขณะปัจจุบันเป็นช่วงที่เริ่มเพิ่มอัตราการใช้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อไป
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บล.เคทีบีให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลมากกว่าตลาด (overweight) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยอ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจ โดยแนะนำลงทุนรายตัว (selective buy) ในโรงพยาบาลที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวและมีโปรเจ็กต์หนุนการเติบโตในอนาคต กลุ่มโรงพยาบาลที่น่าสนใจ ได้แก่ BDMS ราคาเป้าหมายที่ 28.00 บาท BCH ราคาเป้าหมายที่ 18.00 บาท และ CHG ราคาเป้าหมายที่ 3.00 บาท
นายมงคลกล่าวด้วยว่า สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า อาจจะไม่ส่งผลกระทบเชิงบวกแก่หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากจะกระทบต่อลูกค้าต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการจะโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีฐานลูกค้าชาวต่างชาติสูง เช่น BDMS และ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีลูกค้าชาวไทยเข้ามาตรวจเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาด แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้ส่วนที่หายไปจากลูกค้าต่างชาติได้
บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี คาดว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสอาจนำไปสู่ downside 2% ของประมาณการรายได้ FY20F และ 3% ของประมาณการกำไรสุทธิเดิมของ BDMS พร้อม ปรับลดคำแนะนำเป็น "ถือ" โดยปรับลดราคาเป้าหมายที่ 26.20 บาท (P/E 36x CY21F, -1 s.d. จากค่าเฉลี่ย 5 ปี)
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังในการลงทุน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของพัฒนาการของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ การพิจารณา พ.ร.บ งบประมาณ ปี 2563 การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงการเข้ามาซื้อขายของหุ้น CRC ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ล้วนมีผลกระทบต่อการลงทุนทั้งสิ้น ทางทรีนีตี้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะอยู่ในระดับ 1,470-1,550 จุด
“ กรณีไวรัสโคโรน่า หากจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตยังไม่มีแนวโน้มชะลอลง คาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันราคาสินทรัพย์ต่อไป โดยเฉพาะตราสารและสกุลเงินเอเซีย รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นน้ำมัน ทั้งนี้มองว่าจุดซื้อที่ดีที่สุดของหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงแรม สายการบิน สนามบิน โรงกลั่น ยังคงได้แก่การรอให้ทาง WHO ประกาศว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถที่จะถูกควบคุมได้อย่างเป็นทางการแล้ว ”
ดังนั้น ในจังหวะนี้ ยังคงแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัย คือ กลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) , กลุ่มโรงพยาบาล ที่มักเป็นกลุ่มที่ Outperform ตลาดในช่วงที่เกิดโรคระบาด เลือก บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ,กลุ่มสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร ที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกับโรคระบาด และมีโอกาสซื้อสินทรัพย์ในราคาถูก ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM และ กลุ่มอาหาร ที่ได้ประโยชน์จากราคาสัตว์บกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF