xs
xsm
sm
md
lg

ส่องผลกระทบไวรัส “โคโรนา” AAV – ERW อ่วมสวนทางกลุ่ม รพ.เด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องหุ้นไทย กลุ่มไหนได้รับผลกระทบ “ไวรัสโคโรนา” และกลุ่มไหนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส พบว่า สายการบิน และ โรงแรมถูดคาดการณ์กระทบระยะสั้น ภาพรวม AAV อ่วม แต่ AOT ฐานธุรกิจแกร่ง ส่วน ERW กระทบมากสุดในกลุ่มโรงแรม ขณะที่บริษัทอื่นมีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดี และด้านกลุ่มโรงพยาบาลได้รับความสนใจเพิ่ม ยกBDMS โดดเด่น

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2563 หรือสิ้นเดือนแรกของปี ถือว่าสร้างแรงกดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสมีความรุนแรง ราคาหุ้นกลุ่มหุ้นสายการบิน - โรงแรม และกลุ่มค้าปลีกในประเทศปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนเกิดข้อสงสัยว่าในปี 2563 กลุ่มหุ้นเหล่านี้ยังน่าสนใจเข้าลงทุนมากน้อยเพียงใด?

จากข้อมูลที่รวบรวมพบว่า นักวิเคราะห์ค่ายต่างๆ ให้น้ำหนักว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมากที่สุด จากคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจากจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสายการบิน รองลงมาคือกลุ่มโรงแรม ส่วนกลุ่มค้าปลีกแม้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อภายนอกประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กำลังสูงภายในประเทศจะเข้ามาช่วยชแชยผลกระทบดังกล่าวไม่ให้รุนแรงจนน่าวิตก แต่โดยรวมให้ระมัดระวังการลงทุนกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน และค้าปลีก เนื่องจากมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะเดียวกันพบว่า กลุ่มหุ้นโรงพยาบาล จะได้รับความน่าสนใจเข้าลงทุนเพิ่มจากสถานการณ์ในครั้งนี้

 
“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) แสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงส่งผลกระทบต่อหุ้นไทยพอสมควร เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มที่เข้ามาเที่ยวไทยเป็นอันดับหนึ่ง โดยหากหลังจากนี้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม คาดว่าน่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไม่มากนัก แต่หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าจะมีแรงเทขายหุ้นที่เกี่ยวข้องออกมา นั่นกล่าว คือ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่ตลาดหุ้นไทยยังถือว่าค่อนข้างโชคดี เนื่องจากที่ผ่านมาดัชนีไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก จึงคาดว่าผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงมากเท่าตลาดหุ้นอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดเพียงช่วงสั้น โดยเชื่อว่าท้ายสุดจะหาวิธีรับมือกับโรคระบาดดังกล่าวได้จึงแนะนำนักลงทุนถือหุ้นต่อได้ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระดับต่ำจึงแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุน โดยเน้นถือหุ้นกลุ่ม Defensive

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ภายหลังรัฐบาลจีนสั่งห้ามบริษัททัวร์หยุดขายแพคเกจท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโคโรนา นั้นคาดว่าเรื่องดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยหดตัว และอาจต้องใช้เวลาประมาณครึ่งปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง และนั่นทำให้คาดว่ากว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมา จะใช้เวลาราว 3-6 เดือน ซึ่งนั่นหมายถึงจะทำให้ผลประกอบการของหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

AAV ฐานลูกค้าจีนสูงกระทบหนัก

จากข้อมูลที่รวบรวม พบว่า ในกลุ่มสายการบิน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ถูกให้เป็นหุ้นที่รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้อย่างหนัก เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากจีน 30%, AOT อยู่ที่ 15%, THAI อยู่ที่ 8% และ BA อยู่ที่ 2% โดย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ผลประกอบการของ AAV จะได้รับผลกระทบทางลบอย่างมากในงวดไตรมาส 1-2 ในปี 2563 เนื่องจากการหดตัวลงอย่างแรงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งในส่วนของกรุ๊ปทัวร์และเที่ยวบินแบบเหมาลำจนกว่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง พร้อมอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการกำไรและคำแนะนำการลงทุนหุ้น AAV

เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจัดเป็นปัจจัยลบสำหรับปี 2563 โดยก่อนหน้านี้เห็นถึงโอกาสในการฟื้นตัวของผลดำเนินงานเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา หลังจากที่ธุรกิจสายการบินเผชิญปัจจัยลบจำนวนมาก โดยหากจำนวนผู้โดยสารของ AAV ลดลง 5% จากปีก่อน อาจส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทกลายเป็นขาดทุนสุทธิประมาณ 376 ล้านบาทในปีนี้ เพราะคาดการณ์ว่า จำนวนผู้โดยสารจีนของบริษัทจะลดลงราว 3 แสนคน หรือ 1.5% ของจำนวนผู้โดยสารสำหรับปี 2563 เพราะผลการดำเนินงานของกลุ่มสายการบินจะได้รับผลกระทบจาก Load Factor และอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยที่ลดลง

AOTฐานธุรกิจแกร่ง - โคโรนากระทบระยะสั้น

จากการศึกษาพบว่าทุกๆ 1 เดือนของการสั่งระงับทัวร์จีนเดินทางท่องเที่ยว จะส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนลดลง 360,000 คน (40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเฉลี่ย 900,000 คนต่อเดือน) หรือส่งผลกระทบ 1% ต่อสมมติฐานที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2563 รวม 41.4 ล้านคน (+4% จากปีก่อน จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562) ซึ่งจะส่งผลกระทบ 1.2% ต่อกำไรปี 2563 ที่คาดการณ์ไว้สำหรับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จากรายได้ค่าบริการโดยสารและรายได้เชิงพาณิชย์ที่ลดลง นั่นทำให้คาดว่า AOT จะถูกกระทบน้อยที่สุดจากโครงสร้างธุรกิจที่ดีซึ่งมีรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินถึง 44% แต่ภาวะตลาดขณะนี้น่าจะกดดันให้หุ้นยังคงอ่อนแอไปจนกว่ากระแสข่าวการติดเชื้อจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

แต่โดยรวมยังเชื่อว่ากำไรของ AOT จะเติบโตแรงในปี 2563/2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่จะได้รับรายได้สัญญาใหม่ Duty Free สุวรรณภูมิ ดังนั้นหากสถานการณ์คลีคลายจะกลายเป็นโอกาสทันที แนะนำให้นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิด (ราคาตามปัจจัยพื้นฐาน 80.75 บาท)

ERW โดนหนัก - MINT กระทบน้อย

สำหรับกลุ่มโรงแรม ภาพรวมที่เป็นลบจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราการเข้าพักและอัตราค่าห้องพัก ทำให้ บมจ.ดิเอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ในฐานะที่ประกอบธุรกิจโรงแรมเพียงอย่างเดียว ถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดที่ 16% ของประมาณการกำไรปี 2563 ตามมาด้วย CENTEL ที่ 5% และ MINT ที่ 2% เพราะทั้ง 2 บริษัทมีสัดส่วนธุรกิจอาหารช่วยกระจายผลกระทบไปบ้าง อย่างไรก็ดี CENTEL อยู่ในช่วงปิดซ่อมโรงแรม Centara Grand Samui และ Centara Grand Central World ทำให้ MINT มีโอกาสแข็งกว่าหุ้นอื่นในกลุ่ม อย่างไรก็ดี หากเกิดการควบคุมโรคได้และฟื้นตัว ERW จะฟื้นตัวได้แรงที่สุด (ราคาตามปัจจัยพื้นฐาน 7.40 บาท)

สำหรับ MINT เนื่องจาก ประเทศในกลุ่มยุโรปได้รับผลกระทบต่ำจากการระบาดของไวรัส เป็นหุ้นที่มีเสถียรภาพ และค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าเป็นอีกปัจจัยสนับสนุน อีกทั้งประโยชน์จากการร่วมมือกับ NH Hotel Group (NH) จะเริ่มเห็นผลในปีนี้ รวมไปถึงการขยายแบรนด์ Anantara

กลุ่มโรงพยาบาลรับอานิสงส์

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นฟื้นตัวหลังจากปรับตัวลงมาแรงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขั้นสูงสุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ได้แก่ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับต้นปีเป็นผลดีต่อการส่งออก และรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย กระทรวงการคลังเตรียมเสนองบลงทุนผูกพัน เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะ Government Shutdown หากมีการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ล่าช้า หรือ มาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชนในการประชุมครม. เศรษฐกิจในวันที่ 31 ม.ค. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเสนอมาตรการคืนเงินสด (Cash Back) ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 3 หมื่นบาทขึ้นได้จะได้เงินคืน 7% ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในระยะสั้นได้

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์โดยการจัดพอร์ตการลงทุนถือเงินสดไว้ในระดับ 50% ส่วนที่เหลือกระจายลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดหุ้นผันผวน 30% และลงทุนในหุ้น 20% โดยหุ้นที่มองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมานั้นเป็นจังหวะที่สะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีการจ่ายปันผลต่อเนื่อง โดยเลือกหุ้นได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา คือ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งมีหุ้นเด่นด้วยกัน เช่น BH, BCH และ BDMS รองลงมาคือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า อาทิ กลุ่มส่งออก เช่น TU

และจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ BDMS ถูกยกให้เป็นหุ้นที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม (ราคาเป้าหมาย 30.00 บาท) เนื่องจาก BDMS ผ่านพ้นช่วงการลงทุนใหญ่มาแล้ว ต่อจากนี้จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลกำไร อีกทั้งระยะสั้นยังได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า ทั้งนี้ หากเทียบสถิติกับช่วงการแพร่ระบาดของโรคซาร์ในปี 2546 กลุ่มโรคพยาบาลเป็นกลุ่มที่โดยเด่น (Outperform) ตลาดมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในช่วงที่เกิดปัจจัยลบเหนือความคาดหมาย อย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยงข้องอย่างใกล้ชิด โดยยังคงเห็นความพยายามของภาครัฐฯ ในการช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว จากล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว 31 มค นี้ อาทิ มาตรการฟรีวีซ่าแก่ นัก ท่องเที่ยวจีนและอินเดีย หรือ ขอขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) ไปจนถึงสิ้นปี 2563

โดยข้อเท็จจริงจากการระบาดของโรค SARS เมื่อปี 2546 ใช้เวลานานถึงเกือบ 7 เดือนตั้งแต่เริ่มมีผู้ติดเชื้อ โรค SARS จน WHO ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสามารถควบคุมการระบาดได้ ซึ่งมองว่าการระบาดของโรค SARS ในครั้งก่อนเป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเทียบเคียงกับสถานการณ์การระบาดในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้ใช้ในการประเมินระยะเวลาการระบาด และผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งครั้งนั้นมีการรายงานการพบผู้ป่วยโรค SARS รายแรกในจีนเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2545 จากนั้นก็เริ่มพบผู้ป่วย รายแรกในสหรัฐฯ ในวันที่ 10 ก.พ.2546 หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอีกถึงประมาณ 5 เดือนกว่าที่ WHO จะประกาศอย่างเป็นทางการว่าสามารถควบคุมการ ระบาดของโรค SARS ได้เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2546

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้น และช่วงเวลาที่ตลาดน่าจะถึงจุดต่ำสุด - จากสถิติตอนที่โรค SARS ระบาด ถึงแม้จะใช้เวลานานถึง 5 เดือนหลังพบผู้ติดโรค SARS ในสหรัฐฯ กว่าที่การระบาดจะสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ แต่ตลาดหุ้นตอบรับเร็วกว่านั้นมาก โดยในช่วงนั้น ดัชนี SET ลดต่ำลงจนถึงจุดต่ำสุดในเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่ปรากฏข่าวการติดเชื้อของคนที่อยู่ นอกประเทศจีน และจากช่วงเวลาดังกล่าว คิดว่ากระแสข่าวเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส น่าจะเร่งตัวขึ้นในระยะสั้นและจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้

ดังนั้นน้ำหนักการลงทุนกลุ่มโรงพยาบาลจึง "เท่ากับตลาด" แม้มองว่าประเด็นโรคระบาดจากปอดอักเสบอาจเป็น sentiment เชิงลบในระยะสั้น จากกรณีกลุ่มลูกค้าจีนที่มีโอกาสหายไป แต่หากอิงข้อมูลในอดีตกรณีมีโรคระบาด ราคากลุ่มโรงพยาบาลไม่ได้ถูกกระทบ และมองว่าปัญหาเรื่องมลพิษในเขตตัวเมือง PM 2.5 จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเมืองป่วยและเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้ BCH และ VIBHA ซึ่งผลประกอบการที่ผ่านมาแม้จะ ชะลอตัวในไตรมาส4/62 แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตดีในปี 2563 จากผลบวกในการปรับขึ้นค่าหัวประกันสังคม

พ่นพิษหุ้นยานยนต์-ยางรถยนต์

ด้านบล. เคทีบี (ประเทศไทย) มีมุมมองว่าจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีน ทำให้โรงงานผู้ผลิตรถยนต์ในพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดอพยพคนงานกลับประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผลให้โรงงานรถยนต์รายใหญ่ในจีนหยุดผลิตนานขึ้น โดยมองเป็นกลางต่อกลุ่ม Automotive (AH, SAT, STANLY) แต่ก็ยังมองเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังมากกว่า ทั้งนี้ในแง่ของการหยุดผลิตรถยนต์ของผู้ผลิตรถยนต์ในจีน คาดว่า SAT, STANLY จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่ได้ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปจีน

อย่างไรก็ตาม หากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในจีนหยุดผลิตนานเกิน 1 เดือน อาจส่งผลกระทบต่อ supply chain ในการผลิตรถยนต์บางรุ่นในไทยได้ แต่หากค่ายรถยนต์สามารถปรับแผนหันไปใช้โรงงานผลิตจากแหล่งอื่นได้ จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ในไทยทั้ง SAT, STANLY และ AH

นอกจากนี้หากผู้ประกอบการรถยนต์ในจีนประสบปัญหา อาจจะทำให้ความต้องการล้อยางรถยนต์ลดลง ส่งผลต่อความต้องการยาง ซึ่งกระทบต่อ STA และ NER เนื่องจากมีฐานรายได้จากตลาดจีน ปัจจุบัน STA มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าจีน 30% ส่วน NER มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าจีน 30%-40% ยังคงแนะนำ Underweight โดยให้น้ำหนักต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลกระทต่อการส่งออกรถยนต์มากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ปี 2020E มีแนวโน้มชะลอตัว

ขณะที่ SAT แนะนำ "ถือ" ราคาเป้าหมาย 14.00 บาท ส่วนกลุ่มยาง STA แนะนำ "ถือ" ราคาเป้าหมาย 11.25 บาท คาดว่า STA ระยะสั้นจะยังได้ Sentiment เชิงบวกบางส่วนจากการระบาดของไวรัสโคโรนา จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มยอดขายถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรคเพิ่มขึ้น

ส่วน NER เรายังแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 3.40 บาท จากการเพิ่มกำลังการผลิตยางผสมที่มีมาร์จิ้นสูง จะส่งผลดีในระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจจะได้รับแรงกดดันจากผู้ประกอบการรถยนต์ในจีนลดกำลังการผลิตลง








กำลังโหลดความคิดเห็น