สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนแรกของปี 2563 กำลังถูกทดสอบจากปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่เครื่องยนต์จากภาครัฐเป็นเครื่องจักรเดียวที่จะพอมีแรงกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหวังการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 อย่างด่วน เพื่อผลักดันให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ขณะที่การแพร่กระจายเชื้อไวรัสอู่ฮั่น ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการท่องเที่ยวของไทย ที่นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นตลาดหลักและใหญ่ การถดถอยของการท่องเที่ยวแน่นอนมีผลต่อตัวเลขจีดีพีของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในส่วนของภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะผ่อนคลายมาตรการ LTV แล้ว แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้ คือ ความเชื่อมั่นของลูกค้าในการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นหนี้ก้อนโตระยะยาว ทำให้กลุ่มลูกค้าลังเล ชะลอการตัดสินซื้อ หรือยกเลิกการจองซื้อโครงการคอนโดฯ หรือที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ตัวเลขรีเจกต์เรตที่มาจากลูกค้าพุ่งสูงมากกว่าตัวเลขที่มาจากสถาบันการเงิน
ห่วงคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เร็ว ดันภาระหนี้ครัวเรือน
นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN มีสินทรัพย์ 24,000 ล้านบาท (ณ ไตรมาส 3 ปี 62) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายมาก ต้นปีเกิดเหตุการณ์ 1.สงครามย่อยๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน 2.เรื่องการเกิดเชื้อไวรัส ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมาก แสดงว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และหากนักท่องเที่ยวจากจีนไม่มาเลย ย่อมมีผลต่อจีพีดีของไทยที่หายไปเยอะพอสมควร และนั่นหมายถึงขีดการแข่งขันของไทยจะลดลง เพราะจีนเป็นคู้ค้าที่ใหญ่สุดของไทยและเป็นคู้ค้าใหญ่สุดของโลกเช่นกัน
เรื่องหนี้ครัวเรือน เมื่อ 20 ปี นักศึกษาที่จบปริญญาตรีที่เข้ามาทำงานจะมีรายได้ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน และล่วงเลยมาอีก 20 ปี นักศึกษาที่จบระดับปริญญาตรี รายได้ก็น่าจะเพิ่มเป็น 20,000 ต่อเดือน แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแท็กซี่ ค่าอาหาร ค่าครองชีพ สูงขึ้นลิบลับ อย่างเช่น โครงการคอนโดมิเนียมของ LPN บนทำเลเดียวกัน เมื่อย้อนไป 5 ปีที่แล้ว กับโครงการปัจจุบันในทำเลเดียวกัน ราคาต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ต่างกัน 30% เพราะเกิดจากราคาเฟ้อของสินค้าที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ทำให้สัดส่วนรายได้กับค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้องกัน และด้วยอุปนิสัยของคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่า คือ คนรุ่นใหม่ถ้าต้องการอะไร จะไปหามาให้ได้โดยทิ้งภาระหนี้ไว้ข้างหลัง ทำให้เกิดเรื่องหนี้ครัวเรือนขึ้นมา เช่น หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น
"ทั้งรัฐบาล ระบบธนาคาร หรือแม้แต่เรียลเซ็กเตอร์ต่างๆ จะต้องปรับตัว จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง โดยทั่วไป ใน LPN เน้นสร้างคอนโดมิเนียมระดับกลางล่าง สามารถอยู่ได้จริง และมีมูลค่าเพิ่มกับลูกบ้านของเรา ปีที่แล้ว (62) คนอาจจะมองว่าเลวร้าย แต่ผลประกอบการของ LPN ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ กำไรสุทธิ ตัวเลขยังไม่ได้ประกาศ อาจไม่ดีกว่าปีที่แล้ว แต่ถือว่าใช้ได้ ลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก และด้วยมรสุมที่ LPN ผ่านมาในปีที่แล้ว จะทำให้เราเรียนรู้และอยู่กับมันได้ และปี 63 จะเป็นปีที่เราผ่านไปได้ด้วยดี" นายอภิชาติ กล่าว
นายก ส.อสังหาฯ ชลบุรี หวั่นรีเจกต์บ้านภูมิภาคพุ่ง
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี กล่าวว่า การผ่อนเกณฑ์ LTV ช่วยให้ตลาดรวมในต่างจังหวัดดีขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ธนาคารก็ยังอ้างอิงเครดิตบูโรอยู่ดี และมีการดูเรื่องอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (DSR) ดูอำนาจการผ่อนของลูกค้าเป็นเกณฑ์ เช่น หมอ กลุ่มที่มีรายได้สูงจะได้รับวงเงินที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ ได้ติตามเรื่องการขอเงินกู้ของลูกค้า จะพบว่าตัวเลขปฏิเสธสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูง เช่น ระดับราคา 2 ล้านบาท ยอดรีเจกต์เรตกว่า 50-70% ระดับราคา 3 ล้านบาท ปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 20-30% และระดับราคา 5 ล้านบาท รีเจกต์เรตกว่า 10%
"ตลาดอสังหาริมทรัพย์ราคา 3 ถึง 2 ล้านบาท ชะลอตัวลง เนื่องจากธุรกิจส่งออกมีปัญหาการส่งออกลดลง เกิดการจ้างงานที่น้อยลง ลดค่าล่วงเวลา ลดเวลาการทำงานลง ทำให้ลูกค้าไม่มีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน"
LPN ชู 3 กลยุทธ์เพิ่มกำไรองค์กร
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะชะลอพัฒนาโครงการคอนโดฯ แต่จะให้น้ำหนักในการรุกตลาดโครงการแนวราบ ตั้งเป้ายอดขายแนวราบเติบโตไม่น้อยกว่า 20% โดยมีแผนเปิดตัว “บ้านแฝด” ราคาเริ่มต้น 5 ล้านบาท ตอบโจทย์คนเมือง โดยเบื้องต้นแผนเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกจะมีคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และบ้านแนวราบ 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จะมีการระบายสต๊อกคอนโดฯ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ของบริษัทซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท ไปพร้อมๆ กันด้วย
"สต๊อกคอนโดฯ พร้อมอยู่หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่จะได้รับเงินสดเข้ามาเต็ม ถ้าขายหมด ส่วนนี้ไม่มีภาระหนี้ติดอยู่ โดยการขายจะมีทั้งการลดราคาลงมา จัดพอร์ตคอนโดฯ พร้อมผู้เช่าเพื่อตัดขายเป็นล็อตให้แก่ผู้ที่สนใจซื้อลงทุนโดยรับผลตอบแทน 5-6% โดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคลทั้งไทยและสิงคโปร์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าเงินฝากสูงๆ ที่ต้องการบริหารความมั่งคั่ง ในภาวะที่การลงทุนในพันธบัตรให้ผลตอบแทนต่ำเพียง 2%"
พร้อมกับการรุกธุรกิจบริการด้านบริหารชุมชน ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของบริษัทที่สร้างความแตกต่าง และยังเป็นธุรกิจที่มีความต้องการมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการบำรุงรักษาซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ท่อระบายน้ำต่างๆ ภายอาคาร ซึ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในอาคาร ซึ่งบริษัทมีความชำนาญมากว่า 30 ปี และเชื่อว่าเป็นงานที่ผู้รับเหมาทั่วไปทำไม่ได้
"การทำโครงการนี้จะชูกลยุทธ์เข้าซอย เลือกซื้อที่ดินที่อยู่ในซอยแต่ไม่ไกลจากถนนใหญ่หรือแนวรถไฟฟ้ามากนัก เพื่อให้ต้นทุนในการซื้อที่ดินในการพัฒนาโครงการมีระดับราคาที่ไม่สูงเกินไป และสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีระดับราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด และตอบโจทย์กำลังซื้อและความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน ซึ่งในบางทำเลที่อยู่ในซอย ที่ดินบางแปลงราคาจะถูกกว่า 50% เมื่อเทียบกับที่ดินติดถนน"
อนึ่ง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) ปี 2562 พบว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 284.7 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 256.5 จุด และปรับเพิ่มขึ้น 27.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 223.2 จุด ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในไตรมาสนี้ ทำเลที่เพิ่มมากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้า ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทำเลพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร
โดยเฉพาะสายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) ซึ่งเป็นโครงการที่ยังไม่ก่อสร้าง แต่เป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่สร้างเสร็จเปิดให้บริการแล้ว 4 สถานี มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 66% ซึ่งบริเวณนี้มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมาหลายไตรมาสแล้ว
พฤกษาปรับโมเดล "รีไซส์โครงการ" รับกำลังซื้อหดตัว
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพฤกษา-แวลู บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ซึ่งมีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 85,000 ล้านบาท (ไตรมาส 3 ปี 62) กล่าวยอมรับว่า ผลจากที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาปรับลดลงประมาณ 10% ทำให้บริษัทต้องมาปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในปี 2563 ใหม่ ซึ่งเบื้องต้น จะเน้นพัฒนาโครงการแนวราบราคาระหว่าง 5-15 ล้าน เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ควบคู่กับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับกลางอย่างต่อเนื่อง
"ภาวะที่เกิดขึ้นหลักๆ มาจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว กดดันกำลังซื้อของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มกลาง-ล่าง ขณะที่กลุ่มกลางบนยังไม่ได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรง เห็นได้จากที่ผ่านมา การขายคอนโดฯ ระดับกลาง-บนของพฤกษา สามารถทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คอนโดฯ ระดับกลาง-ล่างประสบปัญหา เช่นเดียวกับโครงการแนวราบที่เน้นกลุ่มลูกค้ากลาง-บนที่สามารถปิดการขายได้ต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการ LTV จะทำให้การทำงานของเราเป็นไปตามแผนได้ง่ายยิ่งขึ้น"
สำหรับทิศทางธุรกิจของพฤกษาในปี 63 จะแถลงในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ในเบื้องต้น บริษัทจะเน้นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กลง และกระจายพอร์ตลงทุนให้ครอบคลุมทุกมุมเมือง เน้นโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาระหว่าง 1-1.5 แสนบาทต่อ ตร.ม. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อสูงมาก เพื่อให้สามารถปิดการขายและโอนในระหว่างปีได้ ส่วนโครงการแนวราบ สินค้าบ้านเดี่ยว ประเมินว่ากำลังซื้อหลักเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ประจำเดือนละ 50,000 ถึง 100,000 บาท หรือเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการซื้อบ้านระดับราคา 5-10 ล้านบาท
อีกกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ มุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรเป็นหลัก ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทางบริษัทเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีบริษัทยังสามารถทำกำไรได้ในระดับที่น่าพอใจ
“ภาพรวมตลาดยังไม่ดีมากนัก ตัวเลขการรีเจกต์เรตในปีที่ผ่านมา ยังอยู่ระดับที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มของลูกค้าเองที่มีปัญหาความไม่มั่นใจว่า เมื่อกู้ซื้อบ้านแล้วจะมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ประเมินตลาดอสังหาฯ ในปีนี้จะมีโอกาสโตประมาณ 3-5% นั่นหมายความว่า ยังเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับภาคธุรกิจอสังหาฯ สำหรับเรา ตลาดคอนโดฯ คงเน้นรักษาฐานลูกค้าระดับกลางไว้ต่อเนื่อง ซึ่งคงปรับขนาดโครงการลงเฉพาะพอร์ตโครงการ 200 ยูนิต บริหารจัดการง่ายกว่าคอนโดฯ ไซส์ใหญ่ที่มี 300-500 ยูนิต และมุ่งเจาะระดับบนมากขึ้นโดยเฉพาะแนวราบ”
"ออริจิ้น" เจาะแนวราบ-ชะลอเปิดโครงการลักชัวรี
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI บริษัทมีสินทรัพย์กว่า 30,000 ล้านบาท กล่าวในเบื้องต้นว่า บริษัทจะมีการแถลงแผนธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทั้งหมด แต่ในปี 2563 ได้วางเป้าหมายที่จะมียอดขายที่ 29,500 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา มีตัวเลข Pre-sale ระดับเกิน 28,000 ล้าน โดยยังคงเปิดโครงการคุณภาพในระดับราคาเหมาะสม ภายใต้แบรนด์ “The Origin” เป็นหลัก ควบคู่การพัฒนาแบรนด์ "Knightsbridge" (ไนท์บริดจ์) ขณะที่จะชะลอการเปิดโครงการระดับลักชัวรี แต่จะเพิ่มน้ำหนักรุกโครงการแนวราบแทน ในเบื้องต้น จะเปิดโครงการแนวราบมูลค่า 8,000 ล้านบาท ทำเลแนวรถไฟฟ้าในอนาคต เช่น บางนา รามอินทรา ลำลูกกา และราชพฤกษ์ เป็นต้น
CBRE แนะต้องทำแผนสำรอง รับโรคแทรกซ้อน
น.ส.อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มุ่งตลาด 3 ล้านบาทกันเยอะ เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานลูกค้าอยู่สูง มีรายได้ประจำ ทำงานอยู่ในบริษัท แต่ในมุมการทำโครงการแล้ว (ในมุมของซีบีอาร์อี) ควรจะมองในเรื่องของราคาที่ลูกค้าเป้าหมายสามารถรับได้ และขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้ โดยพิจารณาจากราคาตลาดในปีที่ผ่านมาเพื่อออกสินค้าที่ต่ำกว่าลง อย่างเช่น ตลาดคอนโดมิเนียมระดับราคาเกิน 200,000 บาทต่อ ตร.ม. น่าเป็นห่วง เพราะมีซัปพลายคอนโดฯ ในตลาด (อุปทาน) ค่อนข้างเยอะ และผู้ประกอบการมองเห็นตลาดนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนระดับราคา 200,000 กว่าบาทต่อ ตร.ม.เริ่มชะลอตัวลง
ดังนั้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์หันมาจับตลาดที่ค่อนข้างปลอดภัย (conservative) ในเชิงของราคา แต่จะมีการพัฒนาโครงการที่มี 1.ดีไซน์ มีรูปแบบที่ตอบโจทย์ของคนที่อยู่ แต่จะไปประหยัดต้นทุนในเรื่องของค่าก่อสร้าง เนื่องจากการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้การเสนอราคาของผู้รับเหมาจะถูกลง 2.เรื่องของ Specification ที่จะใช้การออกแบบมาช่วยเยอะ ซึ่งเราจะไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่หรูหราก็ได้ แต่สามารถใช้ประโยชน์และดูสวยก็ได้
"ต้องมาดูดีเวลลอปเปอร์แต่ละรายว่าจะมีความเก่งอย่างไรในการทำโปรดักต์ออกมาตอบโจทย์ลูกค้า แต่หัวใจสำคัญยังคงเป็นเรื่องของราคา และอยู่ในทำเลที่ไม่โอเวอร์ซัปพลาย อย่างไรก็ตาม การมองตลาดอสังหาฯ ก็ต้องดูว่าเรื่องของภาพรวมตลาดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรายังเห็นผู้ประกอบการพัฒนาโครงการออกมา แม้จะน้อยก็ตาม สิ่งสำคัญผู้พัฒนาโครงการจะต้องแน่ใจในเรื่องผลการศึกษาโครงการ เรื่องไฟแนนซ์ การทำโมเดลธุรกิจที่ถูกต้อง การวางเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่จะเข้าไปทำตลาด"
น.ส.อลิวัสสา ยังกล่าวถึงการรับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีแผนธุรกิจสำรอง (แผน B) ป้องกันความเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดจากผู้พัฒนาโครงการเอง เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน หรือแม้แต่การแพร่กระจายเชื้อไวรัส เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การที่องค์กรจะอยู่รอดท่ามกลางปัจจัยลบนั้น จะต้องมีความตื่นตัวและตั้งมั่นในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ตลอด มีการทำแผนสำรองป้องกันผลกระทบที่ไม่คาดคิด ก็จะสามารถบริหารธุรกิจได้อย่างไม่มีปัญหา
บาทแข็งเหมาะซื้ออสังหาฯ ต่างประเทศ ราคาถูกลง
สำหรับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่านั้น แม้จะเป็นอุปสรรต่อภาคส่งออกของไทย แต่ในทางกลับกัน ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้อำนาจของเงินมีค่า สามารถเข้าไปลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้
"เงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสขยายธุรกิจออกไปสร้างความได้เปรียบให้แก่ทางธุรกิจ เสริมรายได้ในพอร์ตของรายได้ประจำในฟากของโครงการต่างประเทศได้ และยังสามารถลงทุนและซื้อโครงการอสังหาฯ นอกประเทศได้ราคาที่ถูกลงจากเงินบาทแข็งค่า" น.ส.อลิวัสสา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัท ทั้งธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจค้าปลีก หรือห้างสรรพสินค้า ขยายพอร์ตลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของบริษัทอสังหาฯ ในไทยที่มีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ขณะที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีสินทรัพย์อยู่ต่างประเทศ และกำลังมีแผนขายเพื่อสร้างผลตอบแทน ส่วนบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะซื้ออพาร์ตเมนต์ในสหรัฐฯ ปีละ 1 อาคาร
นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหารบริษัท ศุภาลัยฯ ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 58,000 ล้านบาท ระบุว่า บริษัทยังมองการลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ ประกอบกับยังมีเงินลงทุนเหลืออยู่ในฟิลิปปินส์ที่ยังไม่นำมาใช้ ซึ่งได้เข้าไปศึกษาโครงการที่สนใจราว 4-6 โครงการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และเปิดโอกาสลงทุนในประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากมีความพร้อมในด้านเงินทุน และค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยตั้งเงินลงทุนสัดส่วน 10% ของมูลค่าสินทรัพย์ หรือกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย ซึ่งพัฒนาไปแล้ว 11 โครงการ มูลค่า 35,000 ล้านบาท และอาจจะมีการพิจารณาพัฒนาเพิ่มอีกในปีนี้เช่นกัน.