xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมตลาดหุ้นไทย-ฮ่องกง บันไดขั้นสำคัญสู่ “ตลาดชั้นนำ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แผนเชื่อมโยงตลาดหุ้นไทย - ฮ่องกง การแลกเปลี่ยนเพื่อร่วมกันขยายตัว อีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อก้าวขึ้นสู่ตลาดชั้นนำ และไม่ให้ถูกมองข้าม ผ่านการต่อยอดและเพิ่มขีดความสามารถให้กับตนเอง เพื่อรับมือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่จะเกิดขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทยในปี 2562 ถือเป็นสิ่งสะท้อนที่ชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่ตลาดทุนไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อผลักดันให้ตลาดทุนไทยมีความก้าวหน้า และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาในเอเชีย พบว่าตลาดหุ้นเวียดนามถูกคาดหมายว่าจะเติบโตดีสุด โดยมีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ของเวียดนามมีโอกาสเติบโตเกิน6% รองลงมาคือตลาดหุ้นฮ่องกงถึงแม้จะมีการประท้วงภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการบริษัทส่วนใหญ่จะมีการลงทุนในประเทศจีน จึงมองว่าไม่เกี่ยวข้อง หรือได้รับผลกระทบมากนัก

เชื่อมโยงตลาดไทย-ฮ่องกงเพิ่มมูลค่า

ทั้งนี้ หนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่น่าสนใจในปี 2562 นั่นคือความร่วมมือระหว่างไทย- ฮ่องกงซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงตลาดหุ้นทั้ง 2 ประเทศ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “Hongkong Business Seminar cum Networking Luncheon In Bangkok” ว่า หลังจากคณะทีมไทยแลนด์เดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงช่วงที่ผ่านมาฮ่องกงได้แสดงเจตจำนงเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทยชัดเจน เพื่อหวังให้ไทยเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศ CLMVT ส่วนไทยพร้อมใช้ฮ่องกงขยายการลงทุนไปสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area - GBA) ของจีน

สิ่งสำคัญรัฐบาลไทยต้องการคือการเชื่อมตลาดหุ้นไทย-ฮ่องกง เนื่องจากตลาดหุ้นฮ่องกงยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก มีมูลค่าซื้อขายสูงมาก เพราะธุรกิจฮ่องกงมีศักยภาพสูงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ส่วนขนาดของตลาดหุ้นไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ แต่มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยสูงสุดในอาเซียน การระดมทุนจากภาคเอกชนทำได้สูงสุดในอาเซียน

ดังนั้นหากคัดเลือกหุ้น SET50 มาเชื่อมโยงกันกับตลาดหุ้นฮ่องกง จะส่งผลทั้งการซื้อขายหุ้น และการระดมทุนร่วมกันจะเกิดประโยชน์ตามมาสูงมหาศาล เอกชนไทย กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนอื่นๆ สามารถระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงได้ ส่วนฮ่องกงสามารถขยายเข้ามาในกลุ่ม CLMVT สะดวกมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องเร่งสานต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ให้หยุดชะงัก

แผนงานดังกล่าวไม่ใช่ไอเดียใหม่ที่เพิ่งริเริ่ม แต่เป็นแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามเดิมหน้า เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดนั้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในมุมมองของ  “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการทำให้ตลาดทุนเป็นแหล่งออมเงินและลงทุนสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งไม่เฉพาะการลงทุนในประเทศ แต่สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ด้วย รวมถึงผลักดันให้บริษัทสตาร์ตอัพเล็ก ๆ สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯได้

ดังนั้นแผนงานในการพัฒนาตลาดทุนของ ตลท. จะออกมาในหลากหลายรูปแบบ หลากหลาย platform รวมถึงการกำหนดเป้าหมายต่างๆ อาทิ จำนวนบัญชีลงทุนที่ต้องถึงระดับ 20 ล้านบัญชี หรือจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่ และหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจนั่นคือการจะนำหุ้นต่างประเทศ อาทิ หุ้นจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ในรูปแบบดิจิทัล หรือออกมาเป็น token แล้วไปซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ ผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Stable Coin รวมถึงการรับนโยบายจากรองนายกฯ “สมคิด” ให้ผลักดันการจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาด กับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง รวงมถึงกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) อาเซียน นอกอาเซียน ยุโรป เพราะในอนาคต นักลงทุนจะออกไปได้ลงทุนต่างประเทศเองอยู่แล้ว

“โจทย์คือเราต้องดึงสินทรัพย์ ดึงหลักทรัพย์ต่าง ๆ เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นของเรา จะด้วยในรูปแบบไหน เช่น depositary receipt (DR) หรือ ETF (exchange traded fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หรือในรูปสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่เช่นนั้นเราจะถูกมองข้าม ที่แย่กว่าคือ ข้อมูลต่าง ๆ จะไม่เห็นเลย เงินออกไปอยู่ข้างนอกหมด เราจึงอยากทำกับฮ่องกง เพราะฮ่องกงเป็นจุดเริ่มต้นที่ขยายต่อไปเมืองจีน หากไปเซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น”

ไทยต้องกล้ารับความท้าทาย

ด้าน “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นในงาน SEC Capital Market Symposium 2019 หัวข้อ "ตลาดทุนไทยจะรับมืออย่างไร ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลง" ว่า ตลาดทุนไทยในปัจจุบันถือว่าเดินมาได้ไกล และผ่านวิกฤตอุปสรรคต่างๆ จนมีการเติบโตขึ้นมาเป็นตลาดหุ้นชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน และมีสภาพคล่องสูงกว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังต้องมีการยกระดับและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ความท้าทายที่ตลาดทุนไทยเผชิญอยู่

โดยควรให้ความสำคัญกับการความสร้างความยั่งยืน แต่ไม่สร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสิ่งแวดล้อมต่างๆ พร้อมทั้งสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน พร้อมกับการกล้าที่จะท้าทายในความสามารถของตัวเอง โดยนำประสบการณ์ต่างๆมาพัฒนาและถ่ายทอด เพื่อสร้างสิ่งดีๆให้กับสังคม และสุดท้ายเป็นเรื่องการขจัดความมืดในตลาดทุนที่ยังมีอยู่ให้ลดลง เพื่อทำให้นักลงทุนรายย่อยทั้งรายใหม่และรายเก่ามีความมั่นใจมากขึ้น

“ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยติดอยู่ในหลุมดำ ทำให้นักลงทุนที่เข้ามารู้ไม่เท่าทันผู้ที่ได้ประโยชน์ ทำให้มีนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากเสียประโยชน์และไม่กล้าเข้ามาลงทุนอีก เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังมีคำว่า "เจ้า" และ "ปั่นหุ้น" หลงเหลืออยู่ แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะขจัดให้หมดไปได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ตลาดหุ้นไทยให้บริการมา 30 ปี มีจำนวนบัญชี 1.7 ล้านบัญชี แต่มีผู้ที่ซื้อขายจริงในตลาดเพียง 300,000 บัญชีเท่านั้น”
 
ดังนั้นหากขจัดความมืดในตลาดหุ้นไทยออกไปได้บ้าง มองว่าจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายในตลาดได้มากขึ้น และควรสร้างคุณภาพของสินทรัพย์ในตลาดให้ดีมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 700 บริษัท แต่มีหลายๆบริษัทไม่มีการเคลื่อนไหวและเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงผลักดันนำบริษัทใหม่ๆเข้ามา ซึ่งจะต้องวางเป้าหมายให้บริษัทที่จะเข้ามาต้องมีการเติบโตเพื่อเป็นสินทรัพย์ที่ดีและสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีความท้าทายที่ตลาดทุนไทยเผชิญในปัจจุบัน ได้แก่ การ Disruption ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงและเป็นโอกาสของตลาดทุนไทย เพราะทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดทุนต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้กำกับดูแลและบริษัทต่างๆที่ต้องปรับตัวให้สามารถอยู่รอดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วกว่าคนอื่น

ขณะเดียวกันการที่ตลาดหุ้นในเอเชียมีการเติบโตขึ้นและก้าวขึ้นมาเป็นตลาดหุ้นที่นักลงทุนในภูมิภาคอื่นให้ความสนใจ ทำให้ตลาดหุ้นไทยต้องคำนึงถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อใช้โอกาสในการสร้างการขยายตัวของตลาดหุ้นในประเทศให้เติบโตขึ้น เช่น การที่ตลาดหุ้นไทยจะร่วมกับตลาดหุ้นฮ่องกงในการเป็นพันธมิตรกัน ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงสามารถเลือกซื้อหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นได้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยจะมีการซื้อขายที่คึกคักมากขึ้น และเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งปัจจุจันการร่วมมือกับพันธมิตรในการต่อยอดและเพิ่มความสามารถให้กับตนเองถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะความร่วมมือทำให้เกิดการเติบโตขึ้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ตลาดทุนไทยจะก้าวเข้าสู่อันดับ 1 ของตลาดทุนที่ใหญ่สุดในภูมิภาค หลังจากปี 2540 ไทยถือว่าเป็นตลาดทุนที่มีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค ก่อนที่จะตกอันดับลงมา ซึ่งตอนนี้ถือว่ามีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่อันดับเดิมได้ โดยสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาคือ การตอบโจทย์ แก้ไขปัญหา และรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น

ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางการเงินโลก

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ฮ่องกงยังคงมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกต่อไป แม้มีความไม่สงบเกิดขึ้นจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยรายงานในเว็บไซต์ของฟิทช์ระบุว่า จนถึงขณะนี้ แทบไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ความไม่สงบในฮ่องกงได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก แม้มีแรงกดดันทางเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างรุนแรงก็ตาม นั่นเพราะข้อมูลต่างๆ รวมถึง การระดมทุนผ่านหุ้นและตราสารหนี้, เงินฝากภาคธนาคาร, การจดทะเบียนธุรกิจ และการออกวีซ่าการจ้างงาน บ่งชี้ว่า ไม่มีสัญญานที่แสดงถึงสถานะที่ถดถอยลงของฮ่องกงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินแต่อย่างใด โดยเฉพาะการจดทะเบียนหุ้นอาลีบาบาในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำถึงบทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินต่างประเทศชั้นนำสำหรับบริษัทจีน

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพ และคาดว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงจะหดตัวลง 1.5% ในปี 2562 ขณะที่การท่องเที่ยว, การค้าปลีก, การโรงแรมและการจัดเลี้ยง รวมถึงการขนส่งทางอากาศ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

ขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจของฮ่องกงจะยังคงถดถอยลง เนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ดำเนินมาถึง 6 เดือนแล้วนั้น ทำให้เศรษฐกิจติดลบ และความไม่สงบที่ยืดเยื้อยังทำให้ฮ่องกงเผชิญความเสี่ยงในด้านสภาวะแวดล้อมและชื่อเสียงทางธุรกิจ จนฮ่องกงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในที่สุด

อนึ่ง ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮ่องกงลงสู่ระดับ AA จาก AA+ และปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยระบุถึงผลกระทบทางลบจากการประท้วงอย่างต่อเนื่องแม้ว่ามาตรการกระตุ้นด้านการคลังวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่รัฐบาลฮ่องกงประกาศใช้นับตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อาจช่วยหนุนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปี 2563 แต่ความปั่นป่วนทางสังคมที่ยังคงดำเนินต่อไปนั้น ก็อาจจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของฮ่องกงเผชิญกับความผันผวน




กำลังโหลดความคิดเห็น