xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นไทยปี 63 ไม่สดใส สงครามการค้า-ศก.โลกกดดัน อสังหาฯ สต๊อกล้น แนะเลี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - ทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 63 ยังคลุมเครือแต่ไม่แย่เท่าปีก่อน โบรกเกอร์ยกปัจจัยกดดันสำคัญยังมาจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เต็มที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,725 จุด โดยกลุ่ม ICT กลุ่มค้าปลีก และหุ้นปันผลน่าสนใจเข้าลงทุนมากที่สุด ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร ปิโตรเคมี ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากสิ้นปี 2561 โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปิด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 62 ที่ 1,579.84 จุด เทียบกับสิ้นปีก่อนที่ 1,563.88 จุด หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1.02% เท่านั้น ขณะที่ระหว่างปีได้ปรับตัวแตะระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 62 ที่ระดับ 1,740.91 จุด และต่ำสุดที่ 1,548.65 จุด เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 62 ดังนั้นทุกฝ่ายจึงได้ประเมินแนวโน้มการลงทุนในปี 63 กันอีกครั้ง

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด แสดงความเห็นถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 2563 ว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ประเมินว่าเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะไหลเข้าซื้อหุ้นไทยน้อยกว่าที่คาด หลังภาวะเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงระมัดระวังเรื่องการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับรูปแบบการออกกองทุนรวมใหม่ที่จะมาทดแทน LTF มีความล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินไหลเข้ามา

อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมจะยังคงย่ำแย่อยู่ แต่ บล.ทิสโก้มองว่าในช่วงที่หุ้นไทยย่อตัวเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยเข้าซื้อหุ้นปันผล เพราะจากการศึกษาความเคลื่อนไหวหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง โดยใช้ดัชนี SETHD TRI (ย่อมาจาก SET High Dividend Total Return Index) ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นพื้นฐานดีที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง 30 ตัวแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่รวมผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นและเงินปันผลแล้ว เปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม (SET TRI) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปีหุ้นปันผลมักจะให้ผลตอบแทนรวมดีกว่าตลาดประมาณ 4%

"ที่ผ่านมาผลตอบแทนจากเงินปันผลของตลาดหุ้นไทย นอกจากจะชนะอัตราเงินเฟ้อแล้ว ยังให้ผลตอบแทนดีกว่าอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยทั้งในประเทศ และต่างประเทศก็อยู่ในระดับต่ำมาก นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นต่างประเทศ พบว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของหุ้นไทยอยู่ในระดับกลางถึงค่อนข้างสูง โดยคาดว่าจะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 3.1% ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศมักจะมีผลตอบแทนจากเงินปันผลโดยเฉลี่ยราว 2.8%" นายอภิชาติกล่าว

สำหรับหุ้นปันผลเด่นแนะนำของปี 2563 เรียงลำดับตามผลตอบแทนที่คาดว่าบริษัทเหล่านี้จะจ่ายเงินปันผลปี 2563 จากมากไปหาน้อย ได้แก่ KKP, TVO, AP, QH, MAJOR, SCB, SCC และ BBL เนื่องจากหุ้นแต่ละตัวจะพิจารณาจากหุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลดีอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังพิจารณาในแง่ของโอกาสที่ราคาหุ้นแต่ละตัวจะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันด้วย เพื่อให้นักลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีทั้งในแง่ของเงินปันผล และส่วนต่างราคาหุ้น

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้มุมมองว่า ตลาดหุ้นไทยในปีปลายปี 2562 ยังคงไม่ดีนัก เนื่องจากผลกระทบในส่วนของความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และมองว่ายังคงอยู่ต่อไป ไม่มีทีท่าจะจบลงในเร็วๆ นี้

ขณะที่ปี 2563 แนวโน้มภาพรวมการลงทุนในหุ้นไทยถึงแม้ว่าจะไม่ดีขึ้น แต่ก็ประเมินว่าจะไม่เลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยมองว่าที่ดัชนี SET INDEX ในปี 2563 คาดว่าจะแกว่งตัวอยู่ใระดับ 1,579-1,675 จุด โดยที่มีปัจจัยหลักยังคงต้องจับตามองไปที่ปัญหาการเจรจาเพื่อหาข้อยุติชั่วคราวของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (เทรดวอร์) ในแต่ละกรอบการเจรจาเป็นเรื่องๆ ไป

อย่างไรก็ตาม อาจจะได้เห็นความชัดเจนของการเจรจายุติความขัดแย้งได้อย่างเร็วที่สุดช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีหน้า ขณะเดียวกันทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีการชะลอตัวเกิดขึ้นต่อไปอีกจากความไม่แน่นอนที่ทำให้การค้าขายและการลงทุนต่างๆ ชะลอไป

ด้านนายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศในปี 2562 และปัญหาสงครามการค้าที่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะยุติอย่างชัดเจน ทำให้ส่งผลต่อภาพรวมความเชื่อมั่นในการลงทุนไทยซึ่งจะกินระยะเวลาต่อเนื่องไปอีก โดยมองว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2563 ประเมินว่าทิศทางของดัชนีหุ้นไทยจะแกว่งตัวนในกรอบกว้างประมาณ 200 จุด หรือระดับที่ 1,500-1,700 จุด ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของการซื้อขายหุ้นทั่วโลกของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเน้นความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายรูปแบบการลงทุนทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ส่งผลให้ภาพรวมของดัชนีตลาดหุ้นจึงมีความผันผวน

ปัจจัยหลักที่ยังคงกดดันดัชนีฯ ยังคงอยู่ที่ปัญหาความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อน รวมไปถึงตลาดหุ้นไทยยังมองว่าจะไม่เห็นการเติบโตขึ้น แต่จะเป็นการทรงตัวในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าภาครัฐจะมีการผลักดันการลงทุน แต่ยังมีความล่าช้าอยู่มาก ยังไม่สามารถที่จะเห็นผลบวกที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในปี 2563 จะแกว่งตัวในกรอบเดิมๆ และไม่เคลื่อนไหวโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ

นายเสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการ ส่วนงานค้าตราสารหนี้และหน่วยลงทุน บล.บัวหลวง กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 ต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2563 ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนจากปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 เดือน ฉะนั้นถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีผลการดำเนินงานดีสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกองทุน LTF ถือเป็นปีสุดท้ายที่สามารถลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้คาดว่านักลงทุนยังคงใช้สิทธิเพื่อรับผลประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่อง เพราะการลงทุนในกองทุนรวมให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่ดี ท่ามกลางตลาดผันผวน

เลี่ยงหุ้นอสังหาฯ เหตุสต๊อกเหลือเพียบ

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยในกรอบ 1,450-1,725 จุด ซึ่งยังมีอัปไซด์ที่จำกัด โดยปัจจุบัน P/E ตลาดอยู่ในระดับสูงถึง 15 เท่า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ปรับตัวลงไปมาก และกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยอาจไม่ดีเท่ากับปีนี้ โดยหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน ประกอบด้วย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดว่าจะเปิดโครงการใหม่ลดลงเพื่อเร่งระบายสต๊อก แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นที่ถือว่าให้ยาแรง เพราะอสังหาฯ ชะลอตัวจนน่าเป็นห่วง

ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีความกังวลเรื่องหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มปิโตรเคมีจากสเปรดที่อยู่ในช่วงขาลง ตลอดจนกลุ่มค้าปลีก หลังการบริโภคชะลอตัวเพราะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และกลุ่มท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะใกล้เคียง หรือลดลงจากปีนี้ หลังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า

ส่วนหุ้นที่น่าลงทุนในปี 2563 คือ กลุ่ม ICT หลังสถานการณ์การแข่งขันน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต และการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยยังแนะหุ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

กลุ่มค้าปลีก แนะนำ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และกลุ่มท่องเที่ยวอย่าง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT หลังเงินบาทแข็งค่าทำให้นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น และด้วยธุรกิจของบริษัทมีการขยายโรงแรมไปในยุโรปจึงลดผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าได้ และกลุ่มหุ้นปันผล เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ กลุ่มปันผลจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่นักลงทุนควรนำไปพิจารณา ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO โดยธุรกิจส่วนใหญ่เป็นเช่าซื้อจึงได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาลง ตลอดจนให้ผลตอบแทนในระดับ 7%, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 4% และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ หรือ TFFIF


กำลังโหลดความคิดเห็น