สถานการณ์ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่ต้องเผชิญในปี 2563 อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับตัว เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะเลวร้ายกว่า ปี 2562 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” วิเคราะห์สถานการณ์SME ในปี 2563
“นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของ ชมรม สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สมาคมวิชาชีพ สมาคม SMEภูมิภาค สมาคมการค้าต่าง และผู้ประกอบการทั่วไป เพื่อเป็นศูนย์กลาง การประสานงานกับหน่วยงาน ของรัฐ สภาวิชาชีพ สถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการก่อตั้ง อยู่รอดและเติบโตของSME กล่าวว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีจะต้องเผชิญ ในปี 2563 ไม่ได้แตกต่างไปจากปี 2562 สถานการณ์ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ถ้าเอสเอ็มอีที่ยังปรับตัวไม่ได้ใน 2 ปีที่ผ่านมา คงอยู่ลำบาก เพราะในปีนี้ 2563 การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม ในทุกเรื่อง เอสเอ็มอีที่ไม่ปรับตัวจะถูกดิสรัปชั่น ไปที่ละวงการ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็วกว่าเดิม วันนี้ แม้จะปรับตัวได้ อย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่จะต้องคิดให้ไวด้วย และการวางแผนเป็นเรื่องสำคัญมาก จากเดิมเอสเอ็มอีจะวางแผนแบบระยะสั้นแบบวันต่อวัน จากนี้ไปจะต้องหัดที่จะวางแผนระยะยาวมากขึ้น ไม่ได้ถึงขนาดวางแผนยาวเป็นปีหรือหลายปี แค่ต้องวางแผนยาวขึ้นเป็นเดือน เพื่อป้องกันความเสี่ยง เพราะในปี 2563 สิ่งที่จะต้องเผชิญ และหลีกหนีไม่พ้น คือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน การวางแผนที่ดีจะช่วยให้เราผ่าน ความผันผวนทางเศรษฐกิจไปได้
SME อยู่รอด ต้องจับมือสร้างเครือข่ายเดินไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ในช่วง 1ถึง 2 ปี ที่ผ่านมาสมาพันธ์ฯ ในฐานะหน่วยงานที่สื่อกลางส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้สะท้อนเรื่องราวของเอสเอ็มอีให้กับภาครัฐไปหลายเรื่อง และได้รับการตอบรับที่ดีจากรัฐบาล โดยรัฐได้เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และ ช่วยหาองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอี หรือ แม้แต่การหาช่องทางการตลาด แต่ด้วยเอสเอ็มอี มีจำนวนมาก อาจจะมีบางรายที่มีศักยภาพไม่เพียงพอในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่องทางปกติได้ ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จะต้องหาแหล่งเงินทุนที่เป็นเงื่อนไขพิเศษ เพื่อเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้
นอกจากนี้ อยากเห็นการทำงานของภาครัฐ แบบบูรณาการ ต้องการเห็นสถานที่บ่มเพาะผู้ประกอบการเกิดขึ้นในทุกจังหวัด เพราะการที่เอสเอ็มอีจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในช่วงโลกแคบลงไม่ว่าอยู่ตรงไหนทุกคนสามารถติดต่อสื่อสาร ติดต่อค้าขายส่งสินค้าให้กันได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของโลก การเปิดเสรีการค้าทำให้ต่างชาติเข้ามาหาเราได้ง่าย หรือเราเองก็สามารถออกไปค้าขายในต่างประเทศได้เช่นกัน ดังนั้น การทำธุรกิจเอสเอ็มอี และให้อยู่รอดได้ต้องมีองค์ความรู้ที่แน่น เอสเอ็มอี ต้องพร้อมที่ก้าวออกมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายร่วมกัน จึงจะสามารถแข่งขันนานาประเทศได้
แผนส่งเสริมSME หน่วยงานภาครัฐ ปี 2563
สำหรับในส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี 2563 นั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ รวมถึง หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เตรียมแผนส่งเสริมผู้ประกอบการผ่าน กลไกการพัฒนา 4 ตัว คือ 1.การปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ 2.การสร้างความสามารถของกำลังคน 3.โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก และ4.การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ และในปี 2563 นี้ จะเป็นการขยับและต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ BCG Economy Model ของประเทศสู่ความยั่งยืน
รัฐสนับสนุนแหล่งทุนผ่านค้ำประกัน บสย.
นอกจากนี้ในส่วนช่องทางสนับสนุนด้านเงินทุน ทางรัฐบาล ได้มอบหมายให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ โดยบสย.ได้เตรียมโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้ ดังนี้
โครงการ Direct Guarantee วงเงินโครงการ 1,500 ล้านบาท ค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs เป็นลูกค้า บสย. ที่ดำเนินธุรกิจมาต่อเนื่อง มีศักยภาพในการขยายธุรกิจ ซึ่งช่วงเริ่มต้นของโครงการนี้ บสย. จะเน้นกลุ่มลูกค้าของ บสย. ที่มีความพร้อมและศักยภาพ เป็นลูกค้า SMEs ขนาดกลาง ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 1% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8) วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย 100 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี (จากเดิม PGS7 อยู่ที่ไม่เกิน 40 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมแค่ปีเดียว) ระยะเวลาของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 จะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563 ช่วงตั้งหลักของการทำธุรกิจ ช่วยให้ SMEs ได้รับสินเชื่อ 43,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินกว่า 2.25 แสนล้านบาท และก่อเกิดผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจ 6.87 แสนล้านบาท
จับตา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2563
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากการรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 เติบโตได้เพียงร้อยละ 3 เป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุด หลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลก ซึ่งผลกระทบที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสะดุดลง มาจากหลายเหตุผล และหนึ่งในนั้น คือ สงครามการค้าโลกที่เกิดจากประเทศคู่ค้าอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน โดยประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ สหรัฐ ต้องการจะกดดันจีนไม่ให้เศรษฐกิจจีนโตเร็ว เพื่อไม่ให้จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจ
และTrade warครั้งนี้ ยังเป็นเรื่องของ Tech war ด้วย ส่งผลให้สงครามดำเนินไปอีกยาว แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า สุดท้ายสงครามการค้าโลก จะไม่ทรุดหนักไปกว่านี้ เพราะพอถึงจุดๆหนึ่ง ทุกคนจะปรับตัวได้ บนข้อตกลงภาษีระหว่างประเทศ 2 ประเทศต้องชัดเจน ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนช่วงไตรมาส 1/2563 หรือช่วงก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นของสหรัฐ
จากปัญหาสงครามการค้าโลก ในครั้งนี้ ได้ลามไปถึงเศรษฐกิจในประเทศ โดยส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนที่เริ่มลดน้อยลงเรื่อย เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่ลดลง และ ส่วนการบริโภคเอกชนได้รับกระทบจากรายได้ที่ลดลง จากการตัดโอที ทำให้กำลังซื้อลดลงไปด้วย การบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่นยอดขายรถยนต์ในปีนี้ที่ติดลบ ส่งผลต่อยอดขายสินค้าอื่น รวมถึง ร้านอาหาร เพราะบริษัทเหล่านี้ลดกำลังการผลิต พนักงานตัดโอที ปลดพนักงาน หรือ หยุดงานมากขึ้น รายได้พนักงานลดลง กำลังซื้อลดตามไปด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการส่งออก คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดย 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เทียบกับสกุลเงินทั่วโลกแล้ว เงินบาทของเราแข็งค่ามากที่สุดถึง ราว 23% ส่งผลให้สินค้าไทยส่งออกไปต่างประเทศแพงขึ้น ทำให้กระทบต่อความสามารถในการแข็งขัน
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์IMFว่า สงครามการค้าโลกจะคลี่คลาย ฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 โดยเศรษฐกิจในปี 2563 ต่ำสุดในไตรมาส 1 และ 2 ส่วนภาคบริการและบริโภคของสหรัฐอเมริกา ยันเศรษฐกิจไว้ได้ แต่ถ้าไม่สามารถฟื้นตัวได้หลังผ่านไตรมาส 2 ไปแล้ว เชื่อว่า เศรษฐกิจสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง
ปัจจัยความเสี่ยงกระทบกับ SME ปี 2563
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานปัจจัยความเสี่ยงภายในประเทศกระทบเอสเอ็มอี ในปี 2563 เกิดจากความเปราะบางทางการเงินที่มีมากขึ้น ทั้งในส่วนของหนี้ภาคครัวเรือน และในส่วนของ SME สะท้อนจากหนี้สิน (NPL) ทั้งในส่วนสินเชื่ออุปโภค และบริโภค และสินเชื่อธุรกิจ SME มีแนวโน้มสูงขึ้น จากผลกระทบสะสมของภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รายได้ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ยอดขายของธุรกิจและรายได้ครัวเรือนมีแนวโน้มกระจุกตัว และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อน SME เช่นกัน
สสว.รายงานความเคลื่อนไหว SME ปี 2562
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปี 2562 โดยมูลค่า GDP SME ไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวได้ 3.1% เท่ากับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่า 1.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43.6% ต่อ GDP รวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 42.6% ในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 GDP SME ขยายตัวได้ 3.3%
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 สสว.คาดการณ์ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ SME ยังคงทรงตัวและอาจขยายตัวเร่งขึ้นได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปลายปี ดังนั้น สสว. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจของ SME ปี 2562 เท่ากับ 3.5% จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.5 - 4.0% ในไตรมาสที่แล้ว
โดยธุรกิจ SME ที่ขยายตัวได้ดีในไตรมาส 3 (2562) ได้แก่ ธุรกิจบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ธุรกิจการเงินและการประกันภัย ธุรกิจด้านศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ และ บริการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ส่วนธุรกิจ SME ที่ชะลอตัวลง ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง โดยชะลอตัวตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งเขตเทศบาล ธุรกิจที่ชะลอตัวลง ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการทางวิชาชีพฯ
ส่วนธุรกิจ SME ภาคการผลิตไตรมาส 3 หดตัวลง 1.5% ต่อเนื่องจากการหดตัว 0.2% ในไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากการ หดตัวของอุตสาหกรรมวัตถุดิบ เช่น การพิมพ์ ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวของภาคการส่งออก
กระทรวงพาณิชย์ แจงตัวเลขจดทะเบียนธุรกิจ ม.ค.-พ.ย.2562
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานการจดทะเบียนธุรกิจเดือน ม.ค.-พ.ย. 2562 ดังนี้ ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สะสมรวม 68,327 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปี 2561 จำนวน 68,007 ราย โดยมูลค่าธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน ม.ค.-พ.ย.62 จำนวน 306,013 ล้านบาท โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่ และเลิกกิจการเหมือนกัน 3 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง กิจการอสังหาริมทรัพย์ กิจการร้านอาหารและภัตตาคาร ส่วนธุรกิจที่เลิกกิจการ เดือน ม.ค.-พ.ย.2562 จำนวน 16,463 ราย มูลค่าธุรกิจเลิกกิจการจำนวน 90,368 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่เกิดจากการคาดการณ์ ในปี 2563 และ การรวบรวมสถานการณ์เอสเอ็มอี ที่เกิดขึ้นในปี2562 เพื่อเป็นความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปใช้วิเคราะห์วางแผนและรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *