xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลัง เสนอ ครม. อังคารหน้าปรับมาตรการช่วย SMEs “กรุงไทย-ออมสิน” ร่วมกันอัดฉีดสภาพคล่องรวม 1 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รมว.คลัง” เสนอ ครม. อังคารหน้า อนุมัติปรับเงื่อนไขให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีใหม่ใน 3 กลุ่ม ให้ บสย. ค้ำประกัน SMEs ที่ดีแต่ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า 30% และใช้เงินจากกองทุน SMEs ของ สสว. 3-5 พันล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่อง ส่วน SMEs ที่เป็นหนี้เสียแล้วให้ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่เพื่อเปิดทางให้ลูกหนี้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนฟ้องร้อง และ บสย. สามารถจ่ายเงินค้ำประกันก่อนฟ้องร้องได้ ด้าน “แบงก์กรุงไทย-ออมสิน” เตรียมช่วยกันอัดฉีดเงินกู้ให้ SMEs ที่ดีแต่ยังต้องการสภาพคล่องรวมอีก 1 แสนล้านบาท ย้ำมาตรการในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 63 เพื่อให้เติบโตต่อไปได้ และคลังต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 2.8-3%

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 ม.ค.63 กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการสนับสนุน SMEs เสริมแกร่ง เพิ่มทุน สร้างไทย วงเงิน 1 แสนล้านบาทให้ที่ประชุมได้พิจารณา โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย ทั้งนี้ มาตรการล่าสุดนี้ยังได้ความเห็นชอบแล้วในระหว่างการหารือร่วมกันในช่วงเช้าวันนี้ (3) ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ จะแบ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือ SMEs ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จะเป็นกลุ่ม SMEs ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ยังไม่ได้เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) นั้น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเตรียมวงเงินเพื่อช่วยค้ำประกันหมื่นล้านบาท เพื่อเข้าค้ำประกันการขอสินเชื่อจากธนาคารในสัดส่วนที่มากกว่า 30% นอกจากนี้ กองทุนส่งเสริม SMEs จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งปัจจุบันมีเงินกองทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น จะปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของกองทุนฯ มาเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยจะใช้เงินจากกองทุนฯ ราว 3-5 พันล้านบาท

ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่ม SMEs ที่มีอุปสรรคอย่างมากเนื่องจากกำลังจะกลายเป็นลูกหนี้ NPLs ซึ่งตามกระบวนการปกตินั้น บสย. ต้องฟ้องร้องลูกหนี้ในกลุ่มนี้จึงจะจ่ายเงินค้ำประกันได้นั้น จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่เพื่อเปิดทางให้ลูกหนี้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนฟ้องร้อง และ บสย. สามารถจ่ายเงินค้ำประกันก่อนฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้สามารถปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งหากไม่เข้ากระบวนการฟ้องร้องได้แล้ว ลูกหนี้ยังจะมีระยะเวลาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้อีก 7 ปี จากที่เคยกำหนดไว้ 5 ปี หากลูกหนี้ได้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องแล้ว ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้จะทำให้ลูกหนี้ยังมีเวลาปรับตัว ในขณะเดียวกันธนาคารเจ้าหนี้ก็ยังสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมได้

สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ในกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ปกติ และต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น กำหนดวงเงินช่วยเหลือไว้ที่ 1 แสนล้านบาท โดยธนาคารกรุงไทย จะจัดวงเงินรวมสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสินอีก 4 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ดังกล่าว ได้ผ่านการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารของรัฐแล้ว แม้มาตรการล่าสุดนี้ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล แต่เนื่องจากเป็นการปรับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือจากที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไปแล้วเมื่อครั้งก่อน จึงจำเป็นที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ การช่วยเหลือ SMEs ในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 63 เพื่อให้เติบโตต่อไปได้ โดยนายอุตตม ได้ย้ำด้วยว่า กระทรวงการคลังต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยในปี 63 ขยายตัวในระดับ 2.8-3%


“รองฯ สมคิด” สั่งตั้งคณะทำงานหาแนวทางอุ้มเอสเอ็มอี เตรียมเสนอมาตรการใหม่ให้ ครม.พิจารณา 7 ม.ค.63
“รองฯ สมคิด” สั่งตั้งคณะทำงานหาแนวทางอุ้มเอสเอ็มอี เตรียมเสนอมาตรการใหม่ให้ ครม.พิจารณา 7 ม.ค.63
“รองนายกฯ สมคิด” แจกข่าวดีรับปีใหม่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เร่ง “คลัง” ตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาใน 7 ม.ค. นี้ หวังช่วยผู้ประกอบการฯให้อยู่รอดและฟื้นตัวได้ในอนาคต ขอสื่อฯ เลิกตั้งคำถามเศรษฐกิจปีหน้าโตต่ำกว่า 3% ด้าน “ประธานสมาคมแบงก์” อยากให้ภาคเอกชนลดเป้ายอดขายลงให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพื่อลดแรงกดดันกับกระแสเงินสดที่มี ทั้งยังย้ำพร้อมพิจารณาสินเชื่อให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น