xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรปรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรปอาจรุนแรง หาก “การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเป็น 100% ในวงเงินประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบโต้ฝรั่งเศสที่วางแผนเก็บภาษีดิจิทัล (digital sevices tax) จากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ และ การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนจากสหภาพยุโรปตามมาตรา 232”

ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ-สหภาพยุโรปจะทวีความรุนแรงยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากปัจจัย 2 ประการ คือ การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเป็น 100% ในวงเงินประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบโต้ฝรั่งเศสที่วางแผนเก็บภาษีดิจิทัล (digital sevices tax) จากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น แอมะซอน กูเกิล แอปเปิล และเฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ โดยทาง USTR ได้เริ่มการตรวจสอบตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ แล้ว โดยจะจัดการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนและธุรกิจเกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าของฝรั่งเศสภายในวันที่ 14 มกราคม 2020

อีกกรณีคือ การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนจากสหภาพยุโรปตามมาตรา 232 แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เลื่อนการตัดสินใจออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากเส้นตายเดิมวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ในระยะถัดไปหากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปแย่ลง หรือการขาดดุลกับสหภาพยุโรปในปี 2019 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย

ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในวันที่ 12 ธันวาคม 2019 พรรค Conservative ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด (outright majority) และทำให้นายบอริส จอห์นสัน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรค Conservative ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในปี 2017 ถึง 47 ที่นั่ง ทำให้มีที่นั่งทั้งหมด 365 ที่นั่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง เกินจากจำนวนที่นั่งเพื่อครองเสียงข้างมากในรัฐสภาที่ 326 ที่นั่ง ทำให้นายบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรค Conservative สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ขณะที่พรรคแรงงานที่นำโดยนายเจเรมี คอร์บิน กลับเสียที่นั่งถึง 59 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้สร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน ในการบริหารประเทศ รวมถึงการผลักดันข้อตกลง Brexit ในรัฐสภาสหราชอาณาจักร ทำให้เงินปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2019 แข็งค่าขึ้น 3.4% นับตั้งแต่การประกาศเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2019

ด้านแนวโน้มการหยั่งเสียงข้างมากมองว่ารัฐสภาสหราชอาณาจักรมีโอกาสผ่านข้อตกลง Brexit ของนายบอริส จอห์นสันมากขึ้น แต่รูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ทำให้โอกาสของสหราชอาณาจักรในการออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) และการลงประชามติรอบที่ 2 ภายในวันที่ 31 มกราคม 2020 ลดลง และมีโอกาสสูงขึ้นที่สภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) จะรับข้อตกลง Brexit ของนายบอริส จอห์นสัน รวมถึงทำให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2020

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ เนื่องจากภายในข้อตกลง Brexit ได้ระบุช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน (Transition period) เพื่อให้ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเจรจารูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าในอนาคต ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 และหลังจากนั้นจะเริ่มต้นรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ ทำให้นายบอริส จอห์นสันมีเวลาเพียง 11 เดือน (นับจาก 31 มกราคม-31 ธันวาคม 2020)

สำหรับการเจรจาข้อตกลงรูปแบบการค้ากับสหภาพยุโรป ด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการเจรจาข้อตกลงการค้า หากไม่สามารถเจรจารูปแบบการค้าภายในเดือนธันวาคม 2020 สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากตลาดเดียวยุโรป (EU Single market) และสหภาพศุลกากรยุโรป (EU custom union) ทำให้การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) จึงมีโอกาสที่นายบอริส จอห์นสันจะเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อขอเลื่อนช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านออกไปภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ซึ่งเป็นเส้นตายในการตัดสินใจขยายช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

นัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน

จากความไม่แน่นอนจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงด้านการค้า และการเจรจา Brexit โดยข้อตกลงด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเสถียรภาพและการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ในปี 2020 ได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ล่าสุดเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นแล้ว ส่วนสถานการณ์ Brexit ที่มีแนวโน้มดีขึ้นก็จะทำให้ความเชื่อมั่นและการค้าโลกปรับดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก (global development) ที่ Fed จับตามอง อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย และค่าจ้างแรงงานที่ยังขยายตัวได้ดี

ขณะที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed ที่ผ่านมาค่อนข้างมีประสิทธิภาพและสามารถส่งผ่านไปยังตลาดการเงิน ทำให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น โดยดัชนีภาวะการเงินสหรัฐฯ ที่คำนวณโดย Bloomberg ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีราว 13% สะท้อนถึงภาวะการเงินของสหรัฐฯ ที่ผ่อนคลายขึ้น ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นปีถึง 26.4% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปี และ 10 ปี ปรับลดลงจากต้นปี 109 bps และ 85 bps ตามลำดับ และดัชนี corpoate spread ของหุ้นกู้กลุ่มอัตราผลตอบแทบสูง (high yield) ปรับลดลงราว 1.85 ppt สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) ของภาคเอกชนที่ปรับลดลง ปัจจัยข้างต้นนี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ส่งผ่านไปยังตลาดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แรงกดดันจากตลาดการเงินต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก็ปรับลดลง โดยในเดือนกรกฎาคมที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้และปีหน้ารวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง (125 bps) แต่ในปัจจุบันตลาดเริ่มมองว่า Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างมาก 1 ครั้งในปี 2020 หลังจากปรับลดไปแล้ว 3 ครั้ง (75 bps)

นอกจากนี้ การส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยของ Fed ในรอบการประชุมที่ผ่านมา หากพิจาณาจากค่ากลางของ Dot plot ในรอบการประชุมของ Fed ครั้งล่าสุด พบว่า Fed ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2020 และจะกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปี 2021 และอีก 1 ครั้งในปี 2022 โดยใน dot plot ไม่มีคณะกรรมการมีความเห็นให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม สะท้อนว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้กับเป้าหมายที่ 2% ในปี 2020 (Fed ประมาณการไว้ที่ 1.9%) และปรับมุมมองอัตราการว่างงานลงจากรอบประชุมครั้งก่อน สะท้อนถึงความมั่นใจของ Fed ต่ออัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายต่อเนื่อง และตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ลดลงช่วยลดความเสี่ยงด้านต่ำของภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของโลกและไทยในปี 2020 โดยผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีต่อการค้าโลกเริ่มส่งผลลดลง เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ผ่อนคลายลงในช่วงหลัง รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาลสหราชอาณาจักรทำให้ความไม่แน่นอนของ Brexit ลดลงน่าจะส่งผลดีต่อภาวะการค้าโลกและภาคอุตสาหกรรมในระยะถัดไปให้กลับมาฟื้นตัวขึ้น และหากพิจารณา PMI ภาคการผลิตถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการส่งออกไทยไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ภายในภูมิภาคพบว่าเริ่มทรงตัวอยู่เหนือเกณฑ์ 50 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2020 ไม่ให้หดตัวในอัตราที่มากกว่าปี 2019


กำลังโหลดความคิดเห็น