xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพาณิชย์มองสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่แกว่งในกรอบ-วอลุ่มบางช่วงใกล้หยุดยาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCB CIO มองสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่แกว่งในกรอบ-วอลุ่มบางช่วงใกล้หยุดยาว แนะติดตามเจรจาการค้า-Brexit ที่มีความชัดเจนมากขึ้น

SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ และมูลค่าการซื้อขายเบาบาง เนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดคริสต์มาส และวันหยุดสิ้นปีตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ และมูลค่าการซื้อขายเบาบาง เนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดคริสต์มาส และวันหยุดสิ้นปี

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ธ.ค.-20 ธ.ค.) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก จากความคืบหน้าการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังจากรมว.คลังสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ-จีนจะลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกในเดือน ม.ค. และดัชนีฯได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งมากกว่าตลาดคาด

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเช่นกัน ขานรับการที่ธนาคารกลางสวีเดนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คงนโยบายการเงินตามที่ตลาดคาด ประกอบกับประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ จากแรงขายในหุ้นกลุ่มส่งออก ตามเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับยอดการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

ด้านตลาดหุ้นจีน (A-share) ปรับเพิ่มขึ้น ขานรับความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประกอบกับ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน ในเดือน พ.ย.ดีกว่าตลาดคาด รวมทั้ง ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะ 14 วันลง 0.05% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

ส่วนราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากขานรับสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง

มุมมองในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง โดยในบางตลาดฯ อาจเผชิญความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไร เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มชะลอการซื้อขายในช่วงวันหยุดคริสต์มาสและช่วงใกล้วันหยุดสิ้นปี

ประกอบกับ ตลาดหุ้นยังอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจาก 1) ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรปที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเก็บภาษีดิจิทัล ภาษียานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนแอร์บัส 2) ความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit ที่กลับมาเพิ่มขึ้น หลังสภาล่างของอังกฤษเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมาย Brexit ที่ถูกเสนอโดย นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำให้อังกฤษมีเวลาเพียง 11 เดือนในการเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) ให้สำเร็จ มิเช่นนั้น อังกฤษจะต้องใช้เกณฑ์การค้าของ WTO ค้าขายกับ EU แทน และ 3) ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯที่ยังคงมีอยู่

อย่างไรก็ดี การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่คืบหน้า โดยอาจจะลงนามกันในช่วงต้นเดือน ม.ค.63 จะช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นฯ ให้กลับมาปิดทรงตัวในสัปดาห์นี้

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS) ในสัปดาห์นี้แนะนำให้ติดตามความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลัง รมว.คลังสหรัฐฯออกมายืนยันว่า สหรัฐฯ จะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับจีน ในช่วงต้น เดือน ม.ค.630 ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกมาทวีตว่าได้หารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ในข้อตกลงการค้า รวมประเด็นเกาหลีเหนือ และฮ่องกง

รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯที่ยังมีอยู่ หลังวุฒิสภาสหรัฐฯเตรียมพิจารณา และลงมติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ในเดือน ม.ค.63 ในข้อหาการใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางการสอบสวนของสภาคองเกรส

และการเจรจาการค้าระหว่างรัฐบาลอังกฤษ-EU หลังสภาล่างอังกฤษได้ลงมติให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมายที่ระบุว่า อังกฤษจะแยกตัวจาก EU ในวันที่ 31 ม.ค.2020 รวมทั้ง ระบุห้ามการขยายช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของอังกฤษเกินกว่าเดือน ธ.ค.2020 เพื่อให้มีข้อสรุปในข้อตกลงทางการค้ากับ EU ภายในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ / ยอดค้าปลีก อัตราการว่างงาน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น / กำไรภาคอุตสาหกรรม และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีน / ยอดการส่งออก การนำเข้า ยอดเกินดุลการค้า ดัชนีการผลิภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย

เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ปิดทำการ 1-2 วันทำการเนื่องในวันคริสต์มาส


กำลังโหลดความคิดเห็น