xs
xsm
sm
md
lg

SCBS ชี้ทิศทางตลาดหุ้นโลกฟื้นตัว เหตุความขัดแย้งสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ผ่อนคลายลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.ไทยพาณิชย์ เผยตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และผลการประชุม BoJ และ BoE คาดผลประเมิน GDP ของสหภาพยุโรปในการประชุมครั้งล่าสุดที่มีแนวโน้มดีขึ้น และประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่ชัดเจนมากขึ้น

บล.ไทยพาณิชย์เปิดเผยในบทวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการลงทุนว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (9 - 13 ธ.ค.) ตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ขานรับการที่สหรัฐฯ-จีนได้ประกาศบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตัวบวก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณในการประชุมครั้งล่าสุด ว่าจะยังไม่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2563 ขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเช่นกัน หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป พร้อมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของสหภาพยุโรป (EU) ในการประชุมครั้งล่าสุด ประกอบกับประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่ชัดเจนมากขึ้น หลังนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ด้านตลาดหุ้นจีน (A-share) ปรับเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน ขานรับความคืบหน้าการเจรจาการค้า แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน ในเดือน พ.ย.จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่สูงสุดในรอบ 7 ปี ก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยยังคงได้แรงหนุนจากผลการประชุมโอเปกและประเทศพันธมิตรที่มีมติปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าตลาดคาดการณ์ ในส่วนของราคาทองคำที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ เทียบเงินสกุลหลัก



ในส่วนของมุมมองการลงทุนในสัปดาห์นี้ ประเมินว่าการที่ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ เนื่องจาก ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังสหรัฐฯ-จีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรก โดยจีนตกลงที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ต่อปี แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีภาคการเงิน และการดูแลค่าเงินหยวน

ขณะที่ สหรัฐฯ ยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เดิมมีผลบังคับใช้วันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะลงนามข้อตกลงดังกล่าวภายในเดือน ม.ค.ปีหน้า ประกอบกับ ประเด็น Brexit มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นฯ อาจยังได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย และ ส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรปที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ รวมทั้ง นักลงทุนบางส่วนรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต และเงินเฟ้อของประเทศหลัก อาจทำให้ตลาดหุ้นฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด

ทั้งนี้ปัจจัยที่น่าจับตาในสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่ที่ ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น (PMI) ของสหรัฐฯ และยุโรป , ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน, ยอดค้าปลีกของยุโรป และจีน , ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO) ของเยอรมนี , เงินเฟ้อของยุโรป ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ (Core PCE) , การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน , ดัชนีอุตสาหกรรม (Tertiary) และยอดส่งออก-นำเข้าของญี่ปุ่น ขณะที่เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมกนง. , ผลการประชุม BoE และ BoJ ตลอดจนถ้อยแถลงของประธาน ECB เจ้าหน้าที่ ECB และเจ้าหน้าที่ Fed


กำลังโหลดความคิดเห็น