ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า รอประเมินความเสี่ยงประเด็นข้อพิพาททางการค้า เชื่อปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ยังคงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 1-2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมรอบห้าของปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีนัยสำคัญต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงได้ อย่างไรดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ยังคงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 1-2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
“เฟดน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมนโยบายการเงินรอบที่ห้าของปี 2561 เพื่อรอประเมินพัฒนาการความเสี่ยงจากประเด็นข้อพิพาทการค้าที่มีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้น” เอกสารเผยแพร่ระบุ
ทั้งนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงที่ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อาจสร้างความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ผ่านการบริโภคในประเทศที่อาจจะชะลอลง หากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ขยายวงจนทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคสหรัฐฯ ตลอดจนความเสี่ยงต่อการตอบโต้ทางการค้ามีโอกาสขยายวงออกไป และส่งผลการค้าโลกให้เติบโตชะลอลง อันจะกลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่ง
ทั้งนี้ เฟดคงจะประเมินปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นดังกล่าว ตลอดจนพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกระยะว่าจะยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเป็นขาขึ้นอยู่ โดยพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ดีอยู่ และมีการขยายตัวอย่างเป็นวงกว้างทั้งในภาคการบริโภค และภาคการผลิต โดยยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ขยายตัว 5.9% YoY ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวติดต่อกันกว่า 2 ไตรมาส และแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ระดับ 107.71 ในเดือนมิถุนายน 2561 ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนมิถุนายน ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.13 แสนตำแหน่ง ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 4.0% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า เฟดอาจจะเผชิญกับปัจจัยท้าทายมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินโดยเฉพาะในปี 2562 ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะปรับขึ้นเข้าใกล้กับระดับดุลยภาพ ทั้งนี้ แม้ว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ จะสนับสนุนให้เฟดสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า หากผลกระทบจากปัจจัยข้อพิพาททางการค้าอยู่ในระดับจำกัด แต่เส้นทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะต่อไป อาจจะเผชิญกับปัจจัยท้าทายที่มากขึ้น เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าของตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อาจจะส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเป็นแบบลาดลง (Inverted yield curve) อันเป็นผลจากการที่ตลาดยังมีมุมมองถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่มีไม่มากนัก โดยคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ระดับประมาณ 2.4% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังคงทรงตัวในระดับต่ำกว่า 3.0%
ทั้งนี้ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นปรับขึ้นตาม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวโดยส่วนมากจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับคาดการณ์ของเงินเฟ้อในอนาคต โดยในกรณีที่อัตราผลตอบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี หากยังคงทรงตัวในระดับประมาณ 3.0% ต่อเนื่องในปี 2562 อาจส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะมีความชันแบบลาดลง ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอาจจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลก เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมองว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแบบลาดลงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
เฟดอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเข้าใกล้กับระดับดุลยภาพ ทั้งนี้ ในช่วงกลางปี 2562 อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ที่จะต้องตัดสินใจว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัว หรือจะเว้นระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้นานขึ้น เพื่อรักษาช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ยาวนานที่สุด เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในจังหวะที่เร็วเกินไป อาจจะส่งผลให้โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอลงได้ อันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับความเสี่ยงภาวะถดถอยได้
ขณะเดียวกัน หากเฟดปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำที่นานเกินไป อาจจะส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นกว่าระดับที่ควรจะเป็น และอาจจะสร้างความเสี่ยงในการสะสมของภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ อันเป็นปัจจัยที่กดดันให้เสถียรภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อ่อนแอ ซึ่งประเด็นดังกล่าว คงเป็นปัจจัยที่ท้าทายของเฟด ในการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ยังคงอยู่ในช่วงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินไทยยังคงเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน และกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวอ่อนค่า ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย คงจะเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเฟดในรอบกันยายน 2561 ซึ่งเฟดอาจจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง
ทั้งนี้ แม้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง ยังคงช่วยให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ได้อีกระยะ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากข้อพิพาททางการค้า แต่คงต้องยอมรับว่า ท้ายที่สุดแล้ว ต้นทุนทางการเงินคงมีทิศทางที่จะทยอยปรับขึ้นตามทิศทางตลาดการเงินโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน ควรมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อลดทอนผลกระทบจากการปรับขึ้นของต้นทุนทางการเงินให้มีน้อยที่สุด