“ธพส.” เล็งขึ้นค่าเช่าพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโซนเอและบี เหตุ ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ปี 63 จึงจำเป็นต้องหาเงินไว้เตรียมจ่ายภาษีฯ จากการใช้ประโยชน์บนที่ราชพัสดุอีก 150 ล้านบาท เบื้องต้น ประเมินปรับค่าเช่าขึ้นเดือนละ 15.61 สตางค์/ตร.ม. ระบุ เดือน ม.ค.63 เริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างศูนย์ฯ โซนซี
นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) กล่าวว่า เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 63 ดังนั้น ธพส. จึงอยู่ระหว่างการขอขึ้นค่าเช่าพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโซนเอและโซนบี เนื่องจากการขึ้นภาษีดังกล่าวทำให้ ธพส. ต้องจ่ายภาษีที่ดินบนที่ราชพัสดุที่ได้นำมาใช้ประโยชน์จากการสร้างเป็นศูนย์ราชการรวม 150 ล้านบาท จากเดิมที่ ธพส. ไม่เคยต้องจ่ายภาษีที่ดินฯ
ส่วนการคาดการณ์ถึงรายได้ในปีนี้ของ ธพส. นั้น นายนาฬิกอติภัค กล่าวว่า จะมีรายได้ราว 3.5 พันล้านบาท และมีกำไร 290 ล้านบาท โดยกำไรในปีนี้จะดีขึ้นจากปีก่อนที่มีราว 270 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หาก ธพส. ต้องจ่ายภาษีที่ดินฯ ในปีหน้า แต่ยังไม่สามารถขึ้นค่าเช่าได้แล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อกำไรที่อาจลดลงได้ ทั้งนี้ คณะทำงานของ ธพส. อยู่ระหว่างคำณวนว่าควรจะเพิ่มค่าเช่าศูนย์ราชการทั้งโซนเอและบีที่มีขนาดพื้นที่ 1 ล้านตารางเมตรได้อีกเท่าใด
นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ ธพส. ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างศูนย์ราชการโซนซีในปัจจุบันด้วยว่า มีกำหนดการตอกเสาเข็มในเดือน ม.ค.63 โดยจากนั้นในปี 66 ธพส. คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้หน่วยราชการเข้าใช้พื้นที่ได้ ส่วนการปรับขึ้นค่าเช่าใหม่นั้นในเบื้องต้นได้ประเมินไว้ว่าจะขอปรับขึ้นอีก 15.61 สตางค์ต่อตารางเมตรต่อเดือน จากเดิมที่กำหนดค่าเช่าไว้ที่ 390 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งนี้ มีส่วนราชการจำนวน 12 แห่งได้แจ้งขอเช่าพื้นที่ไว้แล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธพส. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างศูนย์ราชการโซนซี เนื่องจาก ธพส. ได้มีการปรับแปลนการก่อสร้างเพื่อขยายพื้นที่ที่จอดรถให้เป็น 4,300 คัน จากเดิม 4,000 คัน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่แออัด โดยจะมีการเชื่อมถนนเพิ่มเติม เช่น ถนนหมายเลข 8 เชื่อมวิภาวดีรังสิต ถนนหมายเลข 10 เชื่อมถนนประชาชื่น และการขยายประชาชื่นเป็น 4 เลน รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในเรื่องการทำสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามายังศูนย์ราชการฯ ด้วย
ด้านแผนการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการก่อสร้างศูนย์ราชการโซนซีนั้น ขณะนี้ ธพส. ได้ขอกู้สินเชื่อระยะสั้นระยะเวลา 1 ปี จากธนาคารออมสิน โดยเงินกู้ดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ว่าจ้างที่ปรึกษาในการออกแบบก่อสร้างในระดับเพียงแค่ร้อยล้านบาทเมื่อเทียบจากแผนการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท และสถานการณ์ดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง การกู้ยืมน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ขณะที่การกู้เงินในรูปแบบการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) นั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยด้วย ทั้งนี้ หากเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น การทำซีเคียวฯ เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 63 อีกครั้ง