xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งผู้ว่าฯ ตั้งคณะทำงาน รองรับกม.จัดเก็บภาษีที่ดิน เร่งทำบัญชีที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง/ห้องชุด ให้ทันปลายปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เร่งตั้งคณะทำงาน รองรับจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามกฎหมายใหม่ ใช้บังคับเต็ม 1 ม.ค.ปีหน้า สั่งเร่งสำรวจข้อมูลรายการ เพื่อจัดทำประกาศบัญชีที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง/ห้องชุด ปิดประกาศแจ้งประชาชนได้ภายในปลายเดือนพ.ย.นี้ พร้อมอำนวยความสะดวก "เจ้าของที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง" ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้ เข้าลงทะเบียนขอลด/ยกเว้นภาษี

วันนี้( 12 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกทม. ให้เตรียมการการรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายหลังพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับ และมีกำหนดใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563 เพื่อรองรับกฎหมายลำดับรองจำนวน 6 ฉบับ

ทั้งนี้ ให้เร่งรัดสำรวจข้อมูลรายการการที่ดินแะสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาจัดทำประกาศบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีห้องชุด เพื่อปิดประกาศให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และดำเนินการอื่น ๆ เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

ส่วนกรณี "เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง" ในเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้ ให้จังหวัดหรือ กทม. ประกาศแจ้งให้ผู้เสียภาษีที่จะขอลดหรือยกเว้นภาษีมาลงทะเบียนแจ้งรายชื่อและรายละเอียดความเสียหาย พร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้เสียภาษีที่มาลงทะเบียน ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน

"ให้เร่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อ จำนวนพื้นที่ และสัดส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเสนอขอความเห็นชอบ รมว.มหาดไทย ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 26 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562"

อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาทางปฏิบัติให้จังหวัด หรือ กทม. เสนอเรื่องเพื่อขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

สำหรับ มาตรา 94 ขอพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ระบุว่า ในสองปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังต่อไปนี้

(1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
(ก) มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.01
(ข) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
(ค) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
(ง) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.07%
(จ) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%

(2) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
(ก) มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 25 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
(ข) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
(ค) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%

(3) สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
(ก) มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 40 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02%
(ข) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 40 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
(ค) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 65 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 90 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
(ง) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%

(4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยตาม (2) และ (3)
(ก) มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02%
(ข) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
(ค) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
(ง) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%

(5) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย
(ก) มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3%
(ข) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4%
(ค) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
(ง) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
(จ) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%

(6) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
(ก) มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3%
(ข) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4%
(ค) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
(ง) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
(จ) มูลค่าของฐานภาษีเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7% .


กำลังโหลดความคิดเห็น