xs
xsm
sm
md
lg

"กลยุทธ์ 3 สร้าง" ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ช่วยประชาชนก้าวข้ามเส้นความยากจนได้ 33%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"แบงก์ออมสิน" เผยผลใช้กลยุทธ์ 3 สร้าง "สร้างอาชีพ สร้างความรู้/สร้างตลาด สร้างรายได้ และสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน" นำร่องในกลุ่มพื้นที่ 8 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน ช่วยประชาชนสามารถข้ามเส้นความยากจน โดยมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี คิดเป็น 33% และหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี คิดเป็น 1% เตรียมตั้งศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก 17 ศูนย์ ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ หวังรองรับปฏิบัติการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนทั่วประเทศต่อไป คาดในปี 63 จะขยายเพิ่มเป็น 100 ศูนย์ทั่วประเทศ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในงาน “ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนของรัฐบาล และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการเงินให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความยากจน

โดยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายรัฐดังกล่าว โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง คือ 1.สร้างอาชีพ สร้างความรู้ 2.สร้างตลาด สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยในระดับฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เข้าถึงการพัฒนาอาชีพ ได้ฝึกฝนและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนอาชีพนอกภาคเกษตรกรในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน สามารถข้ามเส้นความยากจนมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี คิดเป็น 33% และหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี คิดเป็น 1%

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ 3 สร้างของธนาคารออมสิน คือ 1.สร้างอาชีพ สร้างความรู้ ให้แก่คนไทยผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนที่ร่วมกับสถาบันการศึกษากว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อฝึกอบรมเสริมศักยภาพทางอาชีพ และโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ที่ให้นักศึกษาในท้องถิ่นเข้าไปถึงประชาชนเพื่อแนะนำอาชีพและฝึกอบรม 2.สร้างตลาด สร้างรายได้ ทั้ง e-Commerce และ e-market เพื่อเป็นช่องทางการหารายได้ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการเปิดช่องทางการตลาดเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสขายสินค้าและบริการผ่านโครงการต่างๆ ของธนาคาร เช่น ตลาดประชารัฐสีชมพู ร้านค้าประชารัฐ และออมสิน e-Market Place ซึ่งครอบคลุมช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้ง Online และ Offline เป็นการช่วยสนับสนุนสินค้าและบริการของผู้มีรายได้น้อยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยการแนะนำส่งเสริมให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า ทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อ/ขาย ผ่าน QR Code ซึ่งเป็นการสร้างประวัติทางการเงิน หรือ Statement เพื่อเพิ่มความสะดวกและสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้

สำหรับการมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนของรัฐบาลในครั้งนี้ ธนาคารออมสินได้มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านอาชีพเพื่อแนะนำและให้คำปรึกษาการเลือกอาชีพ โดยร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำตัวอย่างของอาชีพที่ประสบความสำเร็จที่ฝึกอบรมและเรียนรู้ได้ไม่ยากในระยะสั้น ได้แก่ ช่างประชารัฐ ช่างอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างอเนกประสงค์ นอกจากนี้ ได้จัดพื้นที่สำหรับค้าขายจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ร้านค้า ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้าที่เป็นลูกค้าธนาคารออมสิน หน่วยงานพันธมิตร และภาคีเครือข่าย เช่น มีการนำเสนอการค้าในตลาดออนไลน์ O2O (โอทูโอ : ออนไลน์ทูออฟไลน์) ซึ่งธนาคารออมสินได้ร่วมกับบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เครือเบทาโกร และ Airbnb บริษัทชั้นนำของโลกด้านธุรกิจบริการที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบนั้น ธนาคารได้เตรียมสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการประชารัฐสร้างไทย เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย ได้นำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยใช้บุคคล หรือ บสย. เป็นหลักประกัน มีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.50% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะผ่อนชำระเกิน 5 ปี (60 งวด) สามารถยื่นเรื่องขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.-31 ธ.ค.62 ซึ่งทั้งหมดจะมีศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก 17 ศูนย์ของธนาคารออมสินที่ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้การสนับสนุนทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การให้คำปรึกษาทางการเงิน และเป็นแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชน รวมถึงเป็นศูนย์พัฒนาอาชีพด้วย โดยคาดว่าปี 63 จะขยายเป็น 100 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินเชื่อมั่นว่า ด้วยการผลักดันนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ร่วมกับการประสานพลังประชารัฐของทุกภาคส่วน และภาคีเครือข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก จะทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ล้านนา 8 จังหวัดนำร่อง ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดี มีความสุข เพื่อสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะขยายผลประชารัฐสร้างไทยไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น