“รมว.คลัง” ร่วมประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เร่งมาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 62 โดยขยายเวลาชำระหนี้ให้อีก 2 ปี รวมทั้งยังจะลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ MRR-3% สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาทแรก เป็นเวลา 1 ปี กำหนดเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 ถึง 31 ส.ค.63 พร้อมทั้งได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะแรก วงเงินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เตรียมจ่ายเงินงวดแรก 1 พ.ย.62 ให้เจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60 ต่อ 40
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เข้าร่วมการประชุม และติดตามการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้นที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการไปแล้วจนถึงวันที่ 24 ต.ค.62 ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท
รวมถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 62-63 รวมเป็นวงเงิน 13,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินรอบที่ 1 ให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม์ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน คิดเป็นเงิน 1,351 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 วงเงินรวม 20,940 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านรายนั้น มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน และ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ต.ค.62 กว่า 9,411 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการดังกล่าวจะมียอดรวมวงเงินที่โอนให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 34,691 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังให้ความเห็นชอบถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 วงเงิน 24,278 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สวนยางที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปซึ่งได้เปิดกรีดยางไปแล้วไม่เกิน 25 ไร่ต่อราย และมีปริมาณผลผลิตยางหรือยางแห้ง 240 กิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ทั้งนี้ ยังได้กำหนดราคาประกันยางแผ่นดินคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม ขณะที่น้ำยางสด (DRC 100%) กำหนดไว้ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยแบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้แก่เจ้าของสวนยาง 60% และคนกรีดยาง 40% ซึ่งคาดว่าจะสามารถโอนเงินในงวดแรกได้ในวันที่ 1 พ.ย.62
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังเตรียมพิจารณาถึงการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในปี 62 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ย.62 ถึง 31 ส.ค.64 และขยายเวลาชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 ถึง 31 ส.ค.63 รวมทั้งยังให้ดำเนินโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่เกษตรกรลูกค้าในอัตรา MRR-3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875 ต่อปี) สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก เป็นเวลา 1 ปี โดยกำหนดให้เริ่มดำเนิการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 ถึง 31 ส.ค.63 นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการดูแลเกษตรกรต่างๆ ที่จะทยอยออกมาในอนาคต เช่น มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยเฉพาะพืชหลักชนิดต่างๆ ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ซึ่งจะมีชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังจะมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำ และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ณ เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่