xs
xsm
sm
md
lg

จับประเด็น KTC ราคาหล่นวูบ! หลังแรงทุบหุ้นบั่นทอนความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การร่วงลงของราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) เมื่อเร็วๆ นี้ สร้างผลขาดทุนในแง่ส่วนต่างราคาหุ้นให้แก่ผู้ที่สะสมหุ้นดังกล่าวไว้ในพอร์ตลงทุนอย่างยิ่ง แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า ยามใดที่หุ้นแตกราคาพาร์ ย่อมทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าราคาหุ้นที่เคยอยู่สูงถึง 382 บาท (พาร์ 10 บาท) พอแตกพาร์เหลือ 1 บาท ราคาหุ้นจะร่วงลงไปหนักขนาดนี้

อย่างไรก็ตาม หากติดตามข่าวสารด้านการลงทุนมาโดยตลอด จะพบว่า การเคลื่อนไหวที่รุนแรงของราคาหุ้น KTC ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ หากแต่มีการไล่ราคาหุ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ระดับ 180 บาท/หุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึง 330 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทเริ่มมีข่าวการแตกพาร์ออกมาให้นักลงทุนรับทราบ และเริ่มมีเสียงเตือนออกมาผ่านสื่อต่างๆ ถึงความร้อนแรงเกินตัวที่เกิดขึ้น จากนั้นราคาหุ้นยังถูกไล่ไปสูงถึง 382 บาท/หุ้น และปิดในระดับพาร์ 10 บาท/หุ้น วันสุดท้าย (12 ก.ค.) ที่ราคา 354 บาท/หุ้น

โดยวันแรกที่ KTC เทรดด้วยระดับราคาพาร์ใหม่ 1 บาท/หุ้น คือวันที่ 13 ก.ค.61 ราคาหุ้นปิดที่ 33.00 บาท/หุ้น ลดลง 2.40 บาท/หุ้น แต่เพียงวันที่สอง (16 ก.ค.) ของการซื้อขายในราคาพาร์ใหม่ ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก จนราคาร่วงติด Floor ที่ 23.10 บาท ลดลง 9.90 บาท หรือ 30% มูลค่าซื้อขายกว่า 2,589 ล้านบาท

กระแสข่าวแรกที่อ้างถึงสาเหตุการเทขายหนักของหุ้น KTC มีการเปิดเผยออกมาว่า เป็นผลมาจากการทำชอร์ตเซล โดยยืมหุ้นมาขาย หรือ SBL และผ่านบล็อกเทรดหลายโบรกเกอร์ตั้งแต่ช่วงเช้า และทำการขายออกตลอดวัน จนกระทั่งราคาร่วงติด Floor สอดคล้องต่อรายงานหุ้นถูกชอร์ตเซล ประจำวันที่ 16 ก.ค.61 โดย KTC ถูกขายชอร์ต 5,888,700 หุ้น มูลค่าการขาย 177.03 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการขายชอร์ตเทียบกับปริมาณการซื้อขายแบบ Auto Matching 6.26%

ขณะที่กระแสข่าวที่ 2 อ้างมูลเหตุว่าการเทขายหุ้น KTC ครั้งนี้ มาจากนักลงทุนรายใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเก็บช่วงก่อนแตกพาร์ สบจังหวะเทขายทำกำไรออกมาก่อน จากนั้นฉวยโอกาสเข้าเก็บหุ้นในราคาต่ำอีกครั้ง เท่ากับว่าได้กำไรสองต่อ

อีกกระแสข่าวหนึ่ง คือ การเทขายของบรรดากองทุนต่อ KTC ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยประเด็นหลักที่ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปมากมาจากเรื่องหลุดโผ MSCI ทั้งที่ความสามารถในการทำกำไรยังคงยอดเยี่ยมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเด็นที่แน่ชัดถึงสาเหตุการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น KTC ที่เกินคาดหมายในครั้งนี้ มีแต่ที่รู้กันทั่วไปนั่นคือ ก่อนที่ราคาหุ้น KTC จะร่วงหนัก ตัวหุ้นมีความร้อนแรงเกินไปแล้วนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้แม้ผู้บริหารของบริษัทยังออกมามองว่าราคาหุ้นนั้นแพงเกินไป ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่นักลงทุนขาดความมั่นใจต่อตัวตลาดหุ้นที่ผันผวนขณะนี้ ทำให้ KTC กลายเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่ถูกเทขายออกมาเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

ขณะเดียวกัน ด้วยธุรกิจ KTC ที่ทำเรื่องบัตรเครดิต ควรซื้อขายกันระดับ P/E ไม่ควรเกิน 10 เท่า ในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน และหากอยู่ในภาวะปกติดีไม่ควรเกิน 15 เท่า แต่ช่วงไตรมาสแรกหุ้น KTC ซื้อขายโดย P/E อยู่ที่ระดับ 19.78 เท่า กล่าวได้ว่า ราคาหุ้น KTC เติบโตเหนือกว่าผู้ประกอบการในกลุ่มเดียวกันมาก ดังนั้น เมื่อการแตกพาร์ของหุ้นครั้งนี้ จึงเหมือนการจุดฉนวนระเบิดฟองสบู่ของราคาหุ้นให้กลับมาอยู่ในระดับที่ต่ำลง

%_เหมือนเช่นหุ้นบิ๊กแคปอย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.ปตท. (PTT) ที่เคยแตกพาร์ไปก่อนหน้านี้ แล้วพบว่า ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นแรงเพียงแค่วันแรกที่ใช้พาร์ใหม่ ก่อนเกิดแรงขายตามออกมาในช่วงวันถัดไป และต้องไม่ลืมว่าการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้ที่แตะขึ้นไปถึง 382 บาท/หุ้น จากระดับ 180 บาท/หุ้นในช่วงต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากแรงเก็งกำไรต่อหุ้นเพื่อเตรียมทำกำไร

เมื่อเป็นเช่นนั้น การลงทุนในหุ้น KTC ในช่วงต่อจากนี้ หลายฝ่ายมองว่า ควรมองเป้าหมายของราคาหุ้นที่จะสามารถรีบาวนด์กลับไปในระดับที่ไม่สูงมาก หรือเหมาะสมต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เช่นราคาเป้าหมาย 32.40 บาท/หุ้น ของโบรกเกอร์รายหนึ่งโดยให้มุมมองว่า กำไรในครึ่งปีแรกของบริษัทเพิ่มขึ้น 66% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และคิดเป็น 54% ของประมาณการกำไรทั้งปีที่ระดับ 4,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40% จากปี 2560 อีกทั้งมองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาแรงเกินไป และเกิดขึ้นก่อนประกาศผลประกอบการซึ่งยังคงความแข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสเข้าลงทุน

ต้องยอมรับว่า แม้ราคาหุ้น KTC ในช่วงที่ผ่านมาจะผันผวนมาก แต่หากพิจารณาในเรื่องปัจจัยพื้นฐานของบริษัทกลับมองว่า นี่คืออีกหนึ่งบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่มั่นคง และยังเหมาะต่อการสะสมไว้ในพอร์ตลงทุน เห็นได้จาก “มงคล ประกิตชัยวัฒนา” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งครอบครองหุ้น KTC อยู่จำนวนทั้งสิ้น 432.56 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท ) หรือถือหุ้นในสัดส่วน 16.78% ของทุนจดทะเบียน โดยไม่ได้ขาย KTC ออกแม้แต่หุ้นเดียว ตลอด 3 ปีเศษที่ผ่านมา นับตั้งแต่หุ้นตัวนี้ราคายังไม่ไต่ระดับขึ้นสู่เลข 3 หลัก แถมยังทยอยซื้อหุ้น KTC เพิ่มอีกด้วย โดยปลายปี 2559 ซื้อเพิ่มเล็กน้อย และเดือนธันวาคม 2560 ซื้อเพิ่มอีกกว่า 50 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท) หรือซื้อในสัดส่วน 2.15% ของทุนจดทะเบียน

ดังนั้น การปรับตัวลดลงอย่างหนักของราคาหุ้น KTC รอบนี้คนที่ถูกกระทบมากที่สุดคือ “มงคล ประกิตชัยวัฒนา” เพราะกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นหายไปเกือบ 7,000 ล้านบาท
 
สำหรับแนวโน้มผลดำเนินงานในปี 2561 ของ KTC ผู้บริหารมีความมั่นใจว่าจะดีกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ หลังจากผลกำไรช่วงครึ่งปีแรกออกมาดีมากกว่า 2,500 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มทั้งปี มีการเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ โดยช่วงครึ่งหลังการเติบโตของบัตรเครดิตยังมีอยู่ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เชื่อว่าจะไม่เกิน 1.27%

โดยผลประกอบการไตรมาส 2/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 519 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบช่วงไตรมาสก่อนหน้า ส่วนผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 996 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 65.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,519 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรมาจากรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมลดลงราว 4% โดยรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรบริษัทขยายตัว 7.6% มากกว่าจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโต 7.2% ขณะที่ยอดลูกหนี้รวมเท่ากับ 72,037 ล้านบาท ขยายตัว 7% จากงวดเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตรวม เพิ่มจาก 44,339 ล้านบาท เป็น 46,251 ล้านบาท และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม จาก 22,409 ล้านบาท เป็น 25,423 ล้านบาท

นอกจากนี้ ต้นทุนการเงินลดลง 3% รวมถึงบริษัทมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง ทั้งจากการตัดหนี้สูญและจากการตั้งสำรองลดลง 16% เนื่องจากใช้การคำนวณตามแนวทางของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (IFRS 9) ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

ท้ายสุดนี้หุ้น KTC จะกลับมาเป็นหุ้นที่มีศักยภาพและน่าลงทุนมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากจะปล่อยให้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว ยังจำเป็นต้องติดตามแรงไล่เก็บหุ้น และแรงไล่ราคาหุ้นของบรรดานักลงทุนรายใหญ่ในตลาดประกอบการพิจารณาด้วย เพราะหากมีการไล่ราคาจนหุ้นร้อนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา และยังปล่อยให้มีการเทขายทำกำไรแบบนี้ขึ้นอีก จนนำมาสู่ผลขาดทุนให้แก่นักลงทุน ย่อมสร้างความเสียหายและลดทอนความน่าเชื่อถือของตลาด เช่นเดียวกับโอกาสการกลับมาเป็นหุ้นทรงคุณค่าของ KTC ที่ต้องถูกบั่นทอนลงไปจากความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุน



กำลังโหลดความคิดเห็น